ไทยผลิตขยะทิ้งลงทะเล อยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก

ระหว่าง วันที่ 22-24 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร โดยมีผู้นำจากประเทศกลุ่มอาเซียน ประกอบด้วย ประเทศกัมพูชา บรูไนดารุสซาลาม เมียนมา มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย สปป.ลาว ฟิลิปปินส์ และไทย ปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งนี้ มีประเด็นสำคัญ ว่าด้วย ปฏิญญากรุงเทพฯ ในเรื่อง “การต้านขยะในทะเล” กลุ่มประเทศอาเซียนมีความเห็นร่วมกันว่า อาเซียน เป็นแหล่งผลิตขยะซึ่งส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกปล่อยลงทะเล คิดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา รายงานว่า ประเทศที่ผลิตขยะปล่อยทิ้งลงทะเลสูงสุดแล้วลดหลั่นลงไปตามลำดับ ดังนี้

จีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ศรีลังกา ไทย อียิปต์ มาเลเซีย และบังกลาเทศ ปริมาณ 8.82, 3.22, 1.88, 1.83, 1.59, 1.03, 0.97, 0.85 และ 0.79 ล้านตัน ต่อปี จากผลงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดียวกัน สรุปว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของขยะที่ไหลลงทะเลไปตามแม่น้ำลำคลอง เป็นที่หน้าสังเกตประการหนึ่งคือ แม้ว่า บังกลาเทศ จะมีประชากรหนาแน่นมากก็ตาม แต่กลับผลิตขยะปล่อยลงทะเลในปริมาณต่ำกว่าประเทศอื่นๆ รวมถึงอินเดียอีกด้วย ซึ่งพออนุมานได้ว่า ทั้งสองประเทศใช้วัสดุบรรจุหีบห่อด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ใบตอง และใบไม้อื่นๆ หรืออาจมีการเก็บขยะพลาสติกไปรีไซเคิลในปริมาณมากก็เป็นไปได้

ทั้งนี้ เป้าหมายของปฏิญญากรุงเทพฯ ว่าด้วย ต้านขยะในทะเล กลุ่มประเทศอาเซียนจะลดขยะในทะเลลง 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี พ.ศ. 2570

ผมเขียนเล่าถึงปัญหาขยะในแม่น้ำเจ้าพระยามาแล้วครั้งหนึ่ง โดยอ้างถึงกรุงเทพฯ ผลิตขยะขึ้น 9,900 ตัน ต่อวัน ฉะนั้น ถ้าคิดในรอบหนึ่งปี รวมน้ำหนัก 3.6 ล้านตัน ทั้งนี้ในแต่ละปีประเทศไทยทิ้งขยะลงทะเลในปริมาณ 1.03 ล้านตัน ตัวเลขที่ไม่คิดรวมจากแม่น้ำสายอื่น จะเห็นว่าปริมาณขยะหลุดรอดไหลลงทะเล คำนวณได้ประมาณ 28 เปอร์เซ็นต์ ของขยะทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ

เป็นที่น่าดีใจที่มีการขยับตัวของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่หันมาให้ความสนใจเรื่องขยะในแม่น้ำเจ้าพระยากันแล้ว โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ในโครงการกำจัดขยะลอยน้ำด้วยทุ่นตักขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณที่ไหลผ่านตำบลบางน้ำผึ้ง จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมเจ้าท่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และองค์การบริหารส่วนตำบลบางน้ำผึ้ง จึงนับเป็นนิมิตหมายที่ดี

แต่ขอแนะนำเพิ่มเติมว่า หากต้องการให้โครงการสัมฤทธิผล จำเป็นต้องหาแนวร่วมในทุกมิติ และขอให้ทำงานกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง อย่าทำประเภทผักชีโรยหน้าก็แล้วกัน และผมจะตามไปดู