กรมส่งเสริมการเกษตร แนะชาวสวนผลไม้ให้ดูแลผลผลิตช่วงสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า แม้ระยะนี้จะเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแต่ได้เกิดสถานการณ์ฝนทิ้งช่วงมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 ในหลายพื้นที่ของประเทศ ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมีเพียง ร้อยละ 49 และน้ำมีไม่เพียงพอสำหรับทำการเกษตร ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรของเกษตรกรเป็นจำนวนมาก กรมส่งเสริมการเกษตรจึงขอให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อนจัดและมีฝนตกฉับพลันจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของต้นไม้ผลเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม้ผลช่วงนี้ผลผลิตอยู่ในระยะเกิดตาดอก เป็นช่วงสำคัญที่จะพัฒนาเป็นช่อดอกในเวลาถัดมาอีกประมาณ 15-20 วัน แต่หากระยะนี้มีฝนตกลงมากะทันหัน จะทำให้ต้นไม้ผลมีการปรับตัวเปลี่ยนแปลงจากการเกิดตาดอกไปเป็นแทงใบอ่อนแทน

ดังนั้น เกษตรกรจึงจำเป็นต้องพยายามปรับตัวในหลายมิติ ได้แก่ 1. กรณีลงทุนทำสวนใหม่ ควรวางแผนการผลิตพืชให้เจริญเติบโตภายใต้สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง มีแหล่งน้ำสำรองกรณีกระทบแล้งควรมี wind break รองรับป้องกันลมพายุ มีทางระบายน้ำที่รวดเร็วกรณีฝนตกหนักน้ำท่วมฉับพลัน 2. เรียนรู้ปฏิทินรอบการผลิตพืชตลอดทั้งปีว่าต้องดูแลรักษาอย่างไร ตั้งแต่เริ่มตัดแต่งกิ่ง เตรียมต้นให้พร้อมหลังการเก็บเกี่ยว ถ้าแต่งกิ่งแล้ว ใบอ่อนออกไม่พร้อมกัน โอกาสที่จะเกิดดอกพร้อมกันก็ยากเช่นกัน อีกทั้งการดูแลช่วงเวลาที่วิกฤตเสี่ยงต่อการจะเกิดตาใบแทนตาดอก ต้องมีการบำรุงต้นโดยใช้ ปุ๋ยฟอสฟอรัสสูง เช่น สูตร 0-52-34 ในช่วงฝนตกชุก ก็เป็นวิธีช่วยยับยั้งการแตกใบอ่อนได้ดีมาก แต่ไม่ควรพ่นติดต่อกันเกิน 3 ครั้ง เพราะจะทำให้ตายอดของพืชแห้งและบอดได้ ซึ่งจะดึงให้เป็นช่อดอกได้ยาก ข้อควรระวัง ช่วงนี้อาจมีลมกระโชกแรงและฝนตกหนักเกิดขึ้น บางครั้งยังมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุฟ้าคะนองนี้เป็นพายุที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้นมีน้อยครั้งที่เกิดขึ้นนานกว่า 2 ชั่วโมง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสวนไม้ผล นั่นคือ ผลไม้ที่อยู่ในระยะพัฒนาจากผลอ่อนใกล้จะเป็นผลแก่ พร้อมที่จะเก็บเกี่ยวมีอันต้องเสียหายไป นอกจากนี้ บางช่วงอากาศจะแห้งมากเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัยและไฟป่าได้ จึงขอให้ระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในการทำกิจกรรมต่างๆ ในระยะนี้ไว้ด้วย

สำหรับการปรับตัวของเกษตรกรเพื่อบริหารจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพดี (กรณีตัวอย่างมังคุด) ปีนี้ผลผลิตมังคุดมีแนวโน้มการผลิตสูงขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว ตลาดมังคุดเปิดกว้างมากขึ้น เกษตรกรน่าจะขายได้ราคาดีแต่จากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยส่งผลต่อคุณภาพของผลมังคุดและผลไม้ชนิดอื่น ซึ่งเกษตรกรควรเตรียมการดังนี้ 1. วางแผนการผลิตและการดูแลรักษาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ 2. ตัดแต่งกิ่งที่แน่นทึบหรือกิ่งที่ไม่ให้ผลผลิตออก เพื่อให้ทรงพุ่มโปร่ง ไม่ต้านลม ทยอยเก็บผลผลิต เพื่อลดความเสียหาย 3. คัดแยกผลที่ไม่สมบูรณ์ตกเกรด รูปทรงไม่ปกติหรือมีขนาดเล็ก เพื่อลดน้ำหนักบนกิ่งและต้นลง 4. ติดตามข่าวพยากรณ์อากาศอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อจะได้วางแผนป้องกันปัญหาได้ทันท่วงที 5. คาดคะเนช่วงเวลาที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดล่วงหน้า พร้อมทั้งหาตลาดล่วงหน้ารองรับ มีการซื้อขายผลผลิตในรูปแบบบกลุ่ม ทำให้มีอำนาจต่อรอง 6. มี packaging ที่เหมาะสมสื่อกับตลาดได้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศนับจากนี้ยังค่อนข้างแปรปรวน นอกจากปัญหาลมพายุและพายุฤดูร้อนแล้ว สวนไม้ผลยังมีความเสี่ยงกับปัญหาภัยแล้งจากฝนทิ้งช่วง ซึ่งมักเกิดประมาณกลางเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม อาจทำให้ผลไม้ด้อยคุณภาพจนถึงต้นแห้งตายได้ ดังนั้น ชาวสวนไม้ผลต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าวด้วย หากสังเกตเห็นต้นไม้ผลใบเหี่ยวเฉา ควรให้น้ำอย่างน้อย 7-10 วัน ต่อครั้ง หรือให้น้ำปริมาณเพียงพอกับความต้องการของพืช เพื่อช่วยให้ไม้ผลผ่านช่วงแล้งไปได้ซึ่งผลผลิตจะไม่ร่วงและผลสามารถพัฒนาคุณภาพได้อย่างสมบูรณ์ด้วย

 

Advertisement