เคล็ดลับปลูกปาล์มให้ผลผลิตดก 8-8.7 ตัน ต่อไร่ สายพันธุ์และการใส่ปุ๋ยสำคัญ น้ำก็อย่าให้ขาด

อาจารย์พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก ข้าราชการวัยเกษียณ มีบ้านพักอาศัยอยู่ริมถนนหนองน้ำส้ม ตำบลท่าฉาง อำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล่าว่า ก่อนที่จะมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว ตนเองทำงานรับราชการสายการศึกษามาก่อน เกษียณจากข้าราชการเมื่อปี 2559 ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศฯ ของสำนักงานอุดมศึกษาสุราษฎร์ธานีเขต 1 โดยเริ่มวางแผนปลูกปาล์มน้ำมันตั้งแต่ปี 2548 ก่อนออกจากงานข้าราชการ เพราะคิดว่าปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ปลูกดูแลไม่ยุ่งยาก โรคแมลงน้อย สามารถทิ้งไว้ได้ครั้งละหลายวัน ได้ผลผลิตไว 3 ปี ตัดขายได้ ซึ่งเหมาะกับสายงานเราในตอนนั้นเพราะตนเองยังต้องรับราชการต่ออีก 12 ปี

อาจารย์พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก

“ตอนนั้นความรู้การปลูกปาล์มน้ำมันเท่ากับศูนย์ แต่ก็พยายามเรียนรู้อยู่ตลอด ปลูกไปด้วยลองผิดลองถูกไปด้วยรวมระยะเวลากว่า 5 ปี ช่วง 5 ปีแรกปาล์มของผมยังไม่สมบูรณ์ เป็นเพราะไม่มีความรู้เรื่องปุ๋ยเรื่องดิน และการรักษา แต่อย่างน้อย 5 ปีที่ทำมาก็ทำให้รู้ว่ามีอะไรบ้างที่ยังไม่รู้ จุดนี้ทำให้เราศึกษาเพิ่มขึ้น ล่องรอยของความไม่รู้คือ ปาล์มในช่วง 5 ปีแรก คอจะลีบ เพราะดูแลไม่เป็นขาดความรู้เรื่องปุ๋ย เมื่อรู้ถึงปัญหาจึงแก้ไขอยู่ตลอด ช่วงนั้นราคาปาล์มขายได้สูงสุดกิโลกรัมละ 12 บาท ราคาเฉลี่ยประมาณ 6-12 บาท ผมขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 8-9 บาท เริ่มเห็นกำไรจึงคิดว่าน่าจะทำต่อจึงไปหาแปลงปลูกเพิ่ม นำเอาประสบการณ์จากแปลงแรกไปทำ จากแปลงแรกปลูกสายพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 ผลผลิตไม่ดกเท่าที่ควร จึงคิดเปลี่ยนสายพันธุ์อื่น” อาจารย์บอก

ขยายแปลงปลูก เปลี่ยนสายพันธุ์
รู้จุดด้อยจุดเด่น ผลผลิตเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว

ปัจจุบันอาจารย์พรพันธุ์ศักดิ์ ปลูกปาล์มน้ำมันทั้งหมด 45 ไร่ แบ่งปลูกสายพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 จำนวน 23 ไร่ พันธุ์เดลิ คอมแพค 11 ไร่ และพันธุ์คอมแพค ทอร์นาโด 11 ไร่

อาจารย์เล่าว่า จากที่แปลงแรกปลูกสายพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 ผลผลิตไม่ดกเท่าที่ควรจึงเริ่มคิดที่จะเปลี่ยนสายพันธุ์ที่ปลูกแล้วให้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 5 ตัน ต่อไร่ พยายามสืบหาข้อมูลจนไปเจอสายพันธุ์เดลิ คอมแพค ที่มีความแตกต่างจากสายพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 คือ เดลิ คอมแพค ให้ผลผลิตที่ดกกว่า จากระยะที่เคยปลูก 18 ต้น ต่อไร่ ได้ผลผลิต 3 ตัน เปลี่ยนเป็นระยะ 8x8x8 ปลูกได้ 28 ต้น ผลผลิตเพิ่มเป็น 5 ตัน ต่อไร่ ก็ยังไม่พอใจ คิดว่าน่าจะมีสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตได้ดกกว่านี้อีก จนมาถึงปี 2554 ได้ซื้อที่ขยายพื้นที่ปลูกอีก พยายามหาสายพันธุ์ที่ปลูกแล้วได้ผลผลิตมากกว่า 5 ตัน ต่อไร่ ก็ไปเจอสายพันธุ์คอมแพค ทอร์นาโด ปลูกได้ 32 ต้น ต่อไร่ ผลผลิตเพิ่มมาอีก 2 ตัน จาก 5 เป็น 7 ตัน  แต่ต้นพันธุ์ค่อนข้างมีราคาแพง เป็นสายพันธุ์ที่สั่งมาจากประเทศคอสตาริกา ต้นละ 450 บาท ต้องสั่งจองข้ามปี ในขณะที่สายพันธุ์ที่เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้ปลูกคือ สุราษฎร์ธานี 1, 2 เป็นพันธุ์ที่หาง่ายและราคาถูก ผลลัพท์ที่ได้จึงต่างกัน การปลูกปาล์มน้ำมันเรื่องสายพันธุ์ถือเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่ง ถ้าเลือกพันธุ์ผิดก็ผิดยาวเพราะพันธุ์มันเอื้อต่อการให้ผลผลิต

ผลผลิตดก เมล็ดใหญ่ น้ำหนักดี มีคุณภาพ

คอมแพค ทอร์นาโด เป็นสายพันธุ์แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อไม่ได้ ปลูกด้วยเมล็ด ต้นแม่อายุ 9 ปี ของตนเองปลูก 20 เดือนให้ผลผลิตแล้ว คือให้ผลผลิตไวและดก แพงไม่ว่าแต่คุ้มค่า และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นานกว่า 35 ปี ซึ่งพันธุ์อื่นเก็บได้ถึง 25-30 ปี

คุณภาพของสายพันธุ์คอมแพค ทอร์นาโด น้ำหนักจะดี ไม่ได้ชั่งโดยตรง แต่ผู้ที่มารับตัดปาล์มเขาจะบอกว่าทะลายเท่ากันแต่น้ำหนักมากกว่า ใส่เต็มรถหนักกว่าพันธุ์อื่นเกือบตัน มีหนามน้อย น้ำมันเยอะ ลูกใหญ่ ในตอนนี้ยังไม่ค่อยมีคนปลูกเพราะไม่สามารถนำพันธุ์เข้ามาได้ สวนนี้นับเป็นที่แรกๆ ของจังหวัดสุราษฎร์ธานีที่ปลูกพันธุ์นี้

ใช้ทางใบปูกำจัดวัชพืชรักษาความชื้นในต้น

เคล็ดลับปลูกปาล์มให้ผลผลิตดก 8-8.7 ตัน ต่อไร่
สายพันธุ์และการใส่ปุ๋ยสำคัญ น้ำก็อย่าให้ขาด

เจ้าของบอกว่า ตั้งแต่ต้นเล็กๆ จะไม่ใส่ปุ๋ยคอก แต่จะใช้ทางใบสับแล้วคุมรอบโคนแล้วนำทางใบมาปูพื้นที่โดยรอบอีกครั้ง

การปลูกปาล์มน้ำมันต้องรู้จักนิสัยและธรรมชาติของต้นปาล์ม อาจารย์ใช้เวลากว่า 10 ปี ถึงจะรู้จักนิสัยและการเอาใจใส่ที่แท้จริง ปาล์มเป็นพืชที่ขาดน้ำ ขาดปุ๋ยไม่ได้ และอีกปัจจัยสำคัญคือสายพันธุ์ที่ปลูกก็ต้องดีเช่นกัน

การให้น้ำ ที่สวนจะมีน้ำทั้งหมด 3 ระบบ โดยเฉลี่ยแต่ละวันต้องให้น้ำไม่ต่ำกว่าวันละ 200 ลิตร ต่อต้น

ระบบที่ 1 ระบบธรรมชาติ ให้น้ำฝนเลี้ยง

ระบบที่ 2 น้ำจากคลองชลประธาน ขุดร่องรอบสวน

ร่องน้ำภายในสวน

ระบบที่ 3 ระบบน้ำพุ่ง จะเปิดให้ตอนที่น้ำในร่องสวนลดลงต่ำกว่า 50 เซนติเมตร วัดจากพื้นดิน เพราะปาล์มมีรากผิวดินดูดน้ำได้ลึกไม่เกิน 50 เซนติเมตร เพราะฉะนั้น ถ้าระดับน้ำต่ำกว่านี้เราจำเป็นต้องเปิดระบบน้ำพุ่งช่วย

ระบบน้ำพุ่ง

การใส่ปุ๋ย ใส่ปุ๋ยตามหลัก 4Rs Principles of Nutrient Stewardship คือ 4.1 Right soure = ถูกสูตร ธาตุหลักครบ N+P+K+OM 4.2 Right Rate = ถูกอัตรา (ตามตารางปุ๋ย+ผลผลิตที่ออก) 4.3 Right Time = ถูกเวลา 4.4 Right Place = ถูกพื้นที่

ที่ต้องยึดหลัก 4Rs เพราะความเหมาะสมของต้นปาล์มไม่เหมือนกัน ใส่ให้ถูกสูตร ถูกเวลา เพราะปุ๋ยบางอย่างใส่ซ้ำหรือใส่พร้อมกันไม่ได้ เช่น N กับ K ใส่พร้อมกันไม่ได้ N จะไปตรึง K ผลผลิตทะลายจะเล็ก ต้องแยกกันใส่และใส่ให้ถูกพื้นที่ เป็นกรดหรือด่าง

การให้ปุ๋ยต้องสม่ำเสมอและต่อเนื่อง แบ่งใส่ทุกเดือน เกษตรกรส่วนใหญ่จะใส่ปุ๋ยปีละ 2 ครั้ง 6 เดือนแรกหว่านไป 2 กิโลกรัม 6 เดือนหลัง หว่านไปอีก 2 กิโลกรัม ซึ่งผลลัพธ์เป็นอย่างไรไม่รู้ รู้แต่ว่าได้ใส่ ทางที่ดีต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพการกินปุ๋ยด้วย แยกใส่เป็นไลน์ธาตุ เพราะปาล์มแต่ละต้นสภาพไม่เหมือนกัน ควรวางแผนการใส่ปุ๋ยตั้งแต่ตอนแรกที่ปลูก จะใส่กลางคันไม่ได้ ควรรู้ตั้งแต่เดือนแรกที่ปลูกว่าจะใส่ปุ๋ยเท่าไร สูตรจะปรับไปตามสภาพ ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว

“ให้ดูผมเป็นแนวทาง และนำไปปรับให้ตรงกับพื้นที่ของตัวเอง เพราะการปลูกหรือการใส่ปุ๋ยต้องขึ้นอยู่ที่พื้นดินด้วย เพราะสภาพพื้นที่แต่ละที่ไม่เหมือนกัน ทางที่ดีก่อนจะเริ่มปลูกเกษตรกรควรนำดินไปวิเคราะห์แร่ธาตุก่อน ว่าดินพื้นที่ขาดหรือเกิน ควรเพิ่มหรือลดอะไร ที่สวนผมให้ปุ๋ยปีละ 3 ครั้ง 4 เดือนใส่ 1 ครั้ง ใน 4 เดือนจะเฉลี่ยใส่ทุกเดือน เริ่มเดือนมกราคม-เมษายน เป็นครั้งที่ 1 ผมจะให้แม่ปุ๋ย ไนโตรเจนจากปุ๋ยสูตร 21-0-0 ใส่ 1 กิโลกรัม ยูเรีย 46-0-0 1 กิโลกรัม ให้ตัวนี้เพราะต้องการลดกรดในดินแล้ว ให้ฟอสฟอรัส 0-3-0 2 กิโลกรัม ต่อ 1 ครั้ง แล้วให้ 0-0-60 คือโพแทสเซียม 2 กิโลกรัม แมกนีเซียมเพื่อสร้างคลอโรฟิลล์ ครึ่งกิโลกรัม ให้โบรอน 200 กรัม แล้วโดโลไมท์ 3 กิโลกรัม เพื่อสร้างแคลเซียม รวมแล้วใส่ปุ๋ยหลักประมาณ 6.7 กิโลกรัม โดโลไมท์ 3 กิโลกรัมไม่นับรวม สรุป 1 ปี เฉลี่ยปุ๋ยทุกตัวใส่ต้นละ 15-18 กิโลกรัม ต่อปี” อาจารย์อธิบาย

สภาพแปลงปลูกเป็นระเบียบ ดูแลจัดการง่าย

อาจารย์บอกว่า ควรใส่ปุ๋ยให้ตรงตามค่าวิเคราะห์ดิน ใส่แบบไม่ผสม จะช่วยประหยัดต้นทุนไปได้อีกเท่าตัว ของอาจารย์ ทั้งหมดเฉลี่ยปุ๋ยกระสอบละประมาณ 415 บาท แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยแพงราคากระสอบละ 900-1,000 บาท สูตรนี้เราต้องรู้ว่าความต้องการของปาล์มแต่ละต้นเขาต้องการอะไรเท่าไร แล้วเรามาแบ่งใส่แบบนี้ ใส่ไปแล้วได้ธาตุเท่าไร ถือว่าต้องละเอียดมากๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องคำนึงถึงผลผลิตปาล์มที่เราตัดไปแล้วด้วย ถ้าตัดออกมากต้องใส่เพิ่มมากกว่าเดิม เพิ่มความสมดุลให้ต้นเพราะต้นสูญเสียไปเยอะ ผลผลิตที่นี่ถือว่าได้เยอะที่สุดในประเทศไทย สูงกว่าที่อินโดนีเซียและมาเลเซีย

 

วิเคราะห์ดิน ใส่ปุ๋ยตามที่พืชต้องการ
ประหยัดต้นทุน เพิ่มผลผลิต

เกษตรกรหลายท่านอาจจะคิดว่า 1 ปี ใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง แล้วจะเหลืออะไร ราคาปาล์มก็ตกเอาตกเอา ถ้าลองคิดดูดีๆ คุ้มมากๆ เพราะเราใส่ตามความต้องการของพืชใส่ไปแล้วเห็นผล พืชสามารถดูดกินได้ 100% ต่างจากใส่ปุ๋ยตามใจฉัน ใส่ไปบางครั้งพืชดูดธาตุอาหารได้ไม่ถึง 50% เพราะไม่ตรงต่อความต้องการเท่ากับสูญเปล่า ผลผลิตได้ไม่เท่าที่ควร สวนนี้ใส่ปีละ 3 ครั้ง พืชได้ดูดธาตุอาหารเต็มๆ ทุกครั้งจึงส่งผลให้ผลผลิตเพิ่มได้มากถึง 8-8.7 ตัน ต่อไร่

การให้ผลผลิตของปาล์มจะออกตามจำนวนทางใบ ออกเดือนละ 2 ทางใบ ปีละประมาณ 20-24 ทางใบ เพราะฉะนั้น จะได้ประมาณ 20-24 ทะลาย ต่อต้น ต่อปี ค่าปุ๋ยเฉลี่ย 150 บาท ต่อต้น ต่อปี คิดเป็นกิโลกรัมละ 9.8 บาท แต่ปุ๋ยตามท้องตลาดเฉลี่ยกิโลกรัมละ 18-20 บาท

1 ปี ตัดปาล์มขายได้ 18 ครั้ง คืนทุนตั้งแต่ครั้งแรก รายได้ต่อครั้งขึ้นอยู่กับราคา ครั้งล่าสุดได้ 50,000 กว่าบาท แต่ปีก่อนหน้านี้ได้ 150,000 บาท ต่อครั้ง เพราะปีนี้ราคาแย่มาก ผลผลิตปีนี้ไม่ได้ตามเป้า ปีที่แล้วได้ 8.04 ตัน ต่อไร่ น้ำหนักต่อต้น 260.87 กิโลกรัม ต้นทุนปีที่แล้ว 8,447 บาท ต่อไร่ กำไร 26,000 บาท เปรียบเทียบกับบางสวนมีรายได้ไม่ถึงหมื่น แต่ปีนี้อาจจะเหลือกำไรน้อยหน่อยเพราะราคาตกมาก แต่ก็ยังเห็นกำไร อยู่ได้เพราะเรามีปริมาณผลผลิตปาล์มเยอะ พื้นที่ปลูกเท่ากัน ชาวบ้านได้ 3-5 ตัน ต่อไร่ อาจารย์ได้ 7-8 ตัน ต่อไร่ ผลผลิตเยอะกว่า เงินก็เยอะกว่า แต่ชาวบ้านที่มีปัญหามากเพราะเขาได้ผลผลิตน้อย แล้วบริหารเงินไม่เป็น สมมุติได้เงินมา 10,000 บาท ต้องเก็บเป็นค่าปุ๋ยเท่าไร เขาไม่จดบันทึก ที่ถูกต้องคือต้องจดบันทึกและแยกซื้อปุ๋ยไว้เป็นครั้ง ผมจะซื้อปุ๋ยมาเก็บไว้สำหรับใส่ 4 เดือนแรก พอหมดแล้วซื้อมาตุนไว้อีก 4 เดือน ทำแบบนี้จะเห็นทุนเห็นกำไรชัดเจน

แนะทางรอดเกษตรกรชาวสวนปาล์มอยู่ให้ได้ในสถานการณ์ย่ำแย่

ต้องบอกว่าสถานการณ์ราคาปาล์มในปัจจุบันอยู่ยากจริงๆ ปาล์มถือเป็นพืชอาหารและพลังงานที่สำคัญ ประเทศไทยผลิตปาล์มน้ำมันมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ราคาก่อนหน้านี้ถืออยู่ในเกณฑ์ที่ดี เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5 บาท เกษตรกรอยู่ได้สบาย รายได้มากกว่าเงินเดือนข้าราชการอยู่มาก แต่ถ้ามาถึงตอนนี้ไม่รู้อะไรมากกว่าน้อยกว่าแล้ว ทางรอดของเกษตรกรชาวสวนปาล์มสิ่งที่ต้องทำคือ

  1. ต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้ได้ แต่ปุ๋ยก็ยังต้องใส่อยู่ ต้องแบ่งเงินจากรายได้มาซื้อปุ๋ยให้ได้ เพราะปาล์มเป็นพืชที่ขาดปุ๋ยไม่ได้ การลดใส่ปุ๋ยในช่วงที่ผลผลิตราคาต่ำ มันส่งผลไปถึงผลผลิตปาล์มในอีก 2 ปีข้างหน้า ถ้าไม่ใส่ปุ๋ยแล้วในอีก 2 ปีราคาปาล์มดีขึ้นเราจะไม่มีปาล์มขาย ตอนนี้เกษตรกรหยุดใส่ปุ๋ยกันเยอะถือว่าคิดผิด ทางรอดต้องรักษาผลผลิตไว้ให้ได้ ใช้จ่ายอย่าฟุ่มเฟือย พยายามหาปลูกพืชเสริมในสวนยางให้ได้ อย่างน้อยหาผักสวนครัวมาปลูกอาจช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มื้อละหลายสิบบาท
  2. ให้เอาปริมาณเป็นที่ตั้ง วัดกันที่ความดก ใครดกกว่าก็อยู่ได้ คิดง่ายๆ ชาวบ้านทั่วไปได้ผลผลิต 3 ตัน ราคากิโลกรัมละ 2 บาท เป็นเงิน 6,000 บาท แต่ผลผลิตผมได้ 8 ตัน คิดเป็นเงิน 16,000 บาท แถมยังได้เพิ่มอีกกิโลกรัมละ 0.20 บาท เพราะคุณภาพปาล์มของอาจารย์ดี เท่ากับตอนนี้มีรายได้มากกว่าเขาประมาณหมื่นกว่าบาท เพราะฉะนั้น ต้องเอาปริมาณตั้งไว้ แล้วสู้อย่าถอย พยายามเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ชาวบ้านก็เคยทำตามผม แต่สักพักเขาก็เลิกทำ เขาขาดความอดทน เขาบอกยุ่งยาก ใส่ปุ๋ยทีละตัวบอกยาก ถนัดฉีกถุงแล้วหว่าน เขาจึงไม่รู้ว่าดินกรดด่างเท่าไร ขาดธาตุอะไร ผลผลิตจึงออกมาไม่ดีเท่าที่ควร และที่แย่ไปกว่านั้นเกษตรกรบางรายจ้างใส่ปุ๋ยกระสอบละ 50 บาท ตรงนี้ก็ถือเป็นต้นทุน ผมใส่เองถือได้ออกกำลังกายและได้รู้จักปาล์มตัวเองทุกต้น

สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือปรึกษาสูตรเทคนิคการใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน โทร. (086) 832-6397

อาจารย์พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก และภรรยา