เปิดโมเดล ชุมชนจัดการน้ำ รอดภัยแล้ง

สถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่ออกมาว่าเหลือน้ำติดก้นอ่างสามารถใช้การได้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ เหลือแค่ตัวเลขหลักหน่วยเท่านั้น บางเขื่อนหนักสุด ปริมาณเปอร์เซ็นต์ของน้ำที่สามารถใช้ได้ ถึงขั้นติดลบทีเดียว

ซึ่งแน่นอนต้นเหตุมาจาก ฝนไม่ตก ไม่มีน้ำไหลลงอ่าง เป็นเหตุให้ไม่สามารถปล่อยน้ำให้ประชาชน และเกษตรกรใช้ได้อย่างเต็มที่ หรือบางวันก็ไม่สามารถปล่อยน้ำได้เลย

และสถานการณ์ดินฟ้าอากาศประเทศไทยในเวลานี้ และนับจากนี้ไปอีก 1-2 เดือน ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และหลายๆ พื้นที่ของภาคกลางฝนแทบจะไม่ตกเลย โดย คำว่า ฝนไม่ตกเลยนั้น ครอบคลุมไปถึงบางพื้นที่ของภาคกลาง และภาคเหนือบางแห่ง ฝนไม่ตกมาตั้งแต่ต้นปี นั่นคือ แล้ง และขาดน้ำเข้าขั้นวิกฤต

แต่ในท่ามกลางสถานการณ์ของความแล้งรุนแรงในคราวนี้ มี 60 ชุมชน 1,548 หมู่บ้าน ที่ชาวบ้านก็ใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ภัยแล้งเช่นเดียวกัน แต่พวกเขากลับไม่ได้ขาดแคลนน้ำเหมือนพื้นที่อื่นๆ นั่นคือ ยังคงมีน้ำในแหล่งกักเก็บน้ำของหมู่บ้านใช้อย่างเหลือเฟือ

นายสุทัศน์ วีสกุล

นายสุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถานบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ตลอด 8 ปี ที่ผ่านมา สสน. ร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ได้สำรวจพื้นที่ทั่วประเทศ ที่มีประมาณ 7,000 ตำบล 20,000 หมู่บ้าน พบว่า ครึ่งหนึ่งของพื้นที่เหล่านี้เสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้ง จึงได้ตั้งเป้าเข้าไปอบรมให้ความรู้ โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุทกวิทยา โดยได้คัดเลือกพื้นที่ที่มีผู้นำชุมชนเข้มแข็ง ชาวบ้านในพื้นที่ร่วมกันทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยอบรมปีละประมาณ 500 ตำบล ปีนี้อบรมได้ครบ 4,000 ตำบล

“แม้ทุกพื้นที่จะไม่ประสบความสำเร็จ 100% แต่เป็นการเบิกทาง เบิกความรู้ ทำให้ทุกคนมั่นใจว่า การบริหารจัดการน้ำด้วยวิธีที่ถูกต้องนั้น จะไม่ทำให้เดือดร้อนเรื่องน้ำ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ภัยแล้งเท่านั้น แต่เรื่องของน้ำมาก เพราะฝนตกมากเกินไป ก็ยังสามารถจัดการกับน้ำที่เหลือเฟือเหล่านั้นได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทั้งชาวบ้านและผู้นำชุมชนผ่านการอบรมวิธีการบริหารจัดการน้ำมาแล้ว โดยปัจจุบันพบว่า ชุมชนเหล่านี้ จำนวน 64 ชุมชน ไม่มีปัญหา ทั้งเรื่องน้ำแล้ง และน้ำท่วมเลย จนกระทั่งวันนี้Ž” นายสุทัศน์ กล่าว

นายรอยล จิตรดอน เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าวว่า ปีนี้ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหา บางปีก็ฝนน้อยมาก บางปีก็จะมีฝนมากไปเลย ซึ่งส่งสัญญาณมาได้ 4-5 ปีแล้ว เนื่องจากสภาพอากาศโลกที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบแบบเต็มๆ วิธีทางแก้ตอนนี้คือ คนไทยเองต้องปรับตัวและหาทางแก้ปัญหาน้ำน้อย และน้ำในชุมชนไม่พอใช้ด้วย ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ชุมชนตำบลลิ่มทอง อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ก่อนหน้านี้จะมีปัญหาเรื่องภัยแล้ง แต่คนในชุมชนลุกขึ้นมาบริหารจัดการน้ำกันเอง บางคนขุดสระของตัวเอง มีการจัดการระบบชลประทานในชุมชน น้ำฝนที่ตกลงมาก็ไม่ได้ปล่อยให้หายไป หาทางนำน้ำกลับมาพักไว้ใช้ในหน้าแล้ง และตอนนี้ในชุมชนตำบลลิ่มทอง มีน้ำใช้อยู่ ร้อยละ 50

นายรอยล จิตรดอน

ชุมชนภูถ้ำ ภูกระแต ต.แวงน้อย อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ชุมชนแห่งนี้อยู่ต้นน้ำชีไม่มีแหล่งน้ำ ชุมชนใช้วิธีจัดการน้ำกันเอง ขุดสระ ทำระบบชลประทานในชุมชน แม้จะไม่มีฝนตกในตอนนี้ แต่ชาวบ้านที่นี่มีน้ำใช้ในช่วงที่เกิดภัยแล้งเกือบ ร้อยละ 50 ในอดีตเป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก และในปี 2562 นี้ ประสบปัญหาฝนน้อย มีปริมาณฝนสะสมตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน 350 มม. อีกทั้งเกิดฝนทิ้งช่วงตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน แต่กลับไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ยังคงมีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร จากแหล่งน้ำในพื้นที่ที่เป็นผลจากความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำชุมชนร่วมกับ สสน.และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยสถานการณ์ปัจจุบันในพื้นที่ มีปริมาณน้ำต้นทุนในหนองฝายบ้านสำหรับน้ำอุปโภคสำรอง 45% ประมาณ 56,000 ลูกบาศก์เมตร ใช้ได้ 2 ปี เนื่องจากการระเหยและซึมลงดินถึง 2 เท่า

พื้นที่ชุมชนป่าภูถ้ำประสบปัญหาความแห้งแล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี และเคยแล้งต่อเนื่องถึง 4 ปี แล้วมีฝนตกตามฤดูกาลต่อเนื่อง 2 ปี แล้วกลับมาแล้งต่อเนื่องอีก 4 ปี สลับกันเช่นนี้ พื้นที่ชุมชนมีลักษณะสูงต่ำเป็นลอนคลื่น การพัฒนาที่ผ่านมาส่วนใหญ่ เริ่มจากขุดคลองที่ลอนคลื่นต่ำหรือลำห้วยที่มีอยู่เดิม น้ำจึงไหลไปรวมที่ต่ำหมด การนำน้ำจากที่ต่ำขึ้นที่สูงเพื่อมาใช้ในการอุปโภคบริโภค และเพื่อการเกษตรจึงมีต้นทุนสูง

แต่ก็ยังเกิดความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำแล้ง น้ำหลาก บนพื้นที่สูงลอนคลื่นจนได้

การบริหารจัดการน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำโดยมีระบบการดักรวบ และต้อนน้ำไปสู่ทิศทางที่ต้องการ เติมเข้าสระในรูปแบบขั้นบันได หรือสระพวงที่ใช้แรงโน้มถ่วงเป็นสำคัญ เกิดการใช้น้ำซ้ำกว่า 5 ครั้ง เป็นการใช้น้ำที่มีต้นทุนต่ำหรือไม่ได้ใช้เลย

จากนั้นเกษตรกรได้ปรับวิถีการผลิตพืชเชิงเดี่ยวเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ที่มีการบริหารจัดการน้ำในระดับแปลง มีการจัดรูปที่ดินใหม่เพื่อให้เหมาะสมและง่ายต่อการจัดการน้ำในรูปแบบที่ใช้น้ำซ้ำในแปลง เป็นการประหยัดน้ำ ลดต้นทุน เกิดความคุ้มค่าและยั่งยืนด้วย

ปี พ.ศ.2553 หลังจากที่ชุมชนได้ร่วมเรียนรู้การบริหารจัดการน้ำชุมชนจาก สสน. และมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชุมชนจึงได้นำเทคโนโลยีและสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เช่น เครื่อง GPS แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม โปรแกรม QGIS ใช้สำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำ ทางน้ำธรรมชาติ และความต้องการใช้น้ำ ทำให้ทราบค่าระดับความสูงต่ำ นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ สามารถบริหารจัดการน้ำจากที่สูงลงต่ำ และมีการใช้น้ำซ้ำหลายรอบโดยไม่มีต้นทุนในการนำน้ำมาใช้ เกิดเป็นระบบบริหารจัดการน้ำแล้งบนพื้นที่สูงลอนคลื่น อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน เกิดการขยายผลด้านการบริหารจัดการน้ำชุมชนในพื้นที่ชุมชนเครือข่ายลุ่มน้ำชี 10 จังหวัด 60 ชุมชน 37 ตำบล 12 อำเภอ ครอบคลุมพื้นที่ 200,000 ไร่ และสามารถบรรเทาปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำชีได้ ประมาณ 200,000 ไร่ ต่อปี

นายรอยล กล่าวว่า นอกจากนี้ พื้นที่ใกล้ๆ กรุงเทพฯ ก็มี เช่น ชุมชนบึงชำอ้อ จ.ปทุมธานี ที่นี่ก็มีการจัดการน้ำในชุมชน ด้วยการขุดร่องสวน ปลูกไม้ผล  และไม้ที่ทนต่อน้ำท่วม เช่น ปาล์ม มะพร้าว และที่นี่เองมีเอกชนรายหนึ่ง นำวิธีการจัดการน้ำในชุมชนไปทำที่สวนของเขาราว 200 ไร่ และผลที่ออกมาคือ เขามีน้ำใช้โดยไม่ต้องรอน้ำจากระบบชลประทาน

“เราต้องรู้จักใช้วิกฤตครั้งนี้แก้ปัญหา โดยเน้นให้แต่ละชุมชนมีแหล่งน้ำสำรอง อย่ารอแต่ระบบชลประทานเพียงอย่างเดียว การบริหารน้ำในเขื่อนใหญ่ เดิมเป็นเกณฑ์กักและระบายน้ำตามเวลา แต่ควรเปลี่ยนเป็นเกณฑ์กักและระบายน้ำตามเวลาและฝน เช่น ดูเปรียบเทียบว่าปีที่แล้ว น้ำแล้ง แล้งมาก-น้อย หรือปานกลาง หรือปีที่แล้วน้ำท่วมแค่ไหน ท่วมมาก ท่วมน้อย ท่วมปานกลาง หรืออย่างไร เพราะสภาพแต่ละปีจะไม่เหมือนกัน

และสุดท้าย การบริหารน้ำในเขื่อนในลักษณะเป็นกลุ่ม ไม่ใช่เขื่อนใคร เขื่อนที่บริหารกันเอง ปีนี้ฝนเท่ากับปี 2558 แต่ต้องหาสาเหตุว่า ทำไมปีนี้ถึงได้แล้งมากกว่า

จึงอยากให้คนไทยร่วมกันแก้ปัญหาน้ำแล้งในครั้งนี้ไปก่อน และคิดวิธีแก้ปัญหาระยะยาวอาจจะใช้โมเดลจัดการบริหารนำชุมชน ที่สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) และมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ร่วมกันทำไว้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย เพราะในภาวะที่บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำ แต่ชุมชนที่มีการจัดการน้ำด้วยตัวเองกลับอยู่ได้” เลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ กล่าว

ที่มา : มติชนออนไลน์