กระท้อนอร่อย เนื้อนุ่ม ฟู ของแท้ ต้อง “กระท้อนคลองน้อย” เท่านั้น

อาจไม่ใช่ผลไม้ยอดฮิตติดอันดับเหมือนอย่างทุเรียน เงาะ ลำไย ส้มโอ แต่สำหรับ “กระท้อน” นับเป็นไม้ผลซุ่มเงียบที่สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเป็นอย่างดี

สุราษฎร์ธานี นอกจากจะมีชื่อเสียงในเรื่องของเงาะโรงเรียนนาสาร ที่หวาน กรอบ อร่อยแล้ว “กระท้อน” ของจังหวัดนี้ยังมีรสชาติอร่อย เนื้อฟู นุ่ม ที่สำคัญต้องเป็นกระท้อนที่ปลูกในพื้นที่ตำบลคลองน้อย ดังนั้น นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-สิงหาคม จึงเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านนำผลผลิตกระท้อนออกมาวางขายตามริมทาง และตลาดชุมชนทั่วไป

คุณพงศธร อนุจันทร์ หรือ คุณต้า บ้านเลขที่ 24/1 หมู่ที่ 8 ตำบลคลองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โทรศัพท์ 096-634-9225 เล่าว่า พันธุ์กระท้อนที่ปลูกคือ อีล่า และปุยฝ้าย คุณพ่อเป็นผู้ที่เริ่มปลูกกระท้อน โดยได้ต้นพันธุ์อีล่า มา 1 ต้น จากนั้นนำมาขยายพันธุ์ด้วยการติดตา โดยจะใช้เมล็ดกระท้อนพันธุ์พื้นเมืองปลูกไว้สักประมาณ 5 เดือน หรือต้นมีขนาดประมาณนิ้วหัวแม่มือ แล้วนำกิ่งพันธุ์  อีล่ามาติดตาเข้ากับต้นพันธุ์พื้นเมือง

“เหตุผลที่ทำเช่นนี้เพราะต้องการให้ต้นกระท้อนที่ปลูกมีรากแก้ว จะได้สมบูรณ์ แข็งแรง ทนทาน หากใช้กิ่งพันธุ์กระท้อนที่มีขายทั่วไปจะเป็นรากฝอยที่เสี่ยงต่อการล้มเสียหายง่ายเมื่อมีแรงลม ส่วนพันธุ์ปุยฝ้ายใช้วิธีขยายพันธุ์เช่นเดียวกัน”

คุณพงศธร อนุจันทร์ หรือ คุณต้า (ซ้าย) กับ คุณปอพิไล พิพิธ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรสุราษฎร์

กระท้อนคลองน้อย ปลูกแบบอินทรีย์

สวนกระท้อนคุณต้าปลูกพันธุ์อีล่า จำนวนกว่า 20 ต้น และปุยฝ้ายจำนวนประมาณ 6 ต้น อีล่ามีลักษณะผลโต เนื้อแน่น เนื้อในฟู รสหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย มีความต้านทานโรคดี ผลไม่แตกง่าย ส่วนปุยฝ้ายมีขนาดเล็กกว่าอีล่า มีจุดเด่นตรงเนื้อฟูมาก นิ่ม ข้อเสียคือผลแตกง่ายถ้าเจออากาศเปลี่ยนกะทันหัน ถึงแม้ปุยฝ้ายจะมีรสอร่อยกว่าอีล่า แต่เมื่อพบข้อเสียตรงผลแตกง่ายจึงไม่เป็นที่สนใจของเกษตรกรนัก แล้วจะปลูกในจำนวนที่น้อยกว่าอีล่า

การปลูกกระท้อนใช้เวลาไม่เกิน 3 ปี ก็จะได้ผลผลิต ตอนเริ่มปลูกจะใส่ปุ๋ยคอกเป็นมูลวัวที่เลี้ยงไว้ โดยจะทยอยใส่ตั้งแต่เริ่มปลูกจนประมาณ 1 ปี ปุ๋ยคอกใส่จำนวน 3 ครั้ง ต่อปี รวมทั้งปีประมาณ 3 กระสอบ ส่วนปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 แบ่งใส่ปีละ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 กิโลกรัม ครั้งแรกใส่ประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ส่วนอีกครั้งใส่ก่อนเข้าหน้าแล้ง หรือประมาณเดือนมีนาคม-เมษายน ขณะเดียวกันพื้นที่ภายในสวนต้องดูแลให้เป็นระเบียบ ตัดหญ้าและวัชพืช อย่าปล่อยให้รก เพื่อป้องกันศัตรูพืช เพราะไม่ใช้สารเคมี

เก็บผลกระท้อนที่ห่อจากต้นเพื่อเตรียมส่งขาย

เมื่อเข้าปีที่ 3 เริ่มมีผลผลิตรุ่นแรก ยังไม่ต้องเก็บขายทั้งหมด ควรเลือกเก็บเฉพาะผลสมบูรณ์เท่านั้น ส่วนผลอื่นๆ ให้เด็ดทิ้ง เพราะต้องการบำรุงต้นให้สมบูรณ์ แข็งแรง ต่อไปอีก

กระท้อนออกดอกประมาณเดือนเมษายน ในช่วงนี้ต้องให้น้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ดอกมีความสมบูรณ์ติดผลดี พอเข้าเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม สามารถเก็บผลผลิตขายได้ ทั้งนี้ การเก็บผลผลิตใช้วิธีสังเกตจากผลจะต้องเป็นสีเหลืองทองทั้งหมด อีกทั้งก้นผลข้างใต้จะเรียบเสมอไม่มีร่องแล้วเป็นสีเหลือง แสดงว่าสามารถตัดเก็บได้แล้ว

ปัญหาโรค/แมลง

ความที่เกษตรกรทุกรายใส่ใจกับการปลูกโดยไม่ใช้เคมีทำให้ลูกค้ามีความสนใจและมั่นใจในความปลอดภัยขณะเดียวกันแนวทางนี้กลับไม่สร้างปัญหาโรค/แมลงเข้ามารบกวน เนื่องจากผู้ปลูกทุกรายดูแลบริหารจัดการสวนตัวเองอย่างเต็มที่ ใส่ปุ๋ยตามความเหมาะสม ไม่มีวัชพืช ดูแลการห่อผลอย่างมีคุณภาพ แล้วตัดแต่งกิ่งช่วยให้แสงผ่านไม่สะสมโรค

อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่กลับเป็นเรื่องแรงงานที่หายากและค่าแรงสูง โดยเฉพาะช่วงห่อผลที่มีความจำเป็นต้องจ้างแรงงาน ดังนั้นแนวทางคือการใช้อุปกรณ์ที่คิดค้นจากวัสดุง่ายๆ ใกล้ตัวราคาถูก ซึ่งเมื่อนำมาใช้ก็ได้ผลและบรรเทาปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

การเจาะของศัตรูพืชทำให้เสียหายหากไม่ได้ห่อผล

กระท้อนห่อ สร้างมูลค่าเพิ่มราคา

การห่อเป็นการช่วยป้องกันแมลงมาเจาะผล อีกทั้งยังช่วยให้ผิวของผลสวยไม่มีตำหนิ ขายได้ราคาดี ทั้งนี้ การห่อผลจะเริ่มประมาณเดือนมิถุนายน เป็นช่วงที่ผลมีขนาดประมาณกำมือ แล้วต้องห่อผลที่มีสีเขียวเข้มเท่านั้น หากห่อผลที่มีสีเขียวอ่อนแมลงวันทองจะเข้ามาเจาะผลเสียหาย เนื่องจากที่สวนไม่ได้ใช้สารเคมีเลย

คุณต้า บอกว่า ก่อนห่อผลจะต้องตัดแต่งผล หมายถึงการใช้ดุลพินิจเลือกผลกระท้อนที่มีความสมบูรณ์เก็บไว้ แต่หากมีมากกว่า 1 ผล จะต้องดูว่าผลเบียดกันมากเกินไปหรือไม่ และผลมีความสมบูรณ์เพียงพอต่อการเก็บไว้หรือไม่ หากมีลักษณะดังกล่าวก็จะต้องตัดทิ้ง เพื่อรักษาผลที่เหลือให้มีความสมบูรณ์ต่อไป

กระท้อนอีล่า

“ในกรณีที่มีผลใหญ่และผลเล็กต้องแยกห่อโดยใช้สีถุงห่อต่างกัน โดยผลขนาดใหญ่ใช้ถุงห่อสีขาว ส่วนผลขนาดเล็กลงมาใช้ถุงห่อสีดำ เนื่องจากจะต้องเก็บผลที่ห่อถุงสีขาวให้หมดทั้งสวนก่อนแล้วจึงค่อยมาเก็บผลที่ห่อด้วยถุงสีดำภายหลังตามเวลาที่เหมาะสม แนวทางนี้เพื่อสะดวกต่อการจดจำแล้วเก็บไม่ผิดพลาด”

ราวกลางเดือนกรกฎาคม เป็นช่วงผลผลิตกระท้อนเริ่มตัดเก็บขายได้ คุณต้า เผยว่า ให้สังเกตถุงห่อที่เปิดด้านล่างไว้ ถ้าพบว่าผลกระท้อนมีสีเหลืองทองเสมอทั้งหมดแล้วก้นผลเรียบเสมอกันแสดงว่าเก็บได้ ขณะเดียวกันถ้าต้นโตสมบูรณ์เต็มที่จะให้ผลผลิตประมาณ 1,000 ลูก ต่อต้น หรือประมาณ 1 ตัน โดยเก็บใส่ตะกร้า จำนวน 50 ใบ ใบละ 20 กิโลกรัม วิธีเก็บจะอยู่บนต้น 1 คน ด้านล่าง 1 คน ใช้อุปกรณ์ตัดผลแล้วปล่อยลงมาให้คนด้านล่างรับโดยอย่าให้ผลกระทบกับสิ่งใด มิเช่นนั้นจะเสียหายขายไม่ได้

เมื่อเก็บผลผลิตเสร็จ จะพักต้นด้วยการตัดแต่งกิ่งที่เกะกะออกเพื่อให้แสงผ่านสะดวก พร้อมกับใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 เพื่อบำรุงและฟื้นฟูต้น จากนั้นจึงใส่ปุ๋ยคอกตาม หากต้นใหญ่ใส่จำนวน 3 กิโลกรัม ต่อต้น ต้นเล็กใส่ 1 กิโลกรัม ต่อต้น จากนั้นเว้นไปใส่อีกครั้งในตอนเดือนมกราคม โดยใส่ในจำนวนเพียงครึ่งเดียวของครั้งแรก ต้นไหนที่มีขนาดใหญ่ อายุมาก แล้วผลผลิตเริ่มด้อยคุณภาพก็จะจัดการตัดแต่งกิ่ง ทรงพุ่มเพื่อทำสาว

ปุยฝ้ายเนื้อฟู นิ่ม

รวมกลุ่มปลูกกระท้อนคลองน้อย หวังสร้างภาพลักษณ์
สกัดปัญหากระท้อนปลอม

ช่วงที่ผ่านมา ภายหลังกระท้อนคลองน้อยได้รับความสนใจจากลูกค้ามาก ขายดีจนทำให้ราคาสูง จึงมีกลุ่มคนฉวยโอกาสแอบนำกระท้อนจากที่อื่นมาหลอกลูกค้าว่าเป็นกระท้อนคลองน้อย พอลูกค้าชิมแล้วรสชาติเปลี่ยนไปจึงเลิกซื้อทำให้กระท้อนคลองน้อยขายได้ลดลง

ดังนั้น แนวทางการแก้ไขด้วยการชักชวนชาวบ้านผู้ปลูกกระท้อนคลองน้อยมารวมตัวกันสร้างเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น พร้อมผลักดันเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบออกใบรับรองกระท้อนคลองน้อยที่ได้มาตรฐานเพื่อนำไปแสดงไว้ที่แผงขายเป็นการสร้างความเชื่อมั่น โดยลูกค้าควรเลือกซื้อกระท้อนคลองน้อยจากแผงขายที่แสดงใบรับรองเท่านั้นจึงไม่ผิดหวัง

“มีลูกค้าซื้อกระท้อนไปแล้วผิดหวังเลยถูกต่อว่า เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นบ่อยมาก ทำให้ผู้ปลูกกระท้อนคลองน้อยได้รับผลกระทบ ขายไม่ได้หรือได้ราคาต่ำ ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาจึงกำหนดให้ผู้ขายแสดงใบรับรองให้ลูกค้าเห็นอย่างเด่นชัด”

 

ผลผลิตกระท้อนวางจำหน่ายตามแผงในตลาดและริมถนน

แนวโน้มตลาดยังดีอยู่ ถ้าปีไหนผลผลิตออกมาไม่ตรงกับช่วงไม้ผลอื่น ราคาดีมาก

คุณต้า เล่าว่า ราคาขายกระท้อนในแต่ละรอบการผลิตไม่คงที่ และมีปัจจัยเดียวที่ทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงคือผลผลิตกระท้อนออกตรงกับผลไม้ชนิดอื่นหรือไม่ แต่ภาพรวมราคาขายที่ผ่านมาเกษตรกรพอใจ และคาดว่าปีนี้ (2562) ราคาขายจะดีกว่าเดิม เนื่องจากมีการรวมตัวผู้ปลูกกระท้อนคลองน้อยเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาการปลูกให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นอีก

“ทำให้ผลผลิตรวมของกลุ่มทั้งปีไม่ต่ำกว่า 100 ตัน ตลอดจนยังพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน โดยคาดว่าราคาขายจะอยู่ระหว่าง 50-80 บาท ต่อกิโลกรัม รวมถึงทางสำนักงานเกษตรจังหวัดยังให้ความช่วยเหลือด้วยการผลักดันให้กระท้อนคลองน้อยเป็น GI พร้อมไปกับการสร้างแบรนด์และบรรจุภัณฑ์ให้มีความทันสมัย”

ผลผลิตปุยฝ้าย

คุณต้า กล่าวทิ้งท้ายว่า จุดเด่นความอร่อยของกระท้อนคลองน้อยเกิดจากสภาพทางภูมิประเทศ เนื่องจากบริเวณที่ปลูกได้รับอิทธิพลจากแม่น้ำสำคัญที่ไหลมาบรรจบกันบริเวณปากคลองน้อยและเกิดการทับถมของแร่ธาตุอาหาร ดังนั้น จึงทำให้พื้นที่บริเวณนี้ปลูกพืชไม้ผลอะไรก็สมบูรณ์รวมถึงกระท้อน

ขอขอบคุณ สำนักงานเกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานี อำนวยความสะดวกในการทำรายงานพิเศษครั้งนี้

 “งานกระท้อนคลองน้อย” จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในช่วงเดือนกรกฎาคม ณ วัดธาราวดี (วัดดอนตะโก) หมู่ที่ 8 ตำบลคลองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยกิจกรรมภายในงานมีการประกวดกระท้อนยักษ์ การประกวดผลไม้ การประกวดแปรรูปกระท้อน มีการแข่งขันกินกระท้อน และการแข่งขันไก่แจ้ นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับกระท้อน และจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของของชุมชน พร้อมเปิดสวนกระท้อนให้เข้ามาเยี่ยมชมด้วย             

คุณต้าระหว่างเก็บผลผลิตโดยใช้อุปกรณ์ช่วยให้รวดเร็ว
การดูแลจัดการในสวนเพื่อป้องกันศัตรู

…………………

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2562