เขื่อนวชิราลงกรณ เตือนเกษตรกรเตรียมรับมือภัยแล้ง ปี’63 หลังผ่านครึ่งฤดูฝน มีปริมาณน้ำ 51 เปอร์เซ็นต์

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ทั้งในพื้นที่ อ.ทองผาภูมิ และ อ.สังขละบุรี มีปริมาณน้ำน้อยที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา หลังจากพื้นที่เหนือเขื่อนต้องเผชิญปัญหาฝนทิ้งช่วง โดยพบว่า บ้านแพริมแม่น้ำรันตีจำนวนมาก บริเวณสะพานรันตี อยู่ในสภาพต้องเกยตื้นอยู่บนบก หลังระดับน้ำลดลง เช่นเดียวกับระดับน้ำในแม่น้ำรันตีบริเวณนี้ที่มีสภาพตื้นเขิน จนเด็กๆ สามารถลงไปยืนกลางน้ำได้ ซึ่ง อ.สังขละบุรี เป็นพื้นที่ที่มีป่าอุดมสมบูรณ์และมีแม่น้ำสำคัญ 3 สาย ได้แก่ แม่น้ำซองกาเลีย บีคลี่ และรันตี ที่ทำหน้าที่คอยเติมน้ำลงในเขื่อนวชิราลงกรณ แต่ปีนี้กลับพบว่าในพื้นที่ต้นน้ำทั้ง 3 สาย มีปริมาณฝนน้อยมาก และเกิดปรากฏการณ์ฝนทิ้งช่วง

นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผู้อำนวยการเขื่อนวชิราลงกรณ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า วันนี้สถานการณ์น้ำในเขื่อนวชิราลงกรณมีปริมาณน้ำที่กักเก็บเพียง 4,500 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 51 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากเทียบกับภาวะปกติของทุกปี เมื่อเข้าสู่ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมซึ่งถือเป็นช่วงกลางเดือนของฤดูฝนของที่นี่ปริมาณน้ำในเขื่อนจะอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งปัญหาเกิดจากปริมาณฝนในพื้นที่เหนือเขื่อน ทั้งในพื้นที่ อ.สังขละบุรี และบางส่วนของ อ.ทองผาภูมิ มีปริมาณน้อยมาก โดยมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนโดยเฉลี่ยเพียง วันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร เท่านั้น ซึ่งหากเป็นภาวะปกติ ในแต่ละปีจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนประมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปีนี้ขณะนี้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเพียง 800 ล้านลูกบาศก์เมตร ถือว่าน้อยมาก

นายไววิทย์ กล่าวว่า โดยปกติฤดูฝนในพื้นที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายน หากเป็นเช่นนี้คาดว่า ปี 2563 พื้นที่ท้ายน้ำจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำ ซึ่งจะส่งผลต่อภาคการเกษตรและการผลักดันน้ำเค็มบริเวณปลายน้ำอย่างแน่นอน แต่ในส่วนของน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ไม่มีปัญหา จึงฝากเตือนไปยังภาคการเกษตรที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก รวมไปถึงเกษตรกร ให้ติดตามข่าวสารของทางราชการ รวมทั้งควรปรับเปลี่ยนมาเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและมีอายุสั้น เพื่อลดผลกระทบและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากสถานการณ์น้ำดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา สถานการณ์น้ำในเขื่อนวชิราลงกรณ ช่วงเวลาเดียวกัน พบว่า มีฝนตกหนักในพื้นที่เหนือเขื่อนวชิราลงกรณ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำอย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างสะสมมากที่สุดในรอบ 34 ปี กระทั่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2561 เขื่อนวชิราลงกรณมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านทางระบายน้ำล้น (สปิลเวย์) ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูระบายน้ำผ่านสปิลเวย์ในรอบ 16 ปี เนื่องจากมีระดับเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกิน ร้อยละ 80 ของความจุ

ทั้งนี้ เขื่อนวชิราลงกรณ เคยระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำฉุกเฉินสปิลเวย์ มาแล้ว 3 ครั้ง คือในปี 2537 ปี 2540 และปี 2545 ซึ่งผ่านมาเป็นระยะเวลานานถึง 16 ปีแล้ว ที่เขื่อนไม่ได้เปิดประตูระบายน้ำฉุกเฉิน จนกระทั่งล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา

 

ที่มา : มติชนออนไลน์