เทคโนโลยี กังหันลม-โซล่าร์เซลล์ พลังงานทางเลือก ของ อบจ. ชัยภูมิ

ปัจจุบัน ประเทศไทย มีความตื่นตัวทางด้านพลังงานทดแทนอย่างมาก รัฐบาลมีนโยบายรณรงค์สนับสนุนงานวิจัยเรื่องการใช้พลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ให้แพร่หลายยิ่งขึ้น รวมทั้งดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม จนกลายเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกระแสไฟฟ้าเป็นระบบสาธารณูปโภคที่มีความสำคัญ และถือเป็นความต้องการพื้นฐานของประชาชน

ระบบกังหันลมผลิตไฟฟ้า

วช. ผลักดันต้นแบบชุมชนสีเขียว

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า วช. ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนทุนเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม ตามการปฏิรูประบบวิจัยและนวัตกรรมของรัฐบาล ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานทดแทน จึงได้ให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยพลังงานทดแทน (โครงการท้าทายไทย) ที่ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ภายใต้ชื่อ โครงการ “การพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว” แก่ ศาสตราจารย์ ดร. ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และคณะ ที่มุ่งศึกษาวิจัยและนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีจากงานวิจัยด้านพลังงานไปใช้ในชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนสีเขียว

กังหันลมผลิตไฟฟ้าในสวนสาธารณะหนองปลาเฒ่า

ศาสตราจารย์ ดร. ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า โครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว มีจำนวน 8 โครงการ ที่สามารถนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน ขนาด 15 กิโลวัตต์ ต้นแบบสามารถประยุกต์ใช้งานได้จริงเพื่อชุมชนสีเขียว เป็นการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดย ผศ.ดร. วิรชัย โรยนรินทร์ และคณะ โดยใช้พื้นที่สนามกีฬากลาง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและเป็นที่พักผ่อนของประชาชน

ผศ.ดร. วิรชัย โรยนรินทร์ ได้นำพลังงานลมและแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าร่วมกัน การทำงานของระบบจะช่วยประหยัดไฟฟ้าให้กับพื้นที่ไม่น้อยกว่าวันละประมาณ 100 หน่วยไฟฟ้า ต่อวัน คิดเป็นมูลค่าการลดค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าปีละประมาณสองแสนกว่าบาท สามารถเพิ่มเวลาในการออกกำลังกายให้ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น และใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบของชุมชนสีเขียวในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญในการช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาส่งเสริมการใช้พลังงานจากธรรมชาติกันมากขึ้น ทำให้ลดปัญหามลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดภาวะโลกร้อน

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

นวัตกรรมสีเขียว @ ชัยภูมิ

สวนสาธารณะหนองปลาเฒ่า อยู่ในความรับผิดชอบและบริหารงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ (อบจ. ชัยภูมิ) เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่อยู่ใจกลางเมือง มีปริมาณพื้นที่รวม 374 ไร่ พื้นที่สระน้ำ 108 ไร่ สามารถกักเก็บน้ำได้ในปริมาณกว่า 500,000 ลูกบาศก์เมตร ชาวชัยภูมินิยมมาพักผ่อนออกกำลังกายในช่วงเช้าและเย็นถึงค่ำเป็นจำนวนมาก พื้นที่สวนสาธารณะแห่งนี้อยู่ติดกับ “ศาลเจ้าพระยาภักดีชุมพล (แล)” เป็นที่เคารพบูชาของชาวชัยภูมิ ประชาชนนิยมทำบุญปล่อยปลาลงสู่หนองปลาเฒ่าเป็นประจำ ทำให้มีปลาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพื้นที่สวนสาธารณะแห่งนี้มีลักษณะเป็นหนองปิด ไม่มีการถ่ายเทหมุนเวียนของน้ำ ทำให้น้ำเกิดการเน่าเสียสะสมเป็นเวลานาน จนเกิดกลิ่นเหม็น ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำที่อาศัยในหนองน้ำและมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม

ผศ.ดร. วิรชัย โรยนรินทร์

ดร. มนตรี ชาลีเครือ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิ (อบจ. ชัยภูมิ) มองเห็นปัญหาดังกล่าว ใช้เงินกว่าปีละ 3 ล้านบาท จัดซื้อสารจุลินทรีย์ EM มาใช้บำบัดคุณภาพน้ำ แต่ไม่ได้ผล เนื่องจากจังหวัดชัยภูมิเป็นพื้นที่มีไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีศักยภาพของพื้นที่ในด้านลมที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ อบจ. ชัยภูมิ จึงหันมาใช้ “พลังงานทดแทนสู่ชุมชน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เพราะเป็นพลังงานหมุนเวียนที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม (Green & Clean Energy)

ศาสตราจารย์ ดร. ทนงเกียรติ เกียรติศิริโรจน์

อบจ. ชัยภูมิ ร่วมมือกับ ผศ.ดร. วิรชัย โรยนรินทร์ ศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี ติดตั้งระบบกังหันลมการผลิตไฟฟ้า ขนาด 10 กิโลวัตต์ จำนวน 4 ชุด ติดตั้งระบบสูบน้ำ ขนาด 30 กิโลวัตต์ จำนวน 2 ชุด มีชุดกังหันน้ำผลิตไฟฟ้า ขนาด 5 กิโลวัตต์ จำนวน 1 ชุด มีเครื่องเติมอากาศเพื่อบำบัดน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ จำนวน 10 ชุด มีจุดพนังกั้นน้ำ จำนวน 2 จุด รวมมูลค่าโครงการ 14 ล้านบาท

หลังจากติดตั้งกังหันลมและแผงโซล่าร์เซลล์มาผลิตไฟฟ้า เพิ่มออกซิเจนให้กับน้ำภายในสระหนองปลาเฒ่า ประมาณ 6 เดือน สามารถบำบัดคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น ทำให้ระบบนิเวศในหนองปลาเฒ่ากลับมามีสภาพสมบูรณ์แบบยั่งยืน ช่วยแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม สนองนโยบายภาครัฐ ทำให้ประชาชนที่อาศัยโดยรอบเกิดความพึงพอใจ มีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี

ดร. มนตรี ชาลีเครือ

“โครงการติดตั้งกังหันลมในสวนสาธารณะหนองปลาเฒ่า ได้สร้างจุดเด่น (Land mark) เพิ่มเติมให้กับพื้นที่ดังกล่าวแล้ว อบจ. ชัยภูมิ คาดหวังว่า สถานที่แห่งนี้จะเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ด้านการบำบัดน้ำและแหล่งพลังงานทดแทนอีกแห่งของประเทศ ขณะเดียวกัน อบจ. ชัยภูมิ จะนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอด โดยติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำสำหรับใช้สูบน้ำในคลองส่งน้ำชลประทาน เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำให้แก่เกษตรกรชาวชัยภูมิในอนาคต” ดร. มนตรี ชาลีเครือ กล่าวในที่สุด

ผลิตพลังงานทดแทน ด้วย “กังหันลม”

ตามศาสตร์พระราชา “รัชกาลที่ 9”

พลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอย

ดร. วิรชัย โรยนรินทร์ นับเป็นคนไทยคนแรกที่เรียนจบปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมกังหันลม จากประเทศอังกฤษ และรับสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “รัชกาลที่ 9” ผลิตกังหันลมผลิตไฟฟ้าด้วยฝีมือคนไทยขึ้นเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน โดยนวัตกรรมกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำ ขนาด 5 กิโลวัตต์ ฝีมือคนไทย จำนวน 20 ต้น ได้ถูกติดตั้งในพื้นที่ “โครงการชั่งหัวมัน” อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี กลายเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ด้านพลังงานทดแทนที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองไทย

หลังจากนั้น ดร. วิรชัย โรยนรินทร์ ได้พัฒนากังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำ รุ่นต่างๆ ออกมามากมาย จนถึงผลงานรุ่นล่าสุด “กังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำ 100 กิโลวัตต์” ที่ให้ผลตอบแทนสูง คุ้มค่ากับการลงทุนเชิงพาณิชย์มากที่สุดในขณะนี้ และได้พัฒนานวัตกรรมการผลิตพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ เช่น แผงโซล่าร์เซลล์มาผลิตไฟฟ้า ฯลฯ

นวัตกรรมใหม่ กังหันลมผลิตไฟฟ้า ขนาด 100 กิโลวัตต์

นอกจากโครงการกังหันลมผลิตไฟฟ้าในจังหวัดชัยภูมิแล้ว ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ยังได้ดำเนินโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าทดแทนแบบผสมผสาน ประยุกต์ใช้งานจริงเพื่อชุมชนสีเขียว ให้กับกรมประมง โดยมุ่งผลิตไฟฟ้าจากสองแหล่งพลังงาน คือ กังหันลม 10 กิโลวัตต์ มาผลิตไฟฟ้าร่วมกับเซลล์แสงอาทิตย์บนพื้นดิน ขนาด 7 กิโลวัตต์ มาใช้ในพื้นที่โครงการของกรมประมง อำเภอคลองวาฬ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในการใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าในโครงการอีกด้วย หากใครสนใจนวัตกรรมข้างต้น สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมกับ ดร. วิรชัย โรยนรินทร์ ได้ที่เบอร์โทร. 089-771-4294

 

ผู้บริหาร อบจ. ชัยภูมิ กับทีมนักวิจัย วช.
กังหันลม ลดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 200,000 กว่าบาท
กังหันลม Land mark ของสวนสาธารณะหนองปลาเฒ่า
ระบบมิเตอร์ไฟฟ้า
ผู้บริหาร อบจ. ชัยภูมิ ไปเยี่ยมชมกังหันลมผลิตไฟฟ้า