สวนป่า งมซาว (ตอนที่ 1)

ผมติดตามน้องพอลล่ามาได้ 4 ปีแล้วสิ ตั้งแต่ต้นปี 2558 จากสาวน้อยที่หันหลังให้เมืองกรุง เมืองแห่งเสียงสี และความใฝ่ฝันของคนมากมาย ด้วยความรับผิดชอบของคนเป็นลูกกับภารกิจ กลับบ้านไปดูแลพ่อแม่ที่เริ่มชรา พร้อมภาระพื้นที่ไร่นาและป่า จำนวน 70 ไร่ เวลา 10 ปี ในเมืองกรุงด้วยหลากหลายอาชีพที่ได้ทำ สร้างความกังวลให้เธอไม่น้อย เพราะห่างเหินกลิ่นโคลนกลิ่นฟางมานานแล้ว จะไหวไหมหนอ พอลล่าเอ๋ย?

สัญลักษณ์ประจำสวน

สารพัดโครงการในสมองที่ได้เสพรับผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เธอได้ศึกษาและทดลองแบบแสดงเอง เจ็บเอง โน่นก็ดี นี่ก็น่าทำ เขาว่ามะนาวราคาดีก็หันไปปลูกมะนาว และต้องปลูกในวงบ่อด้วยนะ จะได้ตามสมัยนิยม แต่ด้วยความที่ใหม่และขาดความรู้ความเข้าใจ ปัญหาต่างๆ มากมายรุมถาโถม ไม่ว่าจะเป็นโรคแคงเกอร์ หนอนผีเสื้อ ต้องฉีดพ่นยาทั้งป้องกันและกำจัดอย่างมากมาย จนอดคิดไม่ได้ว่าตัวเองอาจตายก่อนมะนาวก็ได้ ไหนจะผลผลิตไม่ตรงตามความต้องการตลาดอีก สรุปมะนาว 120 วงบ่อ ทำเอากระเป๋าแบนไปไม่น้อยเลย

ยังไม่เข็ด ช่วงที่ไผ่กำลังดัง ก็ขอเกาะขบวนไปกับเขาบ้าง ขอเดินหน้าด้วยไผ่ 120 กอ (อีกแล้วสิ ไม่รู้หรือว่าตัวเลข 120 ไม่ถูกโฉลกกะเธอ หือ พอลล่า) คราวนี้ลองวิชาครั้งใหม่ ปลูกไผ่แซมด้วยกล้วย กะว่าแค่ปีแรกก็มีรายได้จากกล้วยแล้ว จะขายผล ขายหน่อ พร้อมแปรรูป โอย! ในฝันช่างสวยงามกระไรเช่นนี้ แต่ในเวลาไม่นานก็ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองตามสไตล์เล่นเองเจ็บเองอีกว่า กล้วยกับไผ่ปลูกร่วมกันไม่ดี กล้วยแทบไม่มีผลผลิต และไผ่ก็เจริญเติบโตไปแบบแคะแกร็น คือไม่ตาย แต่ไปช้าๆ ได้หน่อพอเก็บกินและแจกได้บ้าง แต่ในแง่ของการขายขอให้ลืมไปได้เลยพอลล่าเอ๋ย เอาแล้วสิ รอบนี้แทนที่กระเป๋าจะแบนเพียงอย่างเดียวก็ต้องบอกว่ากระเป๋าฉีกเลยดีกว่าไหม หมดไปเยอะเลย

วงบ่อปลูกมะนาว อนุสาวรีย์ความพ่ายแพ้

บทเรียนหนึ่งหลังจากเงินที่มีติดตัวมาจากเมืองกรุงหมดไป พอลล่าเริ่มมานั่งพิจารณา ปุ๋ยก็ใส่ ยาก็ฉีด แล้วทำไมมันไม่งามเหมือนชาวบ้านเขาหนอ หรือเราทำอะไรผิดพลาดไป ตอนนั้นความรู้ไม่มีเลย ใครบอกว่าอะไรดีก็ทำตามเขาไปหมด ไม่เคยรู้จักอินทรียวัตถุ ไม่รู้จักฮอร์โมนอะไร ทุกอย่างใช้เงินซื้อเพราะเขาว่าดีเท่านั้น จึงตั้งชื่อสวนตัวเองไว้เป็นบทเรียนสอนใจว่า สวนงมซาว ตอนแรกผมก็นึกไปถึงคำว่า ซาว แปลว่า ยี่สิบ พอลล่าทำผิดๆ มา 20 ครั้ง แล้วหรือ? เปล่าเลย เธอแปลให้ว่า ทำไปเรื่อย มุดไปเรื่อยไม่มีจุดหมาย ไม่มีเครือข่าย ไม่รู้จักการตลาด งมๆ ซาวๆ เพียงเพื่อหวังว่าจะได้ดังที่ตั้งใจเท่านั้น

พอลล่า กับพร้าคู่มือ

ในยามที่คิดอะไรไม่ออก หรือยามเที่ยงๆ เธอมักจะไปผูกเปลในสวนป่าเต็งรังที่มีอยู่ แต่ไม่รู้หรอกว่าจะมีต้นไม้อะไรอื่นอีกบ้าง พอเห็นรกมากๆ ก็ตัดหญ้าจนเตียน พอที่จะเดินหรือแขวนเปลได้อย่างไม่มีอะไรขวางมากนัก พอตัดไปสักหน่อยเริ่มมองเห็นความสวยงามและเป็นระเบียบ ประกอบกับช่วงนั้นกระแสผักหวานป่าเริ่มมา (เอาอีกแล้วพอลล่า อย่าปลูก 120 ต้นอีกนะ ขอร้องเลย) ผู้รู้บอกว่า ผักหวานป่าต้องมีไม้พี่เลี้ยง จะปลูกเดี่ยวๆ ไม่ได้ เขาจะไม่มีรากไม้อื่นพาไปหากิน ก็เลยเป็นเรื่องสิคราวนี้ ถางสวนป่าเล่นๆ ไปเรื่อย สมาร์ทโฟน 1 เครื่อง ลำโพงบลูทูธเล็กๆ เปิดฟังเพลงไปก็หักร้างถางพงไป ทำแบบนี้อยู่ประมาณ 1 เดือน เผลอหันไปมองอีกครั้ง โอ้โห! ถางสวนไปได้เป็น 10 ไร่เลย งานนี้ได้พื้นที่ปลูกผักหวานสบายๆ เลย ในระยะเวลาที่ถางป่านั้น ความรู้สึกโล่ง เย็นสบายก็บังเกิด ความฝันน้อยๆ ก็บังเกิดอีกเช่นกัน ขอไม้ที่พ่อเลื่อยไว้สร้างศาลาอเนกประสงค์เสียเลย ใครว่าอย่างไรก็ไม่สนใจแล้ว ฉันคือศิลปินป่าไปโน่น

ทั้งถาง ทั้งตัด จนมีพื้นที่โล่งแบบนี้

โลกของโซเชียลเน็ตเวิร์คกว้างและโยงเครือข่ายเป็นใยแมงมุม จากหนึ่งวัน สองวัน กระทั่งเป็นปีที่เดินทางกลับบ้าน เธอก็เริ่มมีเพื่อนในเฟซบุ๊ก ในไลน์มากขึ้น เริ่มมีการเรียนรู้เป็นเครือข่าย เหนืออื่นใดคือการเดินทางออกจากพื้นที่เพื่อไปเรียนรู้ ได้เห็นโลกแห่งความเป็นจริงและมาวิเคราะห์ถึงความผิดพลาดในการเริ่มต้นงมๆ ซาวๆ นั้น

“เราไม่ได้มองปัจจัยหลักของเราเลยพี่ ดินในพื้นที่เราเป็นเนินหินแห้ง หน้าฝนน้ำก็มาเยอะแยะ แต่พอแล้งก็หาน้ำสักหยดไม่มี หน้าหนาวก็หนาวสุดๆ เราปลูกพืชแล้วฝันไปจะให้เหมือนต้นตำรับที่ดินเขาไม่เป็นเหมือนเรา พอได้ไปดูหลายๆ ที่ก็เลยมาสรุปว่า เราต้องมาแก้ไขในพื้นที่เราก่อน ดินต้องสมบูรณ์ น้ำต้องมีพร้อมสำหรับการทำเกษตร ที่สำคัญ เราต้องมีความรู้อีกหลายๆ เรื่อง เพื่อมาบริหารจัดการพื้นที่ของเราให้ดีกว่าที่เคยเป็น”

การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด

“แล้วหลังจากนั้นทำยังไง พี่สนใจเรื่องการถางป่าอยู่นะ บ้าไปแล้ว สาวน้อยจากเมืองกรุงใช้พร้าและเสียงเพลงถางป่าได้เป็น 10 ไร่”

“ก็เพราะการถางสวนป่านี่แหละพี่ หนูจึงเดินทางไปดูงานอีกหลายสวน หลายพื้นที่ ทั้ง ไร่อรหันต์ ทั้ง สวนคุณณฤทธิ์ คำธิศรี ที่มีลักษณะพื้นที่ใกล้เคียงกัน แต่มีการบริหารจัดการที่ดีมากๆ แต่ที่สร้างแรงบันดาลใจอย่างแรงคือ อาจารย์มด แพนด้าแคมป์ ที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่นั่นปลุกความฝันของหนูให้ตื่นและต้องลงมือทำทันที พี่รู้ไหม สวนป่าที่รวบรวมพันธุ์ไม้ต่างๆ มากมาย มีการแยกประเภทอย่างชัดเจน มีพื้นที่การเรียนรู้ โอ๊ย! หนูฝันถึงงมซาวแคมป์ทันที หนูต้องทำให้ได้”

การพบปะพูดคุยกับคนคอเดียวกัน

“ถามจริงๆ ตอนนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จหรือยัง”

“ยังอีกนานจ้ะพี่ เพราะตอนนี้หนูกำลังสร้างเครือข่ายพี่น้องชาวธนาคารน้ำใต้ดินกันด้วย หนูกำลังสอดร้อยความฝันทุกอย่างให้เป็นไปในรูปเดียวกัน อยากเห็นงมซาวแคมป์เป็นคำตอบให้กับพี่น้องเกษตรกรทุกคน เรียกว่าใครอยากเรียนรู้การเกษตรแบบไม่งมๆ ซาวๆ ต้องมาที่งมซาวแคมป์นี่แหละ หนูพร้อมจะบอกเล่าความล้มเหลวให้ได้รับรู้”

“เขามีแต่จะอวดความสำเร็จ”

“ความสำเร็จไปดูได้หลายที่จ้ะ แต่อนุสาวรีย์ความล้มเหลวกว่าจะลุกขึ้นมาได้ ต้องมาที่นี่เท่านั้นจ้า”

พื้นที่ไม่พอครับ คุยกับน้องพอลล่าแล้วติดลมจริงๆ ขอต่ออีกตอนนะครับ ติดตามเป็นกำลังใจให้เธอได้ที่เฟซบุ๊ก ประวีณา ขันสำรอง โทร. (095) 109-9651 ได้เลยครับ

ทุ่งกระเจียวในป่าที่เธอปลูก
อาหารที่ได้จากป่า
ป่าที่ปลูกผสมผสาน