ขยายผลการเลี้ยงผึ้งชันโรงจากภูมิปัญญาท้องถิ่น สู่เยาวชน และชุมชนต้นแบบ

ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี จัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยง
ผึ้งชันโรงจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นักเรียนและชุมชนต้นแบบ ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยโครงการอุ่นใจอาสา กิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงผึ้งชันโรง จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นักเรียนและชุมชนต้นแบบ เพื่อสร้างโอกาสและสร้างงานให้กับเยาวชนในอนาคต

นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่ากรมส่งเสริมการเกษตรมีหน้าที่ในการพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้กับเกษตรกร นับตั้งแต่ส่งเสริมการผลิตพืชตลอดถึงสถาบันเกษตรกรและการพัฒนาบุคลากร สำหรับการส่งเสริมการผลิตนอกจากเรื่องพืชแล้ว ก็ยังมีเรื่องของแมลงเศรษฐกิจอีกด้วย ในส่วนของเขต 3 จังหวัดระยอง รับผิดชอบ 9 จังหวัด ในภาคตะวันออก ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่เกษตรกรรมมีการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีค่อนข้างสูง

โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีนั้น เป็นเมืองผลไม้ของประเทศไทย ซึ่งผลไม้หลักๆ จะมี ทุเรียน มังคุด ลองกอง และเงาะ ซึ่งการจะบังคับให้ผลผลิตออกมากน้อยแค่ไหนนั้นจะขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการสวน และผึ้งเป็นแมลงที่จะช่วยผสมเกสรให้กับพืชทุกชนิดให้มีการผลิดอกออกผลอย่างเต็มที่ได้ เพื่อเป็นการขยายผลการใช้แมลงเป็นตัวช่วยในการผสมเกสรให้มีการนำไปปฏิบัติใช้อย่างกว้างขวาง ทางศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี (ศูนย์ผึ้ง) จึงได้ร่วมกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงผึ้งชันโรงจากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นักเรียนและชุมชนต้นแบบ โดยมีเยาวชนจาก 5 โรงเรียนของ 5 ชุมชน ในอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วย โรงเรียนมะขามสรรเสริญ โรงเรียนวัดวังจะอ้าย โรงเรียนวัดขนุน โรงเรียนมะทาย และ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคลองมะลิประเวศน์วิทยา เข้ารับการอบรม

“ทั้งนี้ เพื่อสร้างอาชีพ และเสริมทักษะนอกห้องเรียนแบบปฏิบัติจริง เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยฝึกอบรมให้เข้าใจและเรียนรู้ถึงวิธีการเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อใช้ประโยชน์ในการผสมเกสรพันธุ์ไม้ให้ผล ซึ่งผึ้งชันโรงเป็นผึ้งขนาดเล็ก มีรัศมีการหาอาหารไม่ไกล ไม่เกิน 1 กิโลเมตร จึงสามารถจำกัดวงให้อยู่ได้ตามช่วงเวลาและระยะเวลา ที่สำคัญผึ้งชนิดนี้ไม่เป็นอันตราย ไม่ดุร้าย ยุวเกษตรกรหรือเด็กๆ สามารถเข้าใกล้ได้ ส่วนการให้น้ำหวานหรือผลผลิตนั้น ส่วนใหญ่จะเอาไปแปรรูปเป็นส่วนผสมของเครื่องสำอาง และสบู่บำรุงผิว” นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ กล่าว

ทางด้าน นายชยุทกฤดิ นนทแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี (ศูนย์ผึ้ง) เปิดเผยว่า ศูนย์ผึ้งเป็นสถานที่ทำการศึกษาทดสอบวิจัยส่งเสริมและพัฒนาขบวนการผลิตภาคการเกษตร เมื่อได้องค์ความรู้แล้วก็จะนำไปถ่ายทอดสู่เกษตรกร เยาวชน และประชาชนโดยทั่วไป สำหรับโครงการอุ่นใจอาสากิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการเลี้ยงผึ้งชันโรง จากภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่นักเรียนและชุมชนต้นแบบในครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือระหว่างศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี (ศูนย์ผึ้ง) กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพ ทักษะนอกห้องเรียนและชุมชนต้นแบบ แบบปฏิบัติจริง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับเยาวชนและชุมชน โดยมีเป้าหมาย 5 โรงเรียนจาก 5 ชุมชน ในอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี (ศูนย์ผึ้ง) อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี

โดยเยาวชนที่เข้ารับการอบรมจะได้เรียนรู้ขั้นตอนต่างๆ ในการเลี้ยงและใช้ประโยชน์จากผึ้งชันโรง ตั้งแต่ทฤษฎีเกี่ยวกับการเลี้ยงผึ้งชันโรง การผลิตกล่องเลี้ยงผึ้ง การนำกล่องผึ้งไปวางในพื้นที่สวนผลไม้ช่วงกำลังผลิดอกเพื่อช่วยผสมเกสร การย้ายกล่องเลี้ยง การสาธิตการแยกขยายพันธุ์ การต่อรัง วิธีการล่อชันโรง การแยกขยายรัง และการเก็บน้ำผึ้งไปจนถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากผึ้งเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ อันจะส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับนักเรียนและชุมชนในพื้นที่ต่อไป
สำหรับชันโรงที่สามารถเลี้ยงในกล่องและให้ผลผลิตมี 4 ชนิด คือ ชันโรงขนเงิน ชันโรงถ้วยดำ ชันโรงปากแตรสั้น และชันโรงปากแตรยาว ซึ่งชันโรงทั้ง 4 ชนิด มีลักษณะตัวคล้ายกัน มักอาศัยในโพรงธรรมชาติเหนือดิน เช่น โพรงในต้นไม้ อาคารบ้านเรือน แต่ละชนิดใช้เวลาเจริญเติบโตในแต่ละระยะแตกต่างกัน และมีลักษณะการสร้างรังรูปแบบต่างกัน

ทั้งปากทางเข้ารัง ซึ่งเป็นท่อสั้นหรือยาว หรือรูปแตร อุโมงค์ทางเดิน รูปแบบการเรียงตัวของถ้วยตัวอ่อน หรือถ้วยไข่สำหรับบรรจุไข่ ตัวอ่อนระยะหนอน และระยะดักแด้ ถ้วยเกสรบรรจุเกสรดอกไม้ และถ้วยน้ำผึ้งซึ่งสร้างจากยางไม้ ใช้บรรจุน้ำหวานจากดอกไม้ และทั้ง 4 ชนิด สามารถนำมาเป็นตัวช่วยในการผสมเกสรให้กับเกษตรกรที่ปลูกไม้ให้ผลได้การเลี้ยงผึ้งชันโรงจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการเพิ่มผลผลิตพืชแบบปลอดสารพิษ และทำให้ผลผลิตมีคุณภาพ มีปริมาณที่มากกว่า ที่สำคัญไม่เป็นอันตรายต่อชาวสวนผลไม้ แถมมีรายได้เสริมจากผลิตภัณฑ์จากผึ้งอีกต่างหาก