กรมส่งเสริมการเกษตร สั่งการผ่าน Conference กำชับทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์แล้งฝนทิ้งช่วงใกล้ชิด

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เผยว่า ได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมการเกษตรทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เฝ้าติดตามสถานการณ์แล้งฝนทิ้งช่วง ปี 2562 ผ่านระบบ VDO Conference ณ ห้องประชุม Operation Room ชั้น 2 อาคาร 1 กรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 พร้อมย้ำสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1-6 สำนักงานเกษตรจังหวัด ติดตามสถานการณ์แล้งฝนทิ้งช่วง ปี 2562 อย่างใกล้ชิด เพื่อให้รับทราบสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน และการเตรียมความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกร โดยมีประเด็นและข้อสั่งการในการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเกษตร ดังนี้

  1. การจัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจติดตามสถานการณ์แล้งฝนทิ้งช่วง ปี 2562 (War Room) 3 ระดับ คือ

1.1 ส่วนกลาง

– เป็นหน่วยหลักประสานงาน ได้แก่ ความร่วมมือกับหน่วยงานด้านแหล่งน้ำ เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาแล้งฝนทิ้งช่วง และประสานการเตรียมจัดทำมาตรการระดับกระทรวง และกรม

– รวบรวม วิเคราะห์ จัดทำรายงานข้อมูล และส่งให้ผู้บริหารและหน่วยงานเกี่ยวข้องใช้ประโยชน์ ได้แก่ สถานการณ์น้ำและภูมิอากาศ ผลการเพาะปลูกพืช และพื้นที่ได้รับผลกระทบ

– ประชาสัมพันธ์ภาพรวมระดับประเทศ และข้อมูลคำแนะนำให้ War Room เขตและจังหวัด นำไปใช้ประโยชน์

1.2 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1-6 (การแต่งตั้งศูนย์ฯ ให้อยู่ในอำนาจของ ผอ.สสก.)

– ประสานข้อมูลระหว่างพื้นที่และส่วนกลาง

– ติดตามเร่งรัด การตรวจสอบข้อมูล War Room จังหวัด

1.3 สำนักงานเกษตรจังหวัด (การจัดตั้งศูนย์ฯ ขอความเห็นชอบผู้ว่าราชการจังหวัด และแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยผ่านกลไกคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับจังหวัด (Chief of Operation : CoO) และคณะทำงานปฏิบัติการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและแก้ไขปัญหาภาคเกษตรระดับอำเภอ (Operation Team : OT)

– เน้นการจัดทำข้อมูล ติดตามสถานการณ์ สร้างการรับรู้แก่เกษตรกร และประสานการช่วยเหลือเกษตรกร

  1. การจัดทำข้อมูลพื้นที่เพาะปลูกพืชและพื้นที่ได้รับผลกระทบ

2.1 สำรวจ ประเมิน ให้ถูกต้องมากที่สุด

2.2 การรายงานข้อมูลทุกวันอังคารของสัปดาห์

  1. ประเด็นที่ต้องเร่งดำเนินการ

3.1 สร้างการรับรู้ เกี่ยวกับ

– สถานการณ์แล้งฝนทิ้งช่วง สภาพภูมิอากาศ พื้นที่ฝนตก และสถานการณ์น้ำ เพื่อให้เกษตรกรรับทราบ และเตรียมการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์

– แนะนำการปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย (อายุ 60-70 วัน) ในพื้นที่ที่สามารถปลูกได้ พร้อมแนะนำให้ความรู้ การปลูก การดูแลรักษา และประสานข้อมูลแหล่งตลาดรับซื้อ

– การดูแลรักษาพืชในช่วงภาวะแล้ง ฝนทิ้งช่วง เช่น การรักษาความชื้นในแปลงด้วยการคลุมแปลงหรือโคนต้น การตัดแต่งกิ่งพืชเพื่อลดการคายน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัด และพิจารณาใช้ระบบน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้น้ำ

3.2 สำรวจแหล่งน้ำในพื้นที่ เพื่อดูว่าเกษตรกรสามารถดูแลเรื่องน้ำในพื้นที่ไร่นาตัวเองได้มากน้อยเพียงใด การเก็บกักน้ำไว้ในไร่นา และหาแหล่งน้ำสำรองโดยประสานหน่วยงานด้านแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร

3.3 เฝ้าระวังสถานการณ์ ได้แก่ น้ำเค็มรุกล้ำพื้นที่ปลูกไม้ดอก พื้นที่ที่อาจเกิดปัญหาการแย่งน้ำ

3.4 เร่งรัดการขึ้นทะเบียนและการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร โดยให้ดำเนินการเชิงรุกในพื้นที่ และออกให้บริการเกษตรกร

3.5 หากมีประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฯ ให้เร่งดำเนินการตามระเบียบฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

  1. มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในภาวะแล้งฝนทิ้งช่วง ปี 2562 ในพื้นที่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าว

4.1 มีแนวทางเพื่อให้ชุมชนมีรายได้ เช่น ปลูกพืชอายุสั้นใช้น้ำน้อย การเลี้ยงสัตว์ การทำประมง การแปรรูปและทำผลิตภัณฑ์ ฟาร์มชุมชน (เกษตรผสมผสาน) และการผลิตปุ๋ยอินทรีย์

4.2 ให้เกษตรกรและชุมชนมีแหล่งน้ำในไร่นา เช่น การทำไร่นาสวนผสม เกษตรทฤษฎีใหม่ ความร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล (นำร่องเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง และการพัฒนาศักยภาพน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร) และการจัดทำข้อมูลพื้นฐานเชิงพื้นที่