กว่าจะเป็นข้าวสาร Q-ข้าวพันธุ์แท้ การันตีคุณภาพโดยกรมการข้าว

เมื่อเร็วๆ นี้ ผู้เขียนมีโอกาสร่วมคณะสื่อมวลชนจากส่วนกลางติดตาม คุณประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ไปตรวจสอบคุณภาพข้าวทั้งระบบ ย้อนรอยเส้นทางกว่าจะเป็นข้าวสาร Q และข้าวพันธุ์แท้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยกระดับข้าวไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน 

อธิบดีกรมการข้าวตรวจเยี่ยมแปลงข้าวอินทรีย์

กรมการข้าวคุมคุณภาพข้าวสาร Q

ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

การลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดในครั้งนี้ ทำให้รู้ว่า เกษตรกรชาวนาไทยจำนวนมากกำลังเร่งปรับตัวเพื่อก้าวสู่ระบบตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ขณะเดียวกัน กรมการข้าวก็ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการโรงสีข้าว ในการเชื่อมโยงข้าวอินทรีย์และข้าว GAP ครบวงจร เพื่อรวบรวมและคัดบรรจุเป็นข้าวสาร Q ต่อไป

เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ และข้าวสาร Q

คุณประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า กรมการข้าวให้ความสำคัญในเรื่องการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งกว่าจะเป็นสินค้าข้าวสารที่ได้รับเครื่องหมาย Q การันตีคุณภาพจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ดังนี้

  1. มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว (GAP Seed) เริ่มจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทราบแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP Seed หรือเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมการข้าว หรือเมล็ดพันธุ์ที่ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไข เพิ่มเติม
  2. มาตรฐานข้าว GAP หรือมาตรฐานข้าวอินทรีย์ เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร/ผู้ขอการรับรอง ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมการข้าวและตามมาตรฐานข้าว GAP หรือมาตรฐานข้าวอินทรีย์ รวมทั้งยินยอมให้ผู้ตรวจประเมินของกรมการข้าวเข้าตรวจประเมินและสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพข้าวหรือสารตกค้าง เมื่อผ่านการตรวจประเมินจะได้รับใบรับรองตามมาตรฐานนั้นๆ
  3. มาตรฐานโรงสีข้าว GMP ผู้ประกอบการแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมการข้าวและตามมาตรฐานโรงสีข้าว GMP และต้องผ่านการตรวจประเมินจึงจะได้รับใบรับรองตามมาตรฐานโรงสีข้าว GMP
  4. มาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว ผู้ประกอบการคัดบรรจุข้าวสาร ยื่นคำร้องขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าข้าวขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าข้าว และยินยอมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมการข้าวและตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าข้าวแต่ละประเภท พร้อมทั้งให้ผู้ตรวจประเมินของกรมการข้าวเข้าตรวจประเมินและสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวเพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพข้าวหรือสารตกค้าง
นาข้าวหอมมะลิอินทรีย์ที่เข้าร่วมโครงการกับกรมการข้าว
เจ้าหน้าที่กรมการข้าวตรวจเช็คการดูแลแปลงนากับเกษตรกร

เมื่อผ่านการตรวจประเมินจะได้รับใบรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าข้าวประเภทนั้นๆ ซึ่งมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าข้าวมีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย ข้าวไทย ข้าวสีไทย และข้าวกล้องงอก โดยยื่นขอการรับรองกับกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว เมื่อได้รับการรับรองแล้วสามารถยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ ซึ่งอนุญาตให้ใช้แสดงคู่กับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q ในข้าว 12 พันธุ์ คือ กข 6 กข 15 กข 21 กข 43 กข 59 ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 80 ขาวดอกมะลิ 105 ทับทิมชุมแพ สังข์หยด มะลินิลสุรินทร์ และข้าวเหนียวลืมผัว

ใช้ระบบตรวจสอบอิเล็กทรอนิกส์ “Rice Cert”  

คุณประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า ปัจจุบัน กรมการข้าวได้นำระบบ Rice Certification System : Rice Cert ซึ่งเป็นการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ตรวจประเมินและรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าวทั้งระบบการผลิต ภายใต้การให้บริการ Government Cloud Service (G-cloud) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) หลักการตรวจ ประเมินและให้การรับรองจะยึดตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17065

อธิบดีกรมการข้าวเยี่ยมชมการซื้อขายข้าวโรงสีข้าว GMP

สำหรับมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับข้าวที่ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลภายใต้ระบบ Rice Cert. ประกอบด้วย

  1. ข้าว GAP ซึ่งเป็นการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวหอมมะลิไทย และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว
  2. ข้าวอินทรีย์ (ข้าว ORG) ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตาม มกษ.9000
  3. เมล็ดพันธุ์ข้าว GAP(GAP Seed) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว ตาม มกษ.4406
  4. โรงสีข้าว GMP การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว ตาม มกษ.4403
  5. ผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว (Q)
ข้าวหอมมะลิอินทรีย์สินค้าขายดี

เพื่อรองรับการให้บริการแก่หน่วยรับรอง (Certification Body : CB) และหน่วยตรวจ (Inspection Body : IB) ซึ่งเป็นเอกชนหรือมหาวิทยาลัยที่เป็น CB/IB ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ผ่านระบบ Platform as a service (Paas) ในการใช้ระบบตรวจประเมินตามมาตรฐานข้าวต่างๆ ที่อยู่ในระบบ Rice Cert. ของกรมการข้าว เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจการตรวจประเมินระบบมาตรฐานต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐไปสู่ CB/IB เอกชนหรือมหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเข้าสู่ระบบ Rice Cert. โดยเลือกระบบฐานข้อมูลตามมาตรฐานที่ต้องการ เพื่อสมัครและยินยอมปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ ได้ เพียงกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ผ่านระบบ Rice Cert. ซึ่งจะดึงข้อมูลทะเบียนราษฎร์จากกรมการปกครอง และข้อมูลทะเบียนเกษตรกรจากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อยืนยันตัวตนและข้อมูลการผลิตข้าวของตนเอง โดยเกษตรกรผู้ขอการรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐานสามารถติดตามผลการตรวจ ประเมินระดับกลุ่มและระดับแปลง และสามารถเรียกดูใบรับรองแบบออนไลน์ได้ เพื่อตรวจสอบและแสดงสถานะการรับรองกับผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่าน Mobile Application ของระบบฐานข้อมูลตามมาตรฐานต่างๆ ในระบบ Rice Cert. 

อธิบดีกรมการข้าวเยี่ยมชม โรงสีข้าว GMP ที่จังหวัดร้อยเอ็ด
อธิบดีกรมการข้าวมอบเครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้

ตรวจประเมินผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว Q

คุณประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว ได้ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อติดตามผลการตรวจ ประเมินและรับรองมาตรฐานข้าว GAP แบบกลุ่ม ของกลุ่มนาแปลงใหญ่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ร้อยเอ็ด จำกัด (สกต.ร้อยเอ็ด จำกัด) รวมทั้งการตรวจประเมินผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว Q ของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ร้อยเอ็ด จำกัด อำเภอเกษตรวิสัย

ปัจจุบันกลุ่มนาแปลงใหญ่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ร้อยเอ็ด จำกัด ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอเกษตรวิสัย มีสมาชิกจำนวน 352 ราย พื้นที่ปลูกข้าวจำนวน 7,136 ไร่ พวกเขารวมตัวกันปลูกข้าวหอมมะลิ 105 ตั้งแต่ปี 2560 เพื่อขายข้าวเปลือกให้กับ สกต.ร้อยเอ็ด จำกัด มีการรวมกลุ่มซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ กับ สกต.ร้อยเอ็ด จำกัด นอกจากนี้ มีการรวมกลุ่มกันกู้เงินโครงการ XYZ ของ ธ.ก.ส.มาใช้เป็นเงินลงทุนในการปลูกข้าวขาวดอกมะลิ 105 คุณภาพดี

โรงสีสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ร้อยเอ็ด จำกัด

กลุ่มนาแปลงใหญ่ สกต.ร้อยเอ็ด จำกัด ทำนาด้วยการใช้เครื่องหยอดข้าว และทำนาหว่านและนาดำ มีผลผลิตข้าว 400 กิโลกรัม ต่อไร่ ปัจจุบันทางกลุ่มได้ขอรับรอง GAP ทั้งหมด 10 กลุ่มย่อย ผ่านการรับรอง GAP จำนวน 6 กลุ่มย่อย จำนวน 197 ราย พื้นที่ 3,026 ไร่

ต่อมา คุณประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว ได้มอบหมายให้ คุณนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว นำคณะเจ้าหน้าที่จากกรมการข้าว ได้แก่ คุณประสงค์ ทองพันธุ์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ ผู้อำนวยการศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวและผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าว ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมด้วยคณะสื่อมวลชน เดินทางตรวจเยี่ยมสหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อตรวจประเมินโรงสีข้าว GMP ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มกษ.4403) และผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว Q ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (มกษ.4000) รวมทั้งการแสดงเครื่องหมายรับรอง GMP โรงสีข้าว ผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว Q และเครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้จากกรมการข้าว

คุณนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว เยี่ยมชมสหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด
สินค้าข้าวบรรจุถุงของสหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด

สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด เกิดจากการรวมตัวของ 4 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด สหกรณ์การเกษตรพลาญชัย จำกัด สหกรณ์การเกษตรห้วยแอ่ง จำกัด และสหกรณ์การเกษตรหลักเมือง จำกัด เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2516 ปัจจุบันสหกรณ์แห่งนี้มีพื้นที่ดำเนินการ 3 อำเภอ คือ อำเภอเมืองร้อยเอ็ด อำเภอศรีสมเด็จ และอำเภอจังหาร มีสมาชิกจำนวน 6,400 คน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา อาศัยน้ำฝนเป็นหลักและทำนาปรังบางส่วน หลังฤดูทำนา มีรายได้เสริมจากการปลูกพืชผักสวนครัว พืชไร่และรับจ้างทั่วไป

สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด มีนโยบายส่งเสริมสมาชิกปลูกข้าวให้มีคุณภาพระบบ GAP นาแปลงใหญ่และการทำนาแบบครบวงจร โดยสนับสนุนงบตรวจแปลงและตรวจสอบคุณภาพจากส่วนราชการ เพื่อผลิตข้าวที่มีคุณภาพให้กับผู้บริโภค และส่งเสริมการปลูกข้าวอินทรีย์ในระยะยาว โดยสหกรณ์จัดหาเงินทุนและปัจจัยการผลิตให้สมาชิกในลักษณะสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยและรับซื้อผลผลิตคืนในราคาสูงกว่าท้องตลาดทั่วไป

ผู้บริหารสหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด
ข้าวกล้องงอกอินทรีย์ที่ส่งขายบริษัท แอมเวย์

ข้าวเปลือกหอมมะลิที่รับซื้อจากสมาชิกจะถูกนำมาแปรรูปเป็นข้าวสารที่มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าออกจำหน่าย โดยใช้เครื่องหมายการค้า “พลาญชัย” ที่ผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานจากกระทรวงพาณิชย์ ตรามือพนมและมาตรฐานการผลิตระบบ GMP HACCP ข้าว Q อย. และ มก. (มาตรฐานโรงงาน) ทุกวันนี้ ทางสหกรณ์ได้รับเครื่องหมายข้าวพันธุ์แท้จากกรมการข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวกล้องหอมมะลิ ข้าวกล้องงอก เป็นต้น

ทางสหกรณ์มียอดขายข้าวโดยรวมประมาณ 200,000 กิโลกรัม ต่อเดือน โดยมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านห้างบิ๊กซี ห้างโลตัส ทุกสาขา นอกจากนี้ ทางสหกรณ์ยังเป็นผู้ผลิตข้าวส่งขายบริษัท แอมเวย์ มาเป็นระยะเวลานาน เป็นสิ่งรับประกันคุณภาพสินค้าและสร้างความเชื่อมั่น ในระบบคุณภาพและความปลอดภัยของข้าวไทยได้เป็นอย่างดี