กินสมุนไพรเป็นอาหาร ช่วยชะลอวัยได้อย่างไร

หลายคนไม่อยากแก่ ไม่อยากเข้าใกล้วัยชรา ต่างสรรหาวิธีการต่างๆ มากมาย ซึ่งหลายอย่างไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่หลายอย่างก็เสี่ยงอันตราย

ช่วงที่ผ่านมาหลายคนจึงหันมาพึ่งพาสมุนไพร โดยเฉพาะอาหารที่มาจากธรรมชาติกันมาก เพราะหวังว่าจะช่วยให้ชีวิตยืนยาว ปลอดโรค แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องบริโภคปริมาณ หรือขนาดเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม และก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง

เรื่องนี้ ภญ.ผกากรอง ขวัญข้าว เภสัชกรชำนาญการ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี อธิบายว่า จริงๆ เราสามารถบริโภคอาหารเพื่อดูแลสุขภาพได้ โดยหลักการแพทย์แผนไทย อย่างโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะเน้น 4 กลไก ในเรื่องของการต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสบ และช่วยเพิ่มฮอร์โมน

เนื่องจากการวิจัยในปัจจุบันพบว่า การที่ร่างกายของคนเราชราลงเกิดจาก 4 กลไกนี้ เราจึงพยายามหาสมุนไพรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ 4 กลไกนี้ ว่าจะเลือกกินเลือกใช้อย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับสุขภาพ

1.สมุนไพรต้านอนุมูลอิสระ ก็จะมี หนึ่ง-ขมิ้นชัน ที่รู้จักกันดี ซึ่งสามารถนำมาใช้ทั้งกินทั้งทาได้หมด เพราะปัจจุบันมีงานวิจัยมากมาย ช่วยในเรื่องการป้องกันตั้งแต่ก่อนเป็นมะเร็ง เพราะมะเร็งไม่ได้เกิดจากความซวย แต่เกิดจากการสัมผัสกับตัวก่อมะเร็ง หรือการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเป็นพันครั้ง คือยีนจะปรับตัวเองให้เป็นมะเร็งได้ต้องถึงพันครั้ง ดังนั้น ขมิ้นชันจะไปลดจำนวนการป้องกันการ กลายของเซลล์ให้เป็นมะเร็งนั่นเอง สอง-ดาวเรือง ก็เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่สูงเช่นกัน

2.สมุนไพรเพิ่มฮอร์โมน อย่างตดหมูตดหมา จะมีฮอร์โมนเพศชาย โดยนำมาต้มน้ำ อย่างข้าวเกรียบพองในสมัยก่อนเวลาจะย่างก็ต้องหยดน้ำตดหมูตดหมาลงไปไม่งั้นจะไม่พอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศชาย ลดการอักเสบได้ด้วย ซึ่งกินเป็นแบบวิถีชีวิต ยังช่วยระบบย่อยอาหาร เป็นไม้เลื้อยคั้นน้ำดื่มได้ ยังมีรากสามสิบด้วย

3.สมุนไพรลดการอักเสบ อย่างอังกาบหนู กลุ่มกระดูกไก่ดำ ฟ้าทะลายโจร รางจืด หนานเฉาเหว่ย เป็นต้น อย่างหนานเฉาเหว่ย หรือ ป่าช้าเหงา มีสรรพคุณลดการอักเสบได้ แต่ก็พบว่าลดน้ำตาลได้ ซึ่งที่ผ่านมามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอออกมา ว่าเจาะเลือดตอนเช้า ค่าน้ำตาลอยู่ที่ 300 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร แต่พอกินสมุนไพรตัวนี้ กิน 2-3 ใบ น้ำตาลลดลงมาก เหลือ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ต้นอังกาบหนู

“กรณีนี้มีคนแชร์กันเยอะมาก แต่ประเด็นที่เราค่อนข้างเป็นห่วง คือ ต้นนี้ตัวมันลดน้ำตาลเร็วและลดมากเกินไป เพราะสมุนไพรอื่นๆ ถ้าช่วยได้ก็ลดประมาณ 10-20 ไม่ลดถึง 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ทำให้เรากลัวว่าคนไข้ที่ไม่ได้มีน้ำตาลสูง มันจะอันตรายมาก ดังนั้น ต้องสังเกตตัวเอง และการกินสมุนไพร หากจะกินให้ป้องกันก็ต้องกินให้หลากหลาย ไม่ใช่กินอยู่อย่างเดียว

ป่าช้าเหงา, หนานเฉาเหว่ย, หนานเฟยเฉา, หนานเฟยซู่, ป่าเฮ่วหมอง, บิสมิลลาฮ (Bismillah)

ส่วนคนที่มีความเสี่ยงน้ำตาลสูง มีมะระขี้นก ช่วยได้ และไม่ได้ลงเยอะมากด้วย แต่ก็ไม่ได้ให้กินซ้ำๆ กินเยอะๆ ที่สำคัญเมื่อคนเป็นเบาหวาน หากกินสมุนไพรอะไรไป ก็ต้องระวังว่ามีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ก็ต้องระมัดระวังด้วย” ภญ. ผกากรองกล่าว

ภญ.ผกากรองกล่าวอีกว่า พื้นฐานหลักคนไข้ต้องมีความรู้เรื่องโรคที่ตัวเองเป็นก่อน ไม่ว่าจะใช้สมุนไพรอะไรก็ตาม หรือแม้แต่ยาแผนปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันเรามีคลินิกโรคเบาหวาน อย่าง รพ.อภัยภูเบศร ก็มีคลินิกนี้ เมื่อคนไข้มาเราก็จะให้ความรู้ด้วย เพื่อให้สังเกตตัวเอง แต่ปัญหาคือคนไข้หลายคนก็ไม่ค่อยสังเกตตัวเอง ทำให้ใช้กันเยอะ

แล้วจะทำอย่างไร… ภญ.ผกากรองตอบว่า คงต้องเตือนว่าการบริโภคอาหารเพื่อเป็นสมุนไพรได้นั้น ต้องไม่กินเยอะ กินนาน แต่ต้องกินอย่างหลากหลาย บางคนจะมีการเจาะเลือดตรวจค่าน้ำตาลด้วยตัวเอง ตรงนี้ก็ต้องสังเกตตัวเองว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่ อย่างหนานเฉาเหว่ย ถ้ากินแล้วรู้สึกวิงเวียน หน้ามืด ต้องหยุดกิน และต้องรีบพบแพทย์ทันที

ส่วนกลไกที่ 4.สมุนไพรเพิ่มภูมิคุ้มกัน เช่น ยอ ฟ้าทะลายโจร กระชาย หญ้าปักกิ่ง มะขามป้อม

ยอ

จริงๆ สมุนไพรมีหลายตัว แต่การจะกินก็ต้องมีความรู้ กินพอเหมาะ ซึ่งไทยควรมีระบบการตรวจสอบการใช้สมุนไพร รวมทั้งผลข้างเคียงจากการใช้ โดยต้องเป็นหน่วยตอบโต้เร็ว สามารถสื่อสารให้ประชาชนทราบได้อย่างทันท่วงที ซึ่งคงต้องหาหน่วยงานกลางมาดูแลเรื่องนี้ อย่างกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข น่าจะดำเนินการเรื่องนี้ได้ไม่มากก็น้อย