วว. จับมือ 24 ภาคีเครือข่ายเปิดตัวโครงการ Thai Cosmetopoeia สร้างคุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น

รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทย ด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น” หรือ “Thai Cosmetopoeia” และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง “นโยบายแผนการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวง อว. และภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio base) ด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม”

ซึ่ง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผนึกกำลังร่วมกับ 24 ภาคีเครือข่ายภาครัฐและเอกชน ดำเนินโครงการโดยมีเป้าหมายมุ่งคืนกำไรสู่สังคมอย่างยั่งยืน พร้อมนำร่อง 10 โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์นวอัตลักษณ์เครื่องสำอาง (innovative identity cosmetic) ที่มีความโดดเด่นและได้มาตรฐาน จากทรัพยากรฐานชีวภาพที่มีความเป็นเอกลักษณ์ในท้องถิ่นนั้นๆ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ในพื้นที่ 10 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ในวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุม Salon A โรงแรม Swissotel Bangkok Ratchada กรุงเทพฯ

ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า บทบาทของกระทรวง อว. มี 2 ภารกิจ หลักๆ แต่มีความสำคัญของประเทศอย่างมาก กล่าวคือ 1. ต้องเป็นกระทรวงที่เตรียมคนไทยไปสู่ศตวรรษที่ 21 เพื่อสร้างให้คนไทยพันธุ์ใหม่ที่พร้อมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก ก้าวต่อไปของ อว. เราต้องสร้างเทคโนโลยีของเรา เพื่อใช้กับคนและทรัพยากรในบ้านเรา สร้างการเติบโตของประเทศแบบรากแก้ว มีรากฐานที่มั่นคง ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากนอกบ้านให้น้อยลง

2. ต้องเป็นกระทรวงหลักในการปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมไปสู่ฐานนวัตกรรม (Innovation-driven economy) โดยเน้นการใช้องค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ แทนการเน้นทรัพยากรพื้นฐาน ที่นับวันจะหมดลงเรื่อยๆ เพื่อ สร้าง “ความได้เปรียบในการแข่งขัน” “สร้างมูลค่า” แทนที่จะเป็นแค่ “เพิ่มมูลค่า” เน้น “ทำน้อยได้มาก” รวมทั้งสร้างแรงงานคุณภาพ Higher skill ไม่เน้นแรงงาน (Labor intensive) ไม่ให้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

“…แนวทางการขับเคลื่อนกระทรวง อว. เน้นหนักให้นักวิจัยทำงานตอบโจทย์ภาคเอกชน สังคม และภาคประชาชนให้มากขึ้น สร้างนวัตกรรมที่ทำได้จริง สร้างธุรกิจ โดยทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ให้ทำงานเชื่อมโยงกัน มีทิศทางที่ชัดเจน ก่อให้เกิดงานวิจัยขนาดใหญ่ ที่สร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมสูงต่อประเทศ จะทำให้งานวิทยาศาสตร์มีพลังมากขึ้น สร้างความแตกต่าง และเอกลักษณ์เด่น โดยเฉพาะเอกลักษณ์ไทย นำไปผสมผสานภูมิปัญญา Local wisdom ที่ทรงคุณค่า โดยเน้นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในสู่ภายนอก ซึ่งเริ่มที่พวกเราก่อน จึงค่อยเชื่อมโยงสู่อาเซียน สู่ประชาคมโลกต่อไป ซึ่งโครงการ Thai Cosmetopoeia นำนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาผสมกับอัตลักษณ์ของทรัพยากรท้องถิ่นไทย (Innovation + Identity) ก่อให้เกิดนวัตอัตลักษณ์ขึ้นมาให้ผู้ประกอบการนำไปสร้างจุดเด่น หรือสร้างโอกาสในการแข่งขันเชิงธุรกิจ ซึ่งโครงการมีการทำงานเกือบครบทุกมิติ รวมจุดแข็งของแต่ละหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีพี่ใหญ่ในแวดวงธุรกิจมาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนด้วยและมีสถาบันการศึกษาเข้ามาเชื่อมโยงโจทย์จากท้องถิ่น ส่งต่องานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง สร้างโอกาสในการแข่งขันและสร้างการรับรู้  Concept ของโครงการนี้คือ ทุกโครงการต้องคืนกำไรสู่สังคมอย่างยั่งยืน Sustainable Creation of Shared Values เม่ื่อนำทรัพยากรไปใช้ประโยชน์ ผู้ใช้ประโยชน์จะต้องคืนหรือทดแทนให้กับทรัพยากรหรือสิ่งแวดล้อมที่ใช้ไป เพื่อเป็นต้นทุนและสร้างสมดุลอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต ก่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ทรัพยากรในท้องถิ่น ส่งผลต่อการจ้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ ลดการกระจุกตัวของแรงงานในเมืองลง เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม โครงการ Thai Cosmetopoeia ส่งผลกระทบเชิงบวกทุกมิติ หากโครงการนี้ประสบความสำเร็จคาดว่า จะช่วยให้เราหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศภายใต้ Thailand 4.0 ได้อย่างแท้จริง…”ปลัดกระทรวง อว. กล่าว

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น (Thai Cosmetopoeia)  ตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ วว. ในการวิจัยและพัฒนาด้านเครื่องสำอาง ปี 2020 มีแนวคิดนำเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของฐานชีวภาพในพื้นที่ประเทศไทยมาพัฒนา ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ผ่านการนำเสนอในรูปแบบเครื่องสำอาง เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของพื้นที่และส่งเสริมอัตลักษณ์ในระดับชาติและนานาชาติ โดยนำเรื่องราวภูมิปัญญาของท้องถิ่น อัตลักษณ์ของพื้นที่ เศรษฐกิจชุมชน บรรจุอยู่ในเครื่องสำอางแต่ละชิ้นที่ผ่านการพัฒนาเป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน

วว. ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายนำร่อง 24 หน่วยงาน ในภาคพื้นที่ระดับจังหวัด ภาคธุรกิจในพื้นที่ ภาคธุรกิจรายใหญ่ ภาคงานวิจัยและพัฒนา สถานที่ผลิตมาตรฐาน GMP ภาคการเงินทุน ภาคการตลาด ภาคสื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อผลักดันให้ผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ดังกล่าวถูกนำเสนอในระดับชาติและนานาชาติ สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางเชื่อมโยงสู่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและก่อให้เกิดการอนุรักษ์ทรัพยากรรวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ยั่งยืน

โดยมีระยะเวลาโครงการ 5 ปี มีขอบเขตความร่วมมือในการร่วมกันดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการปลูก สายพันธุ์ กระบวนการแปรรูป การสกัด การทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพและเภสัชวิทยา ของพืชเป้าหมาย เพื่อใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเวชสำอาง รวมทั้งการทดสอบประสิทธิภาพและการประเมินความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และร่วมกันสนับสนุน ผลักดัน ให้เกิดการนำผลงานวิจัยหรือผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยที่เกิดจากความร่วมมือนี้ไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์

“…ภาคีเครือข่ายนำร่อง 24 หน่วยงาน ที่ผนึกกำลังร่วมดำเนินงานกับ วว. ครั้งนี้ ได้แก่ 1. สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 2. อินฟอร์มา มาร์เก็ต 3. บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด 5. บริษัท โรงงานเภสัชอุตสาหกรรม เจเอสพี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท เอส ซี จี เคมีคอลล์ จำกัด 7. บริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด 8. มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ 9. บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด 10. สถาบันโรคผิวหนัง 11. บริษัท เอสแอนด์เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นเตอร์ไพรส์ พลับบลิค จำกัด 12. บริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 13. บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด 14. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง) 15. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ประธานกลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพ) 16. หอการค้าจังหวัดน่าน 17. หอการค้าเชียงใหม่ 18. หอการค้าแม่ฮ่องสอน 19. บริษัท นอร์ทเทอร์สยามซีดแลด จำกัด 20. บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคี (แพร่) 21. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) 22. บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด 23. บริษัท เอเดนอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และ 24. สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ความร่วมมือบูรณาการระหว่าง วว. และภาคีเครือข่าย มีความสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุน ส่งเสริม และเสริมสร้างความเข้มแข็งของด้านการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เวชสำอาง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากทรัพยากรธรรมชาติของไทย เพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนและสร้างความยั่งยืนให้กับทรัพยากรของท้องถิ่น…” ผู้ว่าการ วว. กล่าว

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า ปีแรกของการดำเนินงานโครงการ Thai Cosmetopoeia ในปี 2020 จะนำร่องในชื่อ “โครงการพัฒนานวัตกรรมเครื่องสำอางจากทรัพยากรฐานชีวภาพเอกลักษณ์ภูมิภาคไทย” ภายใต้แนวคิด “มหัศจรรย์ความงามพฤกษาสู่ธารารัตน์” โดยคัดเลือกพืชที่มีความเป็นเอกลักษณ์จากจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย จากภาคเหนือ กลาง และใต้ มาเป็นพืชหลักและนำเข้าสู่กระบวนการวิจัยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีศักยภาพในเชิงการค้า ได้แก่ 1. ใบหมี่ น่าน 2. ห้อม แพร่ 3. ครั่ง ลำปาง 4. ชาเมี่ยง เชียงใหม่ 5. บัวตอง แม่ฮ่องสอน 6. สับปะรดห้วยมุ่น อุตรดิตถ์ 7. ถั่วเหลือง อุดรธานี 8. ชะลูด ระยอง 9. มะพร้าวน้ำหอม สมุทรสงคราม และ 10. น้ำพุร้อนเค็ม กระบี่

“…คาดการณ์ว่าในปี 2562 ตลาดเครื่องสำอางในประเทศไทย จะเติบโตมากถึง 2.7 แสนล้านบาท จากปี 2560 ที่มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท (Euromonitor,2562) ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นฮับในการผลิตเครื่องสำอางที่สำคัญในอาเซียน ไม่ว่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศหรือส่งออกก็ตาม โดยมีปัจจัยการันตีคือ ความน่าเชื่อถือ กระบวนการผลิตที่ครบครันตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ และส่วนผสมจากธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์ ทำให้เครื่องสำอางที่ผลิตในไทยได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันไทยถือเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับที่ 3 ในเอเชีย รองจากญี่ปุ่นและเกาหลี และยังเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกอุตสาหกรรมหนึ่ง โดยศักยภาพของเครื่องสำอางแบรนด์ไทยนอกจากการเติบโตในประเทศแล้ว หากได้รับการผลักดัน การเสริมองค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะสามารถเข้าไปสร้างการยอมรับในตลาดโลกได้ไม่ยาก งานวิจัยและพัฒนาจากความเชี่ยวชาญของ วว. รวมทั้งศักยภาพของภาคีเครือข่ายที่ร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันสร้างการรับรู้แบรนด์ไทยในตลาดโลกให้ได้มากขึ้น…” นายสายันต์ ตันพานิช กล่าว