ที่มา | เทคโนโลยีการเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | องอาจ ตัณฑวณิช [email protected] |
เผยแพร่ |
กุยช่าย ไม่ใช่เป็นผักพื้นเมืองบ้านเรา ตามประวัติน่าจะติดเมล็ดพันธุ์มากับชนชาวจีนแผ่นดินใหญ่ที่อพยพนำเสื่อผืนหมอนใบเข้ามาในเมืองไทย จนเกิดผลิดอกออกผลแพร่หลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของตลาดสด ซึ่งเรามักนำมาประกอบอาหารหลายอย่าง กลิ่นของกุยช่ายค่อนข้างแรง มีบางคนจะไม่ชอบ และในเทศกาลกินเจ กุยช่ายเป็นผักชนิดหนึ่งในหกอย่างที่ห้ามกิน
เพราะกุยช่ายนอกจากจะนำมาทำเป็นขนมกุยช่าย ซึ่งเป็นอาหารของจีนแล้ว ยังมีผัดเต้าหู้ซึ่งจะมีส่วนประกอบของถั่วงอกและกุยช่าย อีกเมนูหนึ่งคือ ผักกุยช่ายขาว หรือดอกกุยช่ายกับหมูกรอบ ซึ่งมักจะอยู่ในร้านข้าวต้มรอบดึกแทบทุกร้าน และอีกคำถามหนึ่ง ถ้ากุยช่ายเป็นผักของจีน ทำไม กุยช่าย จึงเป็นส่วนผสมในผัดไทย ตอบได้ว่า ผัดไทย เกิดหลังกุยช่าย ส่วนผสมแทบทั้งหมด เต้าหู ถั่วงอก แม้แต่เส้นก๋วยเตี๋ยวก็เป็นของจีน ส่วนของไทยมีเพียงกุ้งแห้งเท่านั้น เมนูนี้เกิดในไทย จึงตั้งชื่อว่า ผัดไทย
กุ่ยช่าย อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการที่สูงมาก จึงทำให้กุยช่ายได้รับความนิยมในการนำมากินอย่างแพร่หลาย โดยสารอาหารสำคัญที่พบในกุยช่าย 100 กรัม ได้แก่ พลังงาน 28 กิโลแคลอรี โปรตีน 2.3 กรัม ไขมัน 0.3 กรัม คาร์โบไฮเดรต 4.1 กรัม แคลเซียม 98 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 46 มิลลิกรัม เหล็ก 1.5 มิลลิกรัม เบต้าแคโรทีน 136.79 ไมโครกรัม และเส้นใย 3.9 กรัม เป็นต้น
กุยช่าย จึงเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเมนูประจำของไทย ที่รู้จักกันแพร่หลายในปัจจุบัน มีโอกาสไปเที่ยวปากช่องคราวนี้ได้เจอ คุณวริทธิ์พล เอี่ยมสุวรรณชัย หรือ คุณนิด เจ้าของบ้านสวนขจรศักดิ์ ที่เป็นมืออาชีพในการปลูกกุยช่ายคนหนึ่ง ได้เล่าให้ฟังว่า “จากการเริ่มต้นทำงานในตำแหน่งฝ่ายผลประโยชน์ของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ตั้งแต่ ปี 2550 ด้วยดีกรีปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา พอเริ่มมีครอบครัวและลูกต้องเลี้ยงดู กลับพบว่างานประจำที่เป็นลูกจ้างไม่ได้ตอบโจทย์ของชีวิตได้ เพราะรายได้ก็ไม่พอประการที่หนึ่ง ส่วนประการที่สองเวลาสำหรับครอบครัวก็มีไม่พอเช่นกัน ประกอบกับครอบครัวทางบ้านมีอาชีพเป็นเกษตรกรอยู่แล้วด้วย จึงตัดสินใจลาออกมาทำสวนเกษตร เมื่อปี 2559”
ถามว่า มีความพร้อมแค่ไหน
ได้รับคำตอบว่า มีเงินสะสมจากการเก็บหอมรอมริบมาลงทุนเพียง จำนวน 200,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอ จึงไปกู้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาอีก 200,000 บาท รวมเป็น 400,000 บาท เพื่อทำการเกษตรตามฝัน จากพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ ได้แบ่งมาทำสวนเกษตร 10 ไร่ ส่วนที่เหลือ 10 ไร่ ยังคงทำไร่อ้อยเหมือนเดิม ในช่วงแรกทำเพียง 2 ไร่ เจอจังหวะผลผลิตดีมาก และราคาก็ดีด้วย ทำให้ปลดหนี้สินที่กู้มาภายใน 1 ปี
ปีต่อมา เห็นว่ากำไรดี จึงขยายเป็น 6 ไร่ เพราะคิดกำไรเป็นแบบคณิตศาสตร์ แต่การที่ขยายพื้นที่ทำให้ต้องจ้างแรงงานข้างนอก และการดูแลไม่ทั่วถึง ทำให้ปีต่อมาทำได้แค่เสมอทุน จึงถือเป็นประสบการณ์ที่คุณนิดนำมาเป็นบทเรียนในการทำสวนครั้งต่อไป ในปัจจุบันคุณนิดคงพื้นที่ทำสวนกุยช่ายเพียง 2 ไร่ แต่เปลี่ยนหมุนเวียนในพื้นที่ 10 ไร่ ที่กันไว้สำหรับทำสวน
วิธีการปลูกกุยช่ายใบ
กุยช่าย ที่นำมาทำพันธุ์ครั้งแรก คุณนิด ซื้อมาจากตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ตอนนั้นจะเป็นต้นพันธุ์ที่เพิ่งถอนจากแปลงมาชนิดไม่ตัดใบตัดรากแถมยังติดดินมาอีกด้วย ในราคากิโลกรัมละ 100 บาท ซื้อมาจำนวน 100 กิโลกรัม หลังจากได้เตรียมดินด้วยการไถด้วยผาล 3 และผาล 7 และตอนยกร่องก็ผสมปุ๋ยมูลสัตว์จำนวนแปลงละ 2-3 กระสอบ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ใช้คราดที่ทำขึ้นเพื่อการปลูกขีดเป็นตารางสำหรับปลูก ช่องละ 30 เซนติเมตร โดยปลูกตรงมุมที่เส้นตัดกัน ต้นพันธุ์ที่ได้มา จะต้องนำไปตัดใบและตัดรากออกเสียก่อน หลังจากนั้น แบ่งเป็นชุดละ 2 ต้น แล้วนำมาแช่เครื่องดื่มชูกำลัง 1 ฝา ต่อน้ำ 1 ลิตร แช่ไว้นาน 10-15 นาที แทนการแช่น้ำยาเร่งราก ใช้เสียมเล็กๆ ขุดดินลงไปเล็กน้อยให้แค่พอกลบโคนได้ ปลูกหลุมละ 2 ต้น ระยะห่างและระยะแถวตามรอยคราดที่ทำไว้ หลังจากนั้นก็จะโรยฟางให้ทั่วเพื่อรักษาความชื้นทั่วทั้งแปลง
การดูแล
รดน้ำด้วยสปริงเกลอร์ วันละ 3 เวลา เช้า เที่ยง เย็น ครั้งละ 3-5 นาที หลังจากนั้น 2-3 วัน จะหว่านผักพี่เลี้ยงคือ ผักสลัดหรือผักชีลงในแปลงที่ปลูกกุยช่าย เนื่องจากมีพื้นที่ว่างระหว่างต้น ทำให้มีรายได้เสริม เนื่องจากผักสลัดจะใช้เวลาเก็บเกี่ยวแค่ 45-50 วัน และยังเป็นร่มเงาให้กับต้นกุยช่ายอีกด้วย พอกุยช่ายกับผักเริ่มตั้งตัวได้ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ก็จะลดเวลารดน้ำในช่วงเที่ยงออก เหลือแค่เช้ากับเย็น
การใส่ปุ๋ยกุยช่ายจะใส่เมื่อกุยช่ายครบ 15 วัน โดยใช้ปุ๋ย สูตร 46-0-0 หรือปุ๋ยยูเรีย ด้วยวิธีหว่านแล้วรดน้ำ ก่อนที่จะใส่ปุ๋ยทุกเย็นก่อนหน้านั้นจะงดน้ำ แล้วมาใส่ปุ๋ยตอนเช้า แล้วอัดน้ำเพื่อให้ต้นดูดน้ำที่เจือจางปุ๋ยไปใช้ให้มากที่สุด และจะใส่ปุ๋ย สูตรเสมอ 16-16-16 ทุกๆ 10 วัน เมื่อกุยช่ายครบ 4 เดือน จะตัดเพื่อจำหน่ายได้ หลังจากตัดแล้วจะกำจัดวัชพืชออกด้วยการถอน จะใช้เวลาอีกประมาณ 2 เดือน ก็จะเริ่มตัดได้อีกครั้ง
กุยช่ายดอก
กุยช่ายตามท้องตลาดจะแบ่งเป็น 2 พันธุ์ คือ กุยช่ายใบ กับ กุยช่ายดอก การปลูกกุยช่ายดอก จะสลับซับซ้อนกว่า กล่าวคือ ไม่ได้ใช้ต้นปลูก เนื่องจากใบและดอกจะมีขนาดเล็ก ที่ถูกคือ จะต้องใช้เมล็ดพันธุ์ซึ่งเก็บจากต้นในสวนรุ่นต่อรุ่น ใช้เมล็ดหว่านในร่องแล้วคลุมด้วยฟาง จะใช้เวลา 15-20 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก ใช้เวลาอยู่ในแปลงเพาะ 4 เดือน ต้นจะสมบูรณ์เต็มที่ แต่ยังไม่แตกกอ ก็จะถอนต้นพันธุ์มาตัดรากและใบ ปลูกเหมือนปลูกกุยช่ายใบ จะใช้เวลาอีกทั้งหมด 4 เดือน รวมเป็น 8 เดือน จึงจะเก็บผลผลิตได้
ก็จะเริ่มเก็บได้ครั้งแรก 3-4 วันครั้ง ระหว่างนี้ก็จะปลูกผักสลัดหรือผักชีเพื่อเป็นรายได้เสริมก่อนการเก็บกุยช่าย เก็บได้ประมาณ 2 เดือน ก็จะตัดกอจำหน่ายเป็นกุยช่ายใบเป็นครั้งแรก ใช้เวลาประมาณ 15 วัน ใบและดอกก็จะเก็บได้ เก็บได้ 45 วัน รวมเป็น 2 เดือนพอดี ก็จะตัดกอจำหน่ายเป็นกุยช่ายใบ เป็นครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3-4 และครั้งที่ 5 ใบเริ่มจะน้อยและมีขนาดเล็กลง ก็จะเริ่มทำกุยช่ายขาวแทน
กุยช่ายขาว
เมื่อตัดกุยช่ายมีดที่ 4 และมีดที่ 5 ใบกุยช่ายจะมีขนาดเล็ก ไม่สามารถขายเป็นกิโลได้ ในช่วงนี้ใบจะมีขนาดเล็กจึงต้องขายเป็นเข่ง เพื่อสำหรับนำไปทำขนมกุยช่ายแทน ตอนแรกผู้เขียนเข้าใจว่า กุยช่ายขาว ทำจากกุยช่ายใบ แต่จริงแล้วทำจากกุยช่ายดอก และกุยช่ายดอกก็สามารถตัดใบขายเป็นกุยช่ายใบได้อีก เลยค่อนข้างสับสน การทำกุยช่ายขาวเริ่มจากตัดมีดที่ 5 ก็จะครอบด้วยกระถางเลย สมัยก่อนกระถางจะทำด้วยดินเผา แต่ปัจจุบันเป็นกระถางพลาสติก เมื่อครอบกระถางแล้ว ก็จะรดน้ำให้ดินนิ่ม จะต้องกดกระถางให้ปากกระถางจมดินลงไป ไม่ให้มีแสงผ่านเข้าได้
ช่วงที่ทำกุยช่ายขาวจะต้องรดน้ำให้มากกว่าปกติ เพราะกุยช่ายสามารถดูดน้ำได้ทางรากเท่านั้น ใบถูกกระถางครอบไม่สามารถสัมผัสน้ำได้เลย ในวันรุ่งขึ้นให้ใส่ปุ๋ยยูเรียรอบๆ กระถางแล้วรดน้ำ เมื่อถึงวันที่สามต้องขึงซาแรนคลุมกระถาง เพื่อป้องกันความร้อน โดยจะขึงสูงกว่ากระถางประมาณ 50 เซนติเมตร โดยใช้ไม้ตีเป็นโครงเอาแบบง่ายๆ เพราะอีก 7 วัน ก็สามารถตัดกุยช่ายขายได้แล้ว นับรวมเวลาที่ครอบจะใช้เวลาเพียง 10 วันเท่านั้น เพื่อทำกุยช่ายขาว หลังจากทำกุยช่ายขาวแล้วจะต้องเว้นระยะการทำไป 1 รุ่น คือ 2 เดือน
โดยปล่อยให้ต้นกุยช่ายเติบโตตามปกติและเก็บดอกขายไปเรื่อย พร้อมตัดกอขายเป็นกุยช่ายใบเมื่อครบ 2 เดือน หลังจากนั้น จึงสามารถทำกุยช่ายขาวได้อีก วนเวียนกันไปแบบนี้จนต้นโทรม จะทำกุยช่ายขาวต่อได้อีก 4-5 ครั้ง รวมระยะเวลาต้นกุยช่ายที่หว่านเมล็ดจนถึงรื้อแปลง จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี 6 เดือน ก็จะเริ่มปลูกกุยช่ายใหม่
ด้านตลาด
การตลาดในปัจจุบัน จะมีแม่ค้ามารับเพื่อส่งตลาดโคราชและตลาดสระบุรีอยู่ 3-4 เจ้า ผลผลิตที่สวนจะมีกุยช่ายใบ กุยช่ายเข่ง (สำหรับทำขนมกุยช่าย) และดอกกุยช่าย นอกจากนี้ ยังมีคนสั่งต้นพันธุ์กุยช่ายดอกไปปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน ทางบ้านสวนขจรศักดิ์จะส่งให้ถึงบ้านด้วยต้นพันธุ์ที่ตัดใบและรากแล้ว ประมาณ 40-50 ต้น ต่อกล่อง ในราคากล่องละ 100 บาท พร้อมค่าขนส่ง สามารถเตรียมดินแล้วปลูกได้เลย
สนใจต้นพันธุ์กุยช่าย ติดต่อ เฟซบุ๊ก ใช้ชื่อว่า บ้านสวนขจรศักดิ์ หรือ คุณนิด ที่เบอร์โทรศัพท์ 083-306-8007