ร้อนปนฝนให้ระวังโรคใบไหม้ในทุเรียน

ทุเรียน

สภาพอากาศร้อนชื้น เวลากลางวันมีแดดจัด และมีฝนตกในบางพื้นที่ช่วงนี้ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรชาวสวนทุเรียนเฝ้าระวังการระบาดของโรคใบไหม้หรือโรคใบติด สามารถพบได้ในระยะการเจริญเติบโตทางลำต้น อาการเริ่มแรกจะพบบนใบมีแผลคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ต่อมาแผลจะขยายตัวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล มีขนาดและรูปร่างไม่แน่นอน จากนั้นจะลุกลามไปยังใบปกติข้างเคียง กรณีที่มีความชื้นสูงเชื้อราสาเหตุโรคจะสร้างเส้นใยคล้ายใยแมงมุมยึดใบให้ติดกัน ใบที่เป็นโรคจะแห้งติดอยู่กับกิ่งก่อนหลุดร่วงไปสัมผัสกับใบที่อยู่ด้านล่าง ทำให้โรคระบาดลุกลามจนใบไหม้เห็นเป็นหย่อมๆ ใบแห้งติดกันเป็นกระจุกแขวนค้างตามกิ่ง ต่อมาใบจะร่วงจนเหลือแต่กิ่ง และกิ่งแห้งในที่สุด ทำให้ต้นทุเรียนเสียรูปทรง

สำหรับแนวทางในการป้องกันโรคใบไหม้ เกษตรกรควรหมั่นตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของโรคใบไหม้ ให้เกษตรกรตัดส่วนที่เป็นโรคและเก็บเศษพืชที่เป็นโรคและใบที่ร่วงหล่นนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก เพื่อลดปริมาณเชื้อสะสมในแปลง จากนั้น ให้เกษตรกรพ่นที่ใบให้ทั่วทั้งต้นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชทีบูโคนาโซล + ไตรฟลอกซีสโตรบิน 50% + 25% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารเพนทิโอไพแรด 20% เอสซี อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารฟลูไตรอะฟอล 12.5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

หรือสารเฮกซะโคนาโซล 5% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 65.2% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคอปเปอร์ออกซีคลอไรด์ 85% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคอปเปอร์ไฮดรอกไซด์ 77% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคิวปรัสออกไซด์ 86.2% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 10-20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ทุก 7-10 วัน

ส่วนในแปลงปลูกที่มีความชื้นสูง และมีการระบาดของโรคเป็นประจำ หลีกเลี่ยง การใส่ปุ๋ยที่มีไนโตรเจนสูง เพื่อลดการแตกใบของต้นทุเรียน จากนั้น ให้เกษตรกรตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่งและกำจัดวัชพืชในแปลงปลูก เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก และช่วยลดความชื้นสะสมในแปลงปลูก อีกทั้งควรทำความสะอาดอุปกรณ์การเกษตรเมื่อใช้กับต้นที่เป็นโรคก่อนนำกลับมาใช้ใหม่ทุกครั้ง