ผู้เขียน | อดุลย์ศักดิ์ ไชยราช |
---|---|
เผยแพร่ |
ในบรรดาพืชผักสวนครัวทั้งหลาย ที่มีอายุยืนกว่าใคร เห็นจะมี “มะเขือพวง” พืชที่เป็นผักตระกูลมะเขือนี่แหละ หลายบ้านมีปลูกไว้ในสวนหลังบ้าน ออกดอกให้ลูกให้ผลตลอดปี แต่ติดมากในช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศกำลังเหมาะ นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของน้ำพริกกะปิ ใส่แกงเผ็ด แกงแค ต้ม นึ่ง เป็นผักเคียงกับน้ำพริกเผา หรือย่างไฟ กินกับลาบ ก้อย พล่า ส้า ยำ กินเป็นยารักษาหลายโรค บำรุงร่างกาย คนกินอายุยืนยาว ปลูกขายได้ราคาดี มีปลูกกันทั่วประเทศไทย รวมถึงเพื่อนบ้านหลายแหล่งหลายเมือง
“มะเขือพวง” หรือชื่อสามัญ Turkey berry หรือ Wild eggplant หรือ shoo-shoo bush
เป็นพืชในวงศ์ SOLONACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solonum torvum Swartz
เป็นไม้อายุข้ามปี ไม้กลางแจ้ง ทนแล้งได้ดี เป็นไม้พุ่มเตี้ย 1-2 เมตร รูปทรงพุ่มไม่แน่นอน ต้นตั้งตรง แข็งแรง แตกกิ่งก้านสาขามากเกะกะ มีขนปกคลุม มีหนามเล็กๆ โผล่ขึ้นห่างๆ ทั่วทั้งต้น กิ่ง ก้าน และใบ ออกดอกออกผลฤดูฝน แต่ถ้าดูแลรักษาดีๆ มีการบำรุงปุ๋ยคอก หรือกวาดเศษใบ ดายหญ้า คลุมโคนต้นหน้าแล้ง พรวนดินให้บ้าง ให้น้ำพอเหมาะ สามารถออกดอกให้ผลได้ทั้งปี ขนที่ขึ้นทั่วต้น มีอันตรายต่อคน ทำให้เกิดผื่นคันผิวหนังเมื่อสัมผัส แต่เป็นผลดีกับต้นมะเขือพวง เป็นเกราะป้องกันศัตรูได้ดี ไม่ว่าเชื้อโรค แมลง แม้แต่สัตว์บางชนิด ใบมะเขือพวง แรกเริ่มออกงอกจากเมล็ด ต้นเล็กๆ มีใบเลี้ยง 2 ใบ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ เหมือนมะเขือทั่วไป โตขึ้นมีใบจริงที่กว้าง รูปห้าเหลี่ยม ถึงเจ็ดเหลี่ยม ยาว 4-8 นิ้ว โคนใบเว้า ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเว้าตื้น ใบอ่อนนุ่ม บาง ฉีกขาดง่าย เห็นเส้นใบชัดเจนด้านท้องใบ ดอกออกเป็นช่อหรือกระจุก ตามง่ามใบและปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาว โคนกลีบติดกันเป็นกรวย กลีบเลี้ยงสีเขียว มี 5 กลีบ เกสรสีเหลือง ออกเป็นหลอดกลางดอก ติดผลรูปร่างกลม ผิวเรียบ เส้นผ่าศูนย์กลางผลประมาณ 1 เซนติเมตร ออกเป็นช่อ หรือเป็นพวง ช่อพวงละ 7-15 ผล มีก้านผลและฐานรองผล งดงามมาก ในผลมีเมล็ดมากมายหลายสิบเมล็ด บ่งบอกถึงอัตราความสามารถในการเจริญพันธุ์ พร้อมที่จะขยายพันธุ์แพร่ลูกหลานได้มากมาย และได้ต้นพันธุ์เดิมอย่างดีเยี่ยม
มะเขือพวง มีชื่อเรียกตามท้องถิ่นต่างๆ ภาคเหนือ เรียก มะแคว้ง มะแคว้งกุลา ภาคอีสาน เรียก มะเขือละคร หมากแค้ง ภาคใต้ เรียก มะแว้ง มะแว้งช้าง แว้งช้าง ลูกแว้ง เขือพวง เขือน้อย เป็นพืชที่ใช้เป็นผักเช่นเดียวกับมะเขือทั่วไป ทนทานต่อโรคและการทำลายของแมลงศัตรูพืช ปลอดภัยจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ผู้บริโภคมีความมั่นใจ อาหารที่นิยมใช้มะเขือพวงเป็นส่วนประกอบ และนิยมกันมานานมาก เช่น แกงเขียวหวานไก่ แกงป่า แกงคั่ว แกงแค แกงเผ็ดเนื้อ อ่อมปลาดุก น้ำพริกกะปิ น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกไข่เค็ม ปลาร้าทรงเครื่อง แจ่วบอง ลวกจิ้มน้ำพริกอ่อง เผาแกล้มลาบปลา ลาบขม ใส่ส้มตำ ยำมะถั่วมะเขือ ฯลฯ อาหารไทยที่มีมะเขือพวงเป็นส่วนประกอบล้วนอร่อย และมากมายด้วยคุณค่า ตามวัฒนธรรมอาหารไทย ที่ไม่ว่าชนชาติไหนได้ลิ้มรสแล้ว ติดใจกันทุกคน
จากการวิจัยของนักวิชาการด้านโภชนาการ พบว่า มะเขือพวง 100 กรัม ให้พลังงาน 24 กิโลแคลอรี ประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต 5.7 กรัม น้ำตาล 2.35 กรัม เส้นใยอาหาร (Fiber) 3.4 กรัม ไขมัน 0.19 กรัม โปรตีน 1.01 กรัม วิตามินบี 1 (ไทอะมีน) 0.099 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) 0.037 มิลลิกรัม วิตามินบี 3 (ไนอะซิน) 0.649 มิลลิกรัม วิตามินบี 5 (กรดแพโทเทนิก) 0.281 มิลลิกรัม วิตามินบี 6 (ไพริด็อกซิน) 0.84 มิลลิกรัม วิตามินบี 9 (กรดโฟเลต) 22 ไมโครกรัม วิตามินซี 2.2 มิลลิกรัม แคลเซียม 9 มิลลิกรัม เหล็ก 0.24 มิลลิกรัม แมกนีเซียม 14 มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส 25 มิลลิกรัม โพแทสเซียม 230 มิลลิกรัม สังกะสี 0.16 มิลลิกรัม แมงกานิส 0.25 มิลลิกรัม
ธาตุและสารอาหารต่างๆ ที่มะเขือพวงมีอยู่ ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย เป็นทั้งอาหารไทยที่แสนอร่อย กินข้าวได้ เจริญอาหาร และมีสรรพคุณทางยา ทั้งบำรุง รักษาอาการผิดปกติของร่างกายเราได้ เป็นต้นว่า มีสารโซลามิโน ป้องกันการเกิดมะเร็ง สารทอร์โวไซด์ เอ.เอช. ต้านไวรัสเริม สารทอร์โวนิน บี มีฤทธิ์ขับเสมหะ สารเพกติน ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ชะลอการไหลของอาหารที่ย่อย ดูดซึมแป้งและน้ำตาล ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ ดูดซับแป้งและน้ำตาลส่วนเกิน รักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ลดปัญหาเกล็ดเลือด ต้านอนุมูลอิสระ เป็นยารักษาโรคทั่วไป เช่น โรคซิฟิลิส ลดไข้ ลดความเครียด ระงับประสาท ป้องกันความเสื่อม ชะลอความแก่ ลดคอเลสเตอรอล เลือดในกายหมุนเวียนดี ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด ขับเหงื่อ แก้อาการชัก แก้ไอ ไอเป็นเลือด ภูมิแพ้ รักษาแผลในกระเพาะ ภูมิคุ้มกันในลำไส้ ป้องกันสารพิษในระบบอาหาร
แท้ที่จริง มะเขือพวง เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดจากรัฐฟลอริดา ถึงหมู่เกาะเวสต์อินดีส เม็กซิโก อเมริกากลาง อเมริกาใต้ แถบประเทศบราซิล เป็นวัชพืชที่ขึ้นอยู่ทั่วไป ตามป่าละเมาะ แพร่ขยายออกมาหลายทิศทาง จนถึงแถบเอเชีย ลักษณะรูปทรงผล พวง น่ากิน รสชาติออกรสขมนิดๆ กลิ่นหืนขื่นคาวหน่อย แต่ถูกปากคนไทยยิ่งนัก เมื่อโดนความร้อน ลวก ต้ม ย่าง เผา ใส่แกง รสชาติเปลี่ยนเป็นหวาน เด็ดมาใช้เป็นช่อพวง ใช้น้อยก็เลือกตัดมาช่อหนึ่ง ใช้มากก็ตัดมาหลายช่อ พอสำหรับใช้ประกอบอาหาร ใบสดเป็นยา ต้น ราก เป็นยาต้มสมุนไพร ประโยชน์มากมายเหลือเกิน มะเขือพวงจึงเป็นพืชที่ทรงคุณค่า ควรค่าแก่การปลูกไว้คู่บ้านคู่ครัวไทยตลอดไป