ปิดทองหลังพระฯ ยกระดับงาน เผยแผน 5 ปีข้างหน้า ใช้แนวพระราชดำริช่วยเสริมความมั่นคงชายแดน

คณะกรรมการสถาบันปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ มีมติให้ขยายการทำงานไปใช้แนวพระราชดำริ ช่วยแก้ปัญหาความมั่นคงตามชายแดนภาคเหนือและภาคใต้ พร้อมพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เปิดเผยว่า ได้ร่วมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในอนาคตให้ตอบความต้องการของประเทศ ภายหลังการร่วมกันทำงาน ได้พัฒนาเป็นแผนงานของมูลนิธิและสถาบันปิดทองหลังพระฯ ระยะที่สาม (2564-2568) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของสถาบัน โดยมีสาระสำคัญ คือการนำแนวพระราชดำริไปช่วยแก้ไขปัญหาความมั่นคง ประกอบด้วยชายแดนภาคเหนือด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อแก้ปัญหายาเสพติด และชายแดนภาคใต้ด้านการพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน

“ปัญหาความมั่นคงชายแดนใต้มีมายาวนานและประชาชนได้รับความทุกข์ เราพบว่าประชาชนมีความต้องการอย่างมากในการพัฒนาการทำมาหากิน ในขณะที่ทางภาคเหนือเป็นทางผ่านของยาเสพติดเข้าสู่ประเทศ ซึ่งหากประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ก็จะไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นการช่วยลดด้านอุปสงค์”

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา กล่าวว่า จากการทำงานที่ผ่านมาทั้งในภาคเหนือและภาคใต้ พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน กล่าวคือปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับชุมชนในการวิเคราะห์ปัญหา วางแนวทางแก้ไขและพัฒนา จนนำมาสู่การทำเกษตรแนวใหม่ ส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนางานหัตถกรรม ซึ่งทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นตามลำดับ

“ตัวอย่างเช่นในพื้นที่ภาคใต้สามจังหวัดชายแดน มีทั้งเรื่องสินค้าเกษตรราคาต่ำ พื้นที่แห้งแล้ง ซึ่งสิ่งที่ชาวบ้านขาดแคลนมีอย่างเดียวคือความรู้ในการแก้ไขและการบริหารจัดการ พอชักชวนกันสร้างฝาย ก็ทำให้มีน้ำมาทำเกษตรได้อย่างพอเพียง หรือทุเรียนต้นเก่า พอชักชวนไปฝึกอบรมทางภาคตะวันออก ก็สามารถทำให้คุณภาพทุเรียนดีขึ้น จากที่เคยขายได้กิโลกรัมละ 60 บาท ก็มาขายคัดเกรด ราคาเฉลี่ยดีสุดอยู่ที่ประมาณ 90 บาท”

ในปัจจุบัน ปิดทองหลังพระฯ มีโครงการและกิจกรรมดำเนินอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้รวม 7 หมู่บ้าน ครอบคลุมทั้งด้านแหล่งน้ำ การเกษตร และหัตถกรรม ในขณะที่ชายแดนภาคเหนือ มุ้งเน้นการอบรมผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามแนวชายแดน เพื่อส่งเสริมให้พัฒนาพื้นที่ตามแนวพระราชดำริ โดยมีการอบรมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปแล้ว 83 แห่ง

นอกเหนือจากการมุ่งเน้นงานในพื้นที่ชายแดนเหนือและใต้ คณะกรรมการปิดทองหลังพระฯ ยังกำหนดนโยบายให้ส่งเสริมพื้นที่ต้นแบบในปัจจุบันใน 6 จังหวัด ได้แก่ น่าน อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุทัยธานี และเพชรบุรี ไปสู่ความยั่งยืน พึ่งพาตนเองได้ตามแนวพระราชดำริ ตลอดจนเผยแพร่ประสบการณ์ทำงานเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง

ปิดทองหลังพระฯ ยังจะร่วมในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนอกเขตชลประทานตามมติคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ โดยได้รับความสนใจร่วมมือจากสมาคมองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ทั้งสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทยและสมาคมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน แห่งประเทศไทยที่จะร่วมกันพัฒนาแหล่งน้ำในโครงการอันเนื่องมาจากรพระราชดำริประมาณ 1,317 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดเล็กที่กรมชลประทานถ่ายโอนให้ท้องถิ่นดูแลประมาณ 17,197 แห่ง ซึ่งจะเริ่มต้นจากการร่วมมือสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนการพัฒนาต่อไป

ในช่วงเวลา 9 ปีนับจากการก่อตั้งมูลนิธิและสถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้พัฒนาโครงการต้นแบบในทุกภาค มีการพัฒนาแหล่งน้ำด้วยงบประมาณรวม 961.6 ล้านบาท ทำให้เกิดพื้นที่รับน้ำเพิ่มขึ้น 275,107 ไร่ และประชาชน 79,022 ครัวเรือนได้รับน้ำเพียงพอต่อการทำเกษตร ประชาชน 4,536 ครัวเรือนในพื้นที่ต้นแบบ จังหวัดน่าน ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ อุทัยธานี เพชรบุรี มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการประกอบอาชีพ 2,308 ล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าจากงบพัฒนา