“ดอยตุง” 2560 โฟกัสธุรกิจ จับมือพันธมิตรมุ่งสู่ SDGs

“คุณหญิงพวงร้อย ดิศกุล ณ อยุธยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองเลขาธิการ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงวิสัยทัศน์การพัฒนาโครงการดอยตุง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในปี 2560 ว่า จะทำงานเชิงรุกทั้งด้านธุรกิจเพื่อสังคม ภายใต้แบรนด์ “ดอยตุง” และการพัฒนาสังคม อาชีพ การศึกษา ให้กับชุมชนรอบพื้นที่ดอยตุง

“ปีนี้ตั้งใจจะขยายผลงานด้านการศึกษาเยาวชนชาวเขาในโรงเรียนรอบพื้นที่ดอยตุงให้อ่านออกเขียนภาษาไทยได้มากขึ้น ตามพระกระแสรับสั่งของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ”

“คุณหญิงพวงร้อย” กล่าวว่า ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ดอยตุง” ที่มีทั้งงานหัตถกรรม, เซรามิก, กาแฟ และแมคาเดเมีย รวมทั้งการท่องเที่ยว ได้กำหนดทิศทางให้ชาวบ้านร่วมเป็นเจ้าของธุรกิจ และเพิ่มพันธมิตรกับมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาเทคนิค และนวัตกรรมการผลิตงานหัตถกรรมให้มีคุณภาพ คงทน เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น พร้อมกับการแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดความรู้กับคู่ค้าอย่างกลุ่มอิเกีย ประเทศสวีเดน และร้านมูจิ ในประเทศญี่ปุ่นด้วย

“ปีที่ผ่านมาเรามีจำนวนการขายเพิ่มขึ้นกับอิเกีย แต่กำไรภาพรวมของธุรกิจไม่ได้มากนัก เรามุ่งไปสู่การเป็น Social Enterprises-(SE) ธุรกิจเพื่อสังคม มากกว่าในส่วนงานเซรามิกและหัตถกรรม สำหรับในส่วนของกาแฟ ปีนี้เป็นปีที่สองที่เราพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ และได้ผู้เชี่ยวชาญมาจากญี่ปุ่น และจากอิเกียมาร่วมทำงานกับคนของเรา ซึ่งกำไรส่วนหนึ่งคือความรู้ที่ชาวบ้านได้รับ”

นอกจากนี้มีการขยายพื้นที่ปลูกกาแฟ ในจังหวัดน่าน และประเทศเมียนมา ซึ่งได้ผลการผลิตคุณภาพดีใกล้เคียงกับผลิตในดอยตุง จังหวัดเชียงราย สอดคล้องกับความต้องการผลิตกาแฟระดับพรีเมี่ยม ซึ่งต้องมีกระบวนการถ่ายทอดความรู้ให้กับชาวบ้านที่เป็นพันธมิตร เช่น กาแฟที่ดอยผาฮี้ ซึ่งบางส่วนเป็นสมาชิกในการส่งเมล็ดกาแฟคุณภาพได้มาตรฐาน GI ให้กับดอยตุง

“เราตั้งเป้าให้ดอยตุงเป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านกาแฟ ในอีก 2-5 ปีข้างหน้า ตั้งใจจะโฟกัสธุรกิจกาแฟ เพราะนอกจากจะได้ช่วยสมาชิกที่เป็นผู้ปลูก กลุ่มชาวเขาแล้ว ยังเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับตลาดและคนรุ่นใหม่ โดยยังคำนึงถึงความสุขคือความสำคัญของธุรกิจเพื่อสังคม”

สำหรับกิจการด้านการท่องเที่ยวของดอยตุง “คุณหญิงพวงร้อย” กล่าวว่า ในปี 2560 เป็นปีที่ 3 ที่มีการจัดการแสดงสินค้า-อาหาร และงานหัตถกรรม ของกลุ่มชาวเขา วิสาหกิจชุมชน ภายใต้ชื่องานเทศกาล “ดอยตุง สืบสาน บันดาลใจ” โดยคัดสินค้าคุณภาพมาจำหน่าย สร้างรายได้ให้ชาวบ้านปีละกว่า 6-7 ล้านบาท ในช่วงเวลาการจัดงานราว 27 วัน (3 ธ.ค. 59-29 ม.ค. 60)

นอกจากนั้น โรงแรมดอยตุง ลอดจ์ ได้ให้บริการข้าราชการ นักท่องเที่ยว ที่จองเข้ามาฝึกอบรม และมีการจัดค่ายเยาวชน ปีละ 4 ครั้ง ปี 2560 ภาพรวมกิจการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นราว 20% ส่วนหนึ่งมาจากยอดผู้เข้าพัก และนักเดินทางที่เข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เพราะเป็นพื้นที่ในความทรงจำ รับรู้ว่าเป็นพื้นที่ทรงงานของสมเด็จย่า และในหลวงรัชกาลที่ 9

ขณะที่ “ม.ล.ดิศปนัดดา ดิศกุล” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวว่า การท่องเที่ยวบนดอยตุง เราใช้คอนเซ็ปต์ “แหล่งท่องเที่ยวเชิงองค์ความรู้” ด้วยการสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ในปีนี้มีเปิดบริการ “Tree Top Walk” หรือสะพานเรือนยอดไม้ ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมจองคิวเข้าชมวันละจำนวนมาก ตรงนี้เรามีการแทรกความรู้ทั้งเรื่องป่าดั้งเดิม แปลงกาแฟ เพื่อให้มองเห็นพื้นที่สร้างอาชีพของชาวเขาด้วย

“ม.ล.ดิศปนัดดา” กล่าวด้วยว่า ในปีต่อ ๆ ไปจะพยายามสร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น นอกจากจะให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมที่เป็นพระจริยวัตรของสมเด็จย่า เช่น การปั้นเซรามิก การเพนต์ จาน ชาม แก้ว การเก็บดอกไม้จากสวน มาทำโปสต์การ์ด ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าด้านจิตใจแล้ว ยังมีกิจกรรมผจญภัย เช่น การเดินป่า Trail Nature, การเปิดฟาร์มตัวอย่าง ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าชม

“ปีนี้มีความภูมิใจกับบรรยากาศของงานเทศกาลดอยตุง สืบสาน บันดาลใจมาก ทั้งด้านคุณภาพ ความตั้งใจ ด้วยการนำเสนอรายละเอียดวิถีชีวิต อาหาร สินค้า ของชนเผ่า การเข้าพักในโรงแรมดอยตุง ลอดจ์ ที่เป็นโรงแรมกรีนบนยอดดอย ในอนาคตจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทุกคนพลาดไม่ได้”

สำหรับแผนที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวเข้าชมดอยตุงตลอดทั้งปีรวมทั้งช่วงโลว์ซีซั่นโดยเฉพาะในฤดูฝนนั้นอาจจะมองหาลูกค้ากลุ่มตะวันออกกลาง เพราะกลุ่มนี้ชอบฤดูฝน และอาจเพิ่มกลุ่มค่ายเยาวชน เป็นกลุ่มค่ายเด็กจากต่างประเทศมากขึ้น เช่น กลุ่มเยาวชนจากฮ่องกง, สิงคโปร์ เป็นต้น

“ม.ล.ดิศปนัดดา” ตั้งเป้าหมายธุรกิจของดอยตุงว่า นอกจากการเป็น SE หรือธุรกิจเพื่อสังคมแล้ว ยังอยากพัฒนาองค์กรให้ไปถึงเป้าหมายของ Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อให้เป็นธุรกิจที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยวัฒนธรรมขององค์กรดอยตุงขณะนี้อยู่ในช่วงการปรับฐานให้ครบเครื่องทั้งการเรียนรู้-ถอดองค์ความรู้ และมีการเรียนรู้ใหม่ หรือ Learn-Unlearn-Relearn ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนาธุรกิจทั้งนั้น เพื่อสร้างความยั่งยืนไปสู่อนาคต