วว.เปิดโครงการ “มัคคุเทศก์จิตอาสา” สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดโครงการ “มัคคุเทศก์จิตอาสา” รุ่นที่ 1 คัดเลือก 30 เยาวชนจากโรงเรียนไตรรัตน์วิทยาคาร…สถานศึกษาใกล้สถานีวิจัยลำตะคอง วว. จังหวัดนครราชสีมา เป็น “มัคคุเทศก์” นำชมอาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 และเรือนกระจกหลังที่ 2 เปิดหลักสูตรเสริมทักษะด้านการสื่อสาร บทบาทภารกิจสถานีฯ องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ พฤกษศาสตร์ หวังสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ช่วยบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า โครงการ “มัคคุเทศก์จิตอาสา” เป็นโครงการหนึ่งภายใต้โครงการความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ของ วว. มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดความรู้ สร้างความเข้าใจให้แก่เยาวชนโดยรอบสถานีวิจัยลำตะคอง สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมอาคารเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เรือนกระจกหลังที่ 1 และเรือนกระจกหลังที่ 2 รวมถึงเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนรอบข้างสถานีวิจัยลำตะคอง ในการประชาสัมพันธ์สถานีวิจัยลำตะคอง ตลอดจนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของ วว. ในการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

“…วว. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงเรียนไตรรัตน์วิทยาคาร คัดเลือกเยาวชนจำนวน 30 คน เพื่อร่วมกับกิจกรรมภายใต้โครงการ “มัคคุเทศก์จิตอาสา” โดย วว. มุ่งเน้นพัฒนากระบวนการเรียน เสริมความรู้ให้กับเยาวชน การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ความรู้เกี่ยวกับการเป็นจิตอาสา การพัฒนาตนเองด้านบุคลิกภาพและเทคนิคการพูด รวมถึงฝึกการนำชมอาคารเฉลิมพระเกียรติ เรือนกระจกหลังที่ 1 และเรือนกระจกหลังที่ 2 ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านด้านพฤกษศาสตร์ เกษตรศาสตร์ กีฏวิทยา การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และความสัมพันธ์ของแมลงกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม วว.หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนจะได้รับความรู้และเปิดโลกทรรศน์ในมุมมองต่างๆ นับเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยสร้างทรัพยากรบุคคลให้เติบโต เป็นพลเมืองที่ดี ช่วยบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและส่วนรวมต่อไป…” ผู้ว่าการ วว.กล่าวเพิ่มเติม

อนึ่งสถานีวิจัยลำตะคอง เป็นหน่วยงานในสังกัดศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ตั้งอยู่ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านพฤกษศาสตร์ เกษตรศาสตร์ กีฏวิทยา การอนุรักษ์พันธุกรรมพืช และความสัมพันธ์ของแมลงกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งจะเป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงความหลากหลายทางชีวภาพด้านพืชที่ถูกต้องตามหลักวิชาการสากล สถานีฯ นับเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช การวิจัยต่อยอดบนองค์ความรู้ของเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bio-economy) เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน