สร้าง “ธนาคารน้ำใต้ดิน” ฝากน้ำกับดิน แก้ปัญหา น้ำท่วม-ภัยแล้ง ในแปลงไร่นา (ตอนจบ)

(อ่านตอนแรก คลิก!)

ฉบับที่แล้ว เล่าเรื่อง บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) พาผู้นำป่าชุมชน จาก 10 จังหวัด ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมกิจกรรม “สัมมนาเครือข่ายผู้นำป่าชุมชนกล้ายิ้ม” รุ่นที่ 21 ภายใต้ โครงการ “คนรักษ์ป่า ป่ารักชุมชน” เพื่อศึกษาเรียนรู้วิธีการจัดการน้ำในรูปแบบต่างๆ ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ

รวมทั้งนวัตกรรม “ธนาคารน้ำใต้ดิน (Groundwater Bank)” ของ หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ ซึ่งใช้หลักการเติมน้ำไปเก็บในชั้นใต้ดิน โดยขุดบ่อในบริเวณพื้นที่น้ำท่วม น้ำขัง น้ำหลาก หรือจุดรวมของน้ำเพื่อกักน้ำให้ซึมลงไปชั้นหิน เป็นการพักน้ำรวมไว้เหมือนธนาคาร อีกวิธีคือ การใช้เศษไม้ ขวดแก้ว เศษอิฐ กรวด หิน หรือวัสดุที่มีในท้องถิ่นมาถมในบ่อเพื่อแทนที่น้ำ ให้น้ำล้นออกมาใช้ได้เร็วขึ้นเมื่อน้ำใต้ดินมีปริมาณมากพอ แนวคิดนี้เป็นเสมือนการออมหรือกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้ง หรืออุ้มน้ำในยามน้ำหลาก นับเป็นตัวอย่างของการบูรณาการความรู้ทางวิชาการและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถใช้บริหารจัดการน้ำได้อย่างยั่งยืน

ธนาคารน้ำใต้ดิน มี 2 รูปแบบ

ดร. เร่งรัด สุทธิสน ผู้อำนวยการสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ กล่าวว่า หลักการธนาคารน้ำใต้ดิน มี 2 รูปแบบ คือ

  1. ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด สำหรับใช้แก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง สามารถนำน้ำมาใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตร เพื่อการอุปโภคบริโภคและภาคอุตสาหกรรมทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
  2. ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด ใช้แก้ไขปัญหาการระบายน้ำ น้ำเน่าเสียทั้งในครัวเรือนและพื้นที่การเกษตร

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด มีหลักการสำคัญคือ พยายามเก็บน้ำไว้ใต้ดิน ทะลุชั้นดินเหนียวถึงชั้นหินอุ้มน้ำที่ต่อเชื่อมกับชั้นน้ำบาดาล วิธีนี้จะเก็บน้ำได้ปริมาณมาก เพราะสามารถกระจายน้ำไปได้ทั่ว โดยไม่มีขีดจำกัด ระบบนี้สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้จากบ่อกักเก็บและส่งน้ำหรือจากบ่อน้ำบาดาล วิธีนี้เหมาะสมกับพื้นที่เกษตรกรรม เนื่องจากสามารถสูบน้ำจากบ่อมาใช้ได้โดยไม่หมด เมื่อปริมาณน้ำลดลง น้ำจากใต้ดินก็จะซึมซับกลับเข้ามาเติมเต็มปริมาณน้ำในบ่อให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ ที่ผ่านมามักเลือกทำบ่อระบบเปิดโดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ แก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำเค็ม

วิธีการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด คือ การขุดบ่อน้ำหรือสระน้ำให้ได้ความลึกทะลุผ่านชั้นดินเหนียวถึงชั้นหินอุ้มน้ำ เพื่อให้หินอุ้มน้ำสามารถดูดซับน้ำลงสู่ชั้นใต้ดิน ขนาดของบ่อจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และลักษณะการใช้ประโยชน์ของน้ำจากบ่อ ระดับความลึกของการขุดบ่อในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน จะขึ้นอยู่กับสภาพดินและชั้นหิน ซึ่งโดยหลักการให้เป็นไปตามหลักอุทกธรณีวิทยา แต่ต้องขุดลึกให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ

ดร. เร่งรัด สุทธิสน บรรยายการทำธนาคารน้ำใต้ดิน

จากต้นแบบระบบบ่อเปิดของสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณได้ขุดบ่อให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ โดยประมาณความลึก 7-15 เมตร เช่น การขุดบ่อเปิดในลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้าให้มีขนาดความกว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 7-12 เมตร หรือการขุดบ่อเปิดในลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัส ให้มีขนาดกว้าง 40 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 7-12 เมตร

แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ลักษณะการขุดสระต้องให้มีความลาดชัน 45 องศา ปากบ่อกว้างกว่าก้นบ่อ การขุดบ่อในลักษณะลาดชันเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้น้ำในบ่อไหลลงสู่ก้นบ่อโดยมีแรงกดของมวลน้ำลงไปยังชั้นหินอุ้มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้น้ำไหลซึมลงสู่หินอุ้มน้ำได้อย่างรวดเร็ว โดยการขุดบ่อระบบเปิดนี้ไม่ควรปั้นดินรอบๆ บ่อ เพราะจะส่งผลกีดขวางทางน้ำที่จะไหลลงสู่บ่อ ทั้งนี้รูปแบบและขนาดของบ่อต้องออกแบบตามบริบทด้านภูมิศาสตร์ของพื้นที่ คำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่และการใช้ประโยชน์ การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบบ่อเปิดที่เป็นการขุดบ่อใหม่ ไม่ใช่การปรับสระน้ำเก่าที่มีอยู่เดิม การวางตำแหน่งของบ่อใหม่ควรจะต้องให้ตั้งฉากหรือขนานกับทิศตามแนวทิศเหนือ-ใต้ และทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก เพราะจะช่วยให้การเติมน้ำลงชั้นใต้ดินได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด

การขุดบ่อกักเก็บน้ำตามระบบบ่อเปิดของธนาคารน้ำใต้ดินที่จะได้ประสิทธิภาพสูงสุดในการบริหารจัดการน้ำนั้น ควรออกแบบทำระบบบ่อเปิดใหม่ที่มีความเหมาะสมตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ทั้งเชิงพื้นที่และทิศ แต่อาจต้องใช้งบประมาณสูง เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางการปรับสภาพบ่อเดิมหรือสระน้ำเดิม ให้สามารถใช้งานได้ตามระบบธนาคารน้ำใต้ดิน

โดยหลักการแล้ว การขุดบ่อระบบเปิดที่จะให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ต้องทำเป็นกลุ่มบ่ออย่างน้อย 3 บ่อ โดยแต่ละบ่อห่างกันประมาณ 1,000-1,500 เมตร บ่อเปิดของธนาคารน้ำใต้ดินจะมีหน้าที่เติมน้ำลงดินในระดับชั้นหินอุ้มน้ำเพื่อให้น้ำที่เติมลงไปสามารถเชื่อมประสานเสริมกันในระหว่างบ่อที่ขุดไว้ทั้ง 3 บ่อ เป็นการกระจายน้ำลงใต้ดินให้ทั่วถึงกันในระดับชั้นหินอุ้มน้ำ

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด ที่จังหวัดชัยภูมิ

และในขณะเดียวกัน น้ำจากใต้ดินก็จะซึมผ่านขึ้นมาเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อหรือสระให้มีน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ให้แห้ง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้โดยตรง ทั้งนี้ หากมีการออกแบบบ่อเปิดอย่างเหมาะสมตามระบบบริหารจัดการน้ำของธนาคารน้ำใต้ดิน จะช่วยเสริมให้น้ำในบ่อหรือสระมีเพียงพอตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง จะไม่เกิดปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างแน่นนอน ขอแนะนำอีกประการหนึ่งของการขุดบ่อเปิด คือรอบปากบ่อควรปลูกหญ้ารอบๆ บ่อ เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดินและเป็นการกรองน้ำที่ไหลลงบ่อหรือสระด้วย

การออกแบบระบบบ่อเปิดตามแนวทางสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ สามารถจำแนกได้ตามความเหมาะสมของลักษณะพื้นที่และความต้องการใช้ประโยชน์ได้เป็น 3 รูปแบบ คือรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า และรูปทรงกลม

ใช้บ่อเก่า ทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด

หากพื้นที่ใดมีบ่อเดิมหรือบ่อเก่า ก็ประยุกต์เป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบบ่อเปิดได้เช่นกัน โดยทั่วไปบ่อเก่ามักจะขุดดินแค่ดินอ่อนหรือชั้นดินเหนียว ทำให้บ่อหรือสระดังกล่าวขาดประสิทธิภาพในการเพิ่มหรือเติมน้ำตามแนวทางธนาคารน้ำใต้ดิน จึงมักพบปัญหาน้ำแห้ง สามารถแก้ไขได้โดยทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด โดยขุดบ่อขนาดเล็กประมาณ 1-3 เมตร ในพื้นที่ก้นบ่อหรือสระน้ำเดิม ขุดให้ลึกถึงชั้นหินอุ้มน้ำ จำนวน 3 บ่อ ให้ขนานกับทิศ และให้ 3 บ่อดังกล่าวอยู่ในรูปแบบสามเหลี่ยมตามหลักทิศทางการหมุนรอบตัวเองของโลก บ่อขนาดเล็กทั้ง 3 บ่อ จะทำหน้าที่ในการนำน้ำที่เหลือใช้ในช่วงฤดูฝนลงไปเก็บไว้ในชั้นหินอุ้มน้ำและหล่อเลี้ยงระดับน้ำในชั้นใต้ดิน เมื่อถึงช่วงฤดูแล้ง น้ำในชั้นใต้ดินก็จะซึมขึ้นมาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในบ่อหรือสระเดิมไม่ให้แห้ง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในช่วงฤดูแล้ง

แม่น้ำ ลำคลอง ก็ทำธนาคารน้ำใต้ดินได้

ในกรณีที่ต้องการปรับแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร ฯลฯ ให้เป็นธนาคารน้ำใต้ดินระบบเปิด ก็สามารถทำได้ โดยจะใช้เครื่องเจาะบ่อที่ใช้เจาะดินเพื่อลงเสา หรือเครื่องเจาะน้ำบาดาล โดยเจาะลงตำแหน่งกลางแม่น้ำหรือริมฝั่งแม่น้ำดังกล่าว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับบริบทและลักษณะของแหล่งน้ำที่จะเจาะ โดยเจาะให้ผ่านชั้นดินอ่อนและชั้นดินเหนียวจนถึงชั้นหินอุ้มน้ำ โดยปกติแล้วความลึกอยู่ประมาณ 10-15 เมตร จากนั้น นำหินแม่น้ำใส่ลงไปยังช่องบ่อที่เจาะไว้ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการไหลเวียนของน้ำในชั้นหินอุ้มน้ำ ควรใช้ท่อน้ำ พีวีซี วางตั้งฉากกับก้นหลุมปลายท่อเหนือพื้นดินตามความเหมาะสม แล้วบรรจุหินแม่น้ำในส่วนที่เจาะลงไป โดยให้ปลายท่อมีความสูงกว่าขอบคลองเล็กน้อยตามความเหมาะสม

ข้อสังเกตหลังจากเจาะบ่อดังกล่าวแล้ว พบว่า ช่วง 1-2 วัน หลังจากเจาะน้ำในแหล่งน้ำดังกล่าวจะแห้งลดลง แต่หลังจากนั้นน้ำจะคืนกลับสู่แหล่งน้ำเดิมโดยระบบน้ำบาดาลใต้ดินจะเชื่อมกันจนเป็นระบบการไหลเวียนของน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ไขบ่อเดิมที่มีน้ำจะตอบโจทย์เรื่องการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำของแหล่งน้ำ และการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยลักษณะของการทำธนาคารน้ำใต้ดินกรณีแก้ไขบ่อเดิมที่มีน้ำดังกล่าวนี้ บ่อที่เจาะจะมีคุณสมบัติในการซึมน้ำลงดินและทำหน้าที่คืนน้ำสะอาดกลับแหล่งน้ำเดิมอีกด้วย

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด

ธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญของการทำธนาคารน้ำใต้ดินให้สมบูรณ์ เพราะธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดมีหน้าที่ในการเติมน้ำลงดิน โดยนำน้ำที่มีบนดินลงสู่ใต้ดินอย่างรวดเร็ว เพราะโดยทั่วไป น้ำที่อยู่บนผิวดินกว่าจะซึมซับลงในชั้นดินแต่ละชั้นต้องใช้เวลามาก เนื่องจากชั้นผิวดินมีอากาศแทรกอยู่ ทำให้การซึมซับน้ำลงดินได้ช้า

การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด เป็นการเปิดช่องผิวดินเพื่อการเติมน้ำลงใต้ดินโดยตรงในระดับบนสุดของเปลือกโลกชั้นผิวดิน โดยน้ำที่เติมลงสู่ใต้ดินเป็นน้ำเหลือใช้และน้ำที่เกินจากความต้องการ เช่น น้ำฝน ที่ตกลงมาบนพื้นดินจำนวนมากเกินกว่าที่บ่อใช้รองรับน้ำฝนได้ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง หากสะสมนานจะกลายเป็นน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสุขภาพของผู้คนในชุมชน

หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด คือการเก็บน้ำไว้ใต้ดิน แต่ไม่ทะลุชั้นดินเหนียวลงไปสู่ชั้นหินอุ้มน้ำ โดยมีเป้าหมายสร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน แก้ปัญหาน้ำท่วมขัง ลดการไหลบ่าของน้ำ และแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย การเก็บน้ำด้วยวิธีนี้ จะไม่สามารถนำน้ำขึ้นมาใช้ได้โดยตรง แต่กรณีพื้นที่ใกล้เคียงกับระบบปิดนี้มีบ่อน้ำตื้นหรือบ่อน้ำซับ ความชุ่มชื้นของดินจะส่งผลทำให้น้ำในบ่อดังกล่าวมีปริมาณน้ำมากขึ้น สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ หรือในบางพื้นที่สามารถขุดบ่อน้ำตื้นได้ในระดับไม่เกิน 2-3 เมตร อาจจะมีน้ำใช้ได้ตลอดทั้งปี

การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดสามารถทำได้ทั้งในพื้นที่ที่เป็นชุมชนเมืองและชุมชนชนบท เนื่องจากปัจจุบันชุมชนเมืองขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนและถนนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้บ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ระดับต่ำกว่าเกิดความเสียหายในเรื่องน้ำท่วมขัง การระบายน้ำ หรือน้ำเน่าเสีย สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดปัญหาน้ำเสียที่ท่วมขังในชุมชนเมือง

ขณะเดียวกันแนวคิดนี้ จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังและปัญหาขาดแคลนน้ำหรือสร้างความชุ่มชื้นในพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกด้วย ปกติแล้วพื้นที่การเกษตรแต่ละปีมักจะมีฝนตกอยู่ 5-6 เดือน ในพื้นที่ 1 ไร่ จะรับน้ำฝนที่ตกลงมาได้ราว 2,500 ลูกบาศก์เมตร น้ำฝนที่ตกจากที่สูงไหลลงพื้นที่ต่ำ พื้นที่สูงจึงไม่สามารถเก็บกักน้ำได้ ขณะที่พื้นที่ต่ำกลายเป็นแหล่งรวมน้ำฝนจนเกิดปัญหาน้ำท่วมขัง การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในพื้นที่การเกษตรจึงช่วยเก็บน้ำส่วนเกินลงสู่ใต้ดิน นอกจากลดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มแล้ว ยังช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่การเกษตรอีกด้วย

หลักการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ของสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ

การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด สามารถจำแนกได้ 3 รูปแบบ ได้แก่

  1. การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในที่อยู่อาศัย
  2. การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิด รูปแบบรางระบายน้ำในชุมชน และ
  3. การทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในพื้นที่น้ำท่วมขนาดใหญ่ หรือน้ำท่วมทุ่ง

สำหรับการทำธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดในพื้นที่น้ำท่วมขนาดใหญ่หรือน้ำท่วมทุ่ง เป็นวิธีการขุดบ่อขนาดใหญ่คล้ายกับบ่อระบบเปิด ขนาดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และระดับน้ำท่วมขัง โดยมากมักจะขุดบ่อในลักษณะบ่อสี่เหลี่ยมจัตุรัส ในระดับกว้าง 3 เมตร ยาว 3 เมตร หรือ กว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร ส่วนระดับความลึกแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพชั้นดินและชั้นหิน ราว 3-5 เมตร ไม่ทะลุชั้นดินเหนียว หลังจากนั้น นำเศษวัสดุมาใส่ในบ่อแทนดินที่ขุดออกไป เช่น กรวดแม่น้ำ หิน เศษกิ่งไม้ วัสดุเหลือใช้ที่หาได้ในชุมชน เช่น ขวดบรรจุน้ำ ยางรถยนต์ ฯลฯ

ขั้นตอนต่อมาใส่ท่อ พีวีซี เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 นิ้ว จำนวน 3 ท่อ วางเป็นสามเหลี่ยมตามทิศทางการหมุนรอบตัวเองของโลก เพื่อให้เกิดความสะดวกต่อการเคลื่อนตัวไหลของน้ำ และการใส่วัสดุควรเว้นระยะขอบบ่อไว้ราว 50-100 เซนติเมตร หลังจากนั้นใช้ทรายและดินกลบปิดปากบ่อ โดยใช้ประโยชน์จากพื้นที่ด้านบนบ่อได้ตามปกติ วิธีนี้ไม่สามารถสูบน้ำจากบ่อขึ้นมาใช้ได้ น้ำที่ถูกเก็บลงสู่ชั้นใต้ดินจะเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดิน วิธีนี้ยังเหมาะกับสวนเกษตรขนาดใหญ่ ป่าชุมชน สนามกอล์ฟ หรือพื้นที่ขนาดใหญ่ที่ต้องการความชุ่มชื้น