พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดตามโครงการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพ ณ สำนักงานตลาดกลางยางพารา จังหวัดยะลา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการติดตามโครงการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพ จังหวัดยะลา เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องทุเรียน เห็นด้วยกับการดำเนินงานของโครงการทุเรียนคุณภาพ เพราะเห็นแล้วว่า มีการดำเนินงานในลักษณะ “ทำน้อยได้มาก” คือการใช้ทรัพยากรต้นทุเรียนที่เป็นทุนเดิม หันมาดูแล พัฒนาให้ได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด และใช้ที่ดินส่วนที่เหลือมาทำกิจกรรมทางการเกษตร เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างภูมิคุ้มกันเมื่อราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และให้ประเมินความเสี่ยงด้านต่างๆ ไว้ด้วย เช่น เรื่องราคา ไม่ควรทำพืชเชิงเดี่ยวแต่อย่างเดียว และขอบของคุณมูลนิธิปิดทองหลังพระที่เข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมมือในรูปแล็บประชารัฐในพื้นที่

ด้าน นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า จังหวัดยะลามีพื้นที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 67,164  ไร่ สร้างรายได้กว่า 2,000 ล้านบาท ต่อปี จังหวัดยะลาจึงได้กำหนดวาระจังหวัด ในการขับเคลื่อนให้จังหวัดยะลาเป็นเมืองทุเรียน (Durian City) แห่งภาคใต้ตอนล่าง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การพัฒนาคุณภาพ การตลาด โดยดำเนินการตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้แนวนโยบายในการนำศาสตร์พระราชาสู่การปฏิบัติ โดยร่วมกับมูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 664 ราย พื้นที่ปลูก 1,125 ไร่ ต้นทุเรียน 22,508 ต้น คาดการณ์ผลผลิต 2,440 ตัน สามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 183 ล้านบาท

หม่อมราชวงศ์ดิศนัดดา ดิศกุล ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวว่า สถาบันได้เข้ามาดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่ปี 2559 ประชากรที่เข้าร่วมโครงการในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเห็นศักยภาพด้านการผลิตทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบกับจังหวัดยะลาให้เป็นเมืองทุเรียนซิตี้ จึงได้ร่วมกับจังหวัดยะลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมเกษตรกรให้พัฒนาทุเรียนให้มีคุณภาพ ในปี 2561 เริ่มต้นกับเกษตรกร 18 รายในตำบลตาเนาะปูเตะ อำเภอบันนังสะตา จังหวัดยะลา ตั้งแต่การให้ความรู้ การดูแล บำรุงรักษาไปจนถึงการตลาด ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ต้นละ 3.5 เท่า ปี 2562 จึงได้ขยายผลเป็น 664 ราย จำนวน 22,508 ต้น ครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คาดการจะมีผลผลิต ประมาณ 2,440.20 ตัน คาดการจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 160 ล้านบาท

การดำเนินงานในปีนี้แค่ร้อยละ 1.4 ของพื้นที่ปลูกทุเรียนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีศักยภาพอีกมากหากหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น