มหัศจรรย์ลำไย ผลไม้มงคลทรงคุณค่า เปรียบเสมือนตามังกร

ลำไยเป็นผลไม้ที่ปลูกกันมากในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน ไทย และเวียดนาม นิยมกินในรูปเนื้อลำไยสด เนื้อลำไยอบแห้งสีทอง ลำไยอบแห้งทั้งเปลือกและแปรรูปต่างๆ เช่น ลำไยกระป๋อง น้ำลำไย เป็นต้น นอกจากนี้แล้ว ลำไยยังเป็นผลไม้ที่มีความมหัศจรรย์เพราะมีสรรพคุณเป็นยาและเป็นผลไม้มงคลในการเพิ่มพลังชีวิต

คุณนเรศ ฝีปากเพราะ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 6 จังหวัดเชียงใหม่ และเกษตรกรผู้ปลูกลำไย

ลำไย ภาษาจีนแมนดาริน เรียกว่า หลงเหยียน แปลว่า ตามังกร “ลำ” มาจากคำว่า “หลง” แปลว่า มังกร “ไย” มาจากคำว่า “เหยียน” แปลว่า ดวงตา

มังกรถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ในวัฒนธรรมจีน โดยเชื่อกันว่าใครได้ฆ่ามังกรแล้วขอดกินเกล็ดมังกรนั้นจะเป็นผู้มีอิทธิฤทธิ์ การได้กินหัว หาง หรือกินดวงตาของมังกรนั้น เป็นการเพิ่มพลังชีวิตอย่างวิเศษ ทำให้คนจีนตั้งแต่สมัยโบราณ จึงถือธรรมเนียมว่าจะเป็นเศรษฐีหรือยาจกอย่างไร เมื่อถึงฤดูกาลลำไย ต้องกินลำไยหรือตามังกร อย่างน้อย 2 ลูก เพื่อเป็นการเพิ่มพลังชีวิตตลอดปี หลังจากนั้น จะโยนเมล็ดทั้งสองขึ้นไปบนหลังคา เชื่อว่าเป็นการส่งดวงตาของมังกรขึ้นไปเฝ้ามองระแวดระวังเภทภัยที่จะมากล้ำกราย

กินลำไยเหมือนได้กินดวงตาของมังกร เป็นการเพิ่มพลังชีวิตได้อย่างวิเศษ

ชาวจีนเชื่อว่าลำไยมีสรรพคุณเป็นยาบำรุงหัวใจและม้าม เหมาะสำหรับผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอทรุดโทรม เช่น สตรีหลังคลอดบุตร สตรีที่มีประจำเดือนมาก คนไข้ที่เพิ่งฟื้น คนที่เบื่ออาหารหรืออาหารไม่ย่อย บำรุงเลือด ช่วยให้นอนหลับง่าย คลายความเครียดและความวิตกกังวล ตามตำราแพทย์แผนไทย ลำไยเป็นผลไม้ที่มีฤทธิ์ร้อน สรรพคุณแก้ผอมแห้ง แรงน้อย นอนไม่หลับ ขี้ลืม ใจสั่น ช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย บำรุงร่างกาย บำรุงปราสาท บำรุงกำลังและรักษาตัวบวมในสตรีหลังคลอดบุตร เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหานอนไม่หลับ ใจสั่น ผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอเป็นเวลานาน กระเพาะไม่ค่อยดี มีอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ฝ้าบนลิ้นสีขาวและหนา

นอกจากนี้ ลำไยยังเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญเนื่องจากมีน้ำตาลรีดิวซ์ โปรตีนและคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก โดยลำไยพันธุ์สีชมพู มีปริมาณโปรตีนและน้ำตาลมากที่สุดคือ 8.5 กรัม ต่อกิโลกรัม และ 52.4 กรัม ต่อกิโลกรัม ลำไยพันธุ์อีดอ มีปริมาณคาร์โบไฮเดรตมากที่สุด คือ 885.2 กรัม ต่อกิโลกรัม

ลำไยไทย ลำไยโลก ที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการและมีสรรพคุณเป็นยา รวมทั้งเป็นผลไม้มงคลแห่งชีวิต

สรรพคุณทางการแพทย์

ในผลลำไยมีสารออกฤทธิ์ทางในกลุ่มของสารประกอบแทนนิน ชนิดแกลโลแทนนิน คือ กรดเอลลาจิก ในปริมาณที่สูง ซึ่งเป็นสารที่มีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูง และยังมีคุณสมบัติในการกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งเป็นกลไกที่เซลล์มะเร็งถูกเร่งให้แก่เร็วขึ้นและตายด้วยตัวเองโดยไม่มีผลกับเซลล์ปกติ สารสกัดจากเนื้อลำไยอบแห้งหรือเมล็ดลำไยแห้ง มีคุณสมบัติในการเหนี่ยวนำการตายของมะเร็งในลำไส้ใหญ่ และเมล็ดลำไยยังมีสารโพลีฟีนอลคือเอลาจิกและเคอร์ซิทิน สามารถป้องกันการเสื่อมสลายของกระดูกและเนื้อเยื่อ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการปวดข้อเข่า ข้อเขาเสื่อม กล้ามเนื้ออักเสบ ช่วยลดการหดตัวของหลอดเลือดที่ถูกกระตุ้นด้วยเนอร์อีพิเนฟริน (norepinephrine)

และสารสกัดจากเมล็ดลำไย ยังสามารถยับยั้งเชื้อมาลาเรียได้ด้วย นอกจากนี้ ยังพบสารในกลุ่ม Lignin และ polysaccharides ซึ่งมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง กระตุ้นภูมิคุ้มกันฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและต้านเชื้อรา Candida glabrata ด้วย พบอีกว่าแทนนิน ยังมีประโยชน์ในการบรรเทาอาการท้องเสียหรือท้องเดิน โดยแทนนินจะจับกับโปรตีนของเชื้อโรคทำให้เชื้อไม่สามารถทำอันตรายกับร่างกายได้

สรรพคุณลำไย

ตามตำราแพทย์แผนโบราณ มีการนำเอาส่วนประกอบต่างๆ ของลำไยมาใช้เป็นยา ได้แก่
ราก ต้มกินแก้เสมหะมาก, รากสดต้มกับน้ำตาลกรวด ดื่มแต่น้ำ เป็นยากระจายเลือด แก้ช้ำในพลัดตกหกล้ม, รากแห้งต้มกับน้ำ ดื่มแก้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย แก้อาการตกขาว ขับพยาธิเส้นด้าย
ใบ มีคุณสมบัติเป็นกลาง รสออกหวาน จืดเล็กน้อย มีสรรพคุณแก้หวัด มาลาเรีย ริดสีดวง
ดอก สรรพคุณแก้นิ่ว ขับหนองต่างๆ
เปลือกผล มีคุณสมบัติร้อน รสออกหวาน สรรพคุณแก้มึนหัว ทำให้ตาสว่าง ใช้ทาแผลที่โดนน้ำร้อนลวก ช่วยไม่ให้ปวดแผลและไม่เกิดแผลเป็น
เนื้อผลสด มีคุณสมบัติร้อน รสออกหวาน สรรพคุณแก้ผอมแห้ง แรงน้อย นอนไม่หลับ ขี้ลืม ใจสั่น บำรุงร่างกาย บำรุงประสาท บำรุงหัวใจ ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ บำรุงกำลังและรักษาอาการตัวบวมในสตรีหลังคลอดบุตร
เมล็ด รสฝาด สรรพคุณแก้ปวด ขับปัสสาวะ ห้ามเลือด รักษาเกลื้อน นำเมล็ดตากแห้ง บดเป็นผงใช้ทาภายนอกแก้แผลเน่าเปื่อย คันหรือแผลเรื้อรังที่มีหนอง ช่วยรักษาเกลื้อน ใช้ห้ามเลือด

สวนลำไย

ตำรับยาจากลำไย

แก้หวัด เนื้อลำไย 10-15 กรัม ต้มดื่มต่างน้ำชา
ยาบำรุง เนื้อลำไยพอประมาณดองเหล้าทิ้งไว้ 10 วัน ดื่มครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ
ยาบำรุงเลือด เนื้อลำไย 30 กรัม ต่อน้ำตาลกรวด 3 กรัม ตุ๋นในภาชนะดินเคลือบ ดื่มครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ
ยาแก้ท้องเสีย นำเนื้อลำไยตากแห้ง 14 เมล็ด และขิงหั่นบางๆ ต้มให้เดือด
ขับปัสสาวะ ทุบเมล็ดลำไยให้แตก นำมาต้มดื่มต่างน้ำ
อุจจาระเป็นเลือด บดเมล็ดลำไยเป็นผง กินตอนท้องว่าง วันละ 2-3 ครั้ง
กระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบ คั่วเมล็ดลำไยให้แห้ง แล้วบดเป็นผง ชงดื่มวันละ 15-20 กรัม
กลาก นำเมล็ดลำไยบดผสมกับน้ำส้มสายชูพอเป็นแป้งเปียก ทาผิวหนังบริเวณที่มีอาการ

วิธีกินลำไยไม่ให้เกิดอาการร้อนใน

1. ควรกินควบคู่ไปกับผลไม้ที่มีรสเย็น เช่น มังคุด ชมพู่ กระท้อน แตงโม แตงไทย แคนตาลูป ลางสาด สับปะรด ส้มโอ แก้วมังกร แอปเปิ้ล สาลี่

2. ดื่มน้ำเกลือตามลงไป เพื่อป้องกันอาการร้อนใน สูตรน้ำเกลือที่ใช้ดื่มประกอบด้วย น้ำเปล่า 1 แก้ว เกลือ ครึ่งช้อนชา ละลายให้เข้ากัน

3. แช่ลำไยทั้งเปลือกในน้ำเกลือ 3-5 นาที

ผลผลิตลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือ เก็บเกี่ยวและออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ขอเชิญชวนทุกๆ ท่าน อย่าพลาดได้ลองลิ้มชิมรสลำไยไทย ลำไยโลก ที่ทรงคุณค่าทางโภชนาการและมีสรรพคุณเป็นยา รวมทั้งเป็นผลไม้มงคลแห่งชีวิต อีกทั้งช่วยเกษตรกรชาวสวนลำไยให้มีความมั่นคงยั่งยืนในอาชีพและรายได้ต่อไป

………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2562

Update 07/06/65