“กระเจี๊ยบแดง” สมุนไพรลดความเสี่ยงโรคไต

ตามปกติแล้ว เมื่อมีใครบอกข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ป้องกันการเป็นโรคไต ข้าพเจ้าจะฟังหูไว้หูเสียก่อน แต่หนักไปทางไม่ค่อยจะเชื่อสักเท่าไร เพราะว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ใดที่บ่งชี้ว่าสมุนไพรป้องกันโรคไตได้จริง ที่ได้ฟังมาบ่อยๆ ก็จะเป็นการอวดอ้างสรรพคุณการรักษา หลอกผู้ป่วยที่สิ้นหวัง ซึ่งเป็นการกระทำที่ไร้ซึ่งจริยธรรมและผิดกฎหมายอย่างยิ่ง

มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงสงสัยแล้วว่า เกริ่นนำมาแบบนี้ แล้วจะนำเสนอสมุนไพรอะไรได้ สิ่งนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้านึกถึงปัจจัยหรือความเสี่ยงอันนำไปสู่การเกิดโรคไตได้ ในทางแบบแผนปัจจุบัน

มีงานวิจัยระบุไว้ว่า ในคนไข้กลุ่มโรคเมแทบอลิกจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคไตเรื้อรังมากเป็น 2.65 เท่า ของคนปกติ ด้วยเหตุนี้เอง หากเราป้องกันกลุ่มโรคนี้ได้ ก็เท่ากับว่าเป็นการลดความเสี่ยงในการเกิดโรคไตได้เช่นเดียวกัน

photo by TIMOTHY A. CLARY / AFP

สาเหตุหลักของโรคนี้คือ ความอ้วน ที่ทำให้ร่างกายดื้อต่อการออกฤทธิ์ของอินซูลิน จนมีผลเกิดน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันสะสมภายในเซลล์ต่างๆ ความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้ร่างกายเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมทั้งโรคไตด้วย

ดังนั้น การรักษากลุ่มอาการนี้ จึงเป็นการแก้ไขปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรค โดยเริ่มแรกจะให้คนไข้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น ปรับการรับประทานอาหาร เพิ่มการออกกำลังกาย นอกจากนั้น ก็เป็นการรักษาปัจจัยต่างๆ ได้แก่ รักษาภาวะไขมันที่ผิดปกติ การรักษาความดันโลหิตสูงและการรักษาน้ำตาลในเลือดสูง

สมุนไพรทางเลือกที่มีงานวิจัยสนับสนุนในการรักษาปัจจัยต่างๆ ดังกล่าว ได้แก่ กระเจี๊ยบแดง จากข้อมูลงานวิจัยที่มีการรับประทานสารสกัดกระเจี๊ยบ ขนาด 100 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ในคนไข้กลุ่มโรค      เมแทบอลิก เป็นเวลา 1 เดือน พบว่าสามารถลดระดับคอเลสเตอรอลได้ เพิ่มระดับไขมันดี ปรับปรุงการทำงานของอินซูลินให้ดียิ่งขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาในประเทศไต้หวัน ได้นำสารสกัดของกระเจี๊ยบแดงให้ผู้ที่มีภาวะอ้วน เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พบว่าสามารถลดน้ำหนัก ภาวะอ้วน ลดกรดไขมันอิสระในเลือดได้เช่นเดียวกัน

ดังนั้น นอกเหนือจากประโยชน์ของฤทธิ์ลดความดันโลหิตของกระเจี๊ยบแดงที่เราต้องการอยู่แล้ว ยังมีข้อมูลที่สนับสนุนการใช้ในการรักษาปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เราเสี่ยงต่อโรคไตได้เป็นอย่างดี 

กระเจี๊ยบแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Hibiscus sabdariffa L. ชื่ออังกฤษ Jamaica sorrel, Roselle ถือเป็นไม้ท้องถิ่นของแอฟริกา แต่ทุกวันนี้ก็มีการปลูกได้ในประเทศเขตร้อนทั่วโลก

ด้านตำรายาไทย บอกสรรพคุณเด่นของกระเจี๊ยบแดงไว้ว่า แก้นิ่ว ทางเดินปัสสาวะอักเสบ แก้ไอ ขับเสมหะ ในช่วงอากาศร้อนทั้งปีแบบไทยๆ แนะนำต้มน้ำกระเจี๊ยบแต่งน้ำตาลและเกลือเล็กน้อย ช่วยแก้กระหายน้ำได้ดีเลิศ

และความรู้ของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร แนะนำสูตรการทำกระเจี๊ยบแดงหมัก เพื่อช่วยบำรุงเลือด เพิ่มการไหลเวียน

วิธีการทำคือ

ต้มน้ำให้เดือด พอน้ำเดือดให้ใส่กระเจี๊ยบแดงแห้งลงไป 10 นาที แล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง เอาแต่น้ำกระเจี๊ยบ

จากนั้นตั้งไฟแล้วใส่น้ำตาลลงไป ต้มให้เดือดสัก 5 นาที แล้วยกลงแช่น้ำเย็นทันที

ใส่ยีสต์ลงไป แล้วนำใส่ถังหมักต่อไป และให้ใส่สายยางลงไปในถังหมักแต่ไม่ให้ปลายสายยางด้านในถังจมน้ำไวน์ เพื่อไม่ให้อากาศภายนอกเข้าถังโดยผ่านอากาศภายในถังหมัก

หลังจากนั้น ใช้ดินน้ำมันพอกปากถังให้สนิทไม่ให้รั่ว ทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน นำไปต้มฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 75 องศาเซลเซียส แล้วนำมาแช่น้ำเย็นเพื่อน็อกเชื้อ

นำมากินเป็นน้ำกระเจี๊ยบหมักได้

ประโยชน์และความนิยมในการกินน้ำกระเจี๊ยบกินได้ทั้งปี เราก็ควรลงมือปลูกเป็นสมุนไพรประจำบ้านกันได้ เพราะกระเจี๊ยบแดงเป็นพืชที่ปลูกง่าย ทนแล้ง มีระบบรากลึก สามารถปลูกได้ตลอดปี

แต่ถ้าต้องการปลูกเพื่อเก็บดอก ควรปลูกในช่วงปลายฤดูฝน พรวนดินบริเวณที่จะปลูกให้ร่วน หยอดเมล็ดหลุมละ 3-5 เมล็ด ระยะห่างระหว่างต้น 1 เมตร ระหว่างแถว 1-1.5 เมตร

การปลูกให้เลือกที่น้ำไม่ขัง หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนา ขอบสระ คันนา

กระเจี๊ยบแดง เป็นพืชไวแสง คือจะเริ่มออกดอกเมื่อช่วงเวลากลางวันเริ่มหดสั้น ราวต้นฤดูหนาว หรือเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน

เมื่อกระเจี๊ยบแดงอายุได้ 3-4 เดือน คือประมาณกลางเดือนพฤศจิกายนก็เริ่มเก็บกลีบเลี้ยงไปได้เรื่อยๆ

การเก็บใช้กรรไกรหรือมีดตัดดอก เลือกตัดดอกที่โตและแก่ก่อน เหลือดอกอ่อนและเล็กไว้เพื่อให้โต จึงค่อยเก็บเกี่ยว การตัดให้ตัดชิดก้านดอก

การแปรรูปเพื่อนำมาใช้หรือสร้างรายได้เสริมก็เอาดอกกระเจี๊ยบแดงที่เอาเมล็ดออกแล้ว มาล้างน้ำแบบสรงน้ำสัก 2-3 ครั้ง กระเจี๊ยบแดงล้างง่ายเพราะไม่ค่อยมีขี้ฝุ่นจับ

ล้างเสร็จแล้วสะเด็ดน้ำให้แห้ง นำมาตากแดดประมาณ 5 วัน ช่วงแรกควรพลิกบ่อยๆ จะช่วยให้สีกระเจี๊ยบสวยเสมอกัน

ระวังอย่าให้ดอกกระเจี๊ยบมาซ้อนกัน จะทำให้เน่าง่าย หากพบดอกกระเจี๊ยบเน่าให้รีบทิ้งทันที เพราะอาจลามไปยังดอกอื่นได้ ตากแดดจนแห้งกรอบดีแล้ว จึงนำเก็บใส่ภาชนะบรรจุให้มิดชิด


ขอบคุณ ข้อมูลส่วนหนึ่ง จาก ภก.ณัฐดนัย มุสิกวงศ์ คอลัมน์ พืชใกล้ตัว อภัยภูเบศรสาร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2564