หนุ่มโรงงาน เลี้ยงปลาหมอในบ่อดิน แบบสลับ เป็นอาชีพเสริม มีปลาจับขายตลอดปี

ปลาหมอ เป็นปลาพื้นบ้านของประเทศที่มีรสชาติค่อนข้างดี และยังเป็นที่นิยมของคนไทยทั่วทุกภาค ปัจจุบัน ปลาหมอ ในแหล่งน้ำธรรมชาติเริ่มมีจำนวนลดลง เกิดจากสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ความแห้งแล้ง และที่สำคัญมีการจับปลาเพื่อบริโภคเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้จำนวนปลาหมอมีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ปัจจุบันการเพาะเลี้ยงปลาหมอกำลังเป็นที่นิยม นับว่าเป็นอาชีพที่ทำเงินได้อีกอาชีพหนึ่งกันเลยทีเดียว เพราะตลาดกำลังต้องการ จึงนำมาเลี้ยงในเชิงการค้ามากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค

คุณธนวัตน์ คำเฟือง

คุณธนวัตน์ คำเฟือง เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงปลาหมอ อยู่ที่ตำบลปากพระ อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเขามองเห็นถึงในเรื่องราคาของปลาหมอว่าน่าสนใจ เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงปลาชนิดอื่น จึงได้นำมาทดลองเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จเป็นงานที่สร้างเงินให้กับเขาได้เป็นอย่างดี

 

งานประจำหนุ่มโรงงาน เลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริม

คุณธนวัตน์ เล่าให้ฟังว่า เลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาชีพเสริมหลังว่างจากทำงานประจำ เพราะมองว่าถ้างานด้านนี้ดีก็จะหันมาทำเป็นอาชีพหลักในอนาคต ซึ่งก่อนที่จะลงมือเลี้ยงจึงได้ศึกษาและทดลองเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2557 โดยเปรียบเทียบระหว่างการเลี้ยงปลานิลกับปลาหมอ ว่าปลาชนิดไหนเลี้ยงแล้วจะให้ผลตอบแทนดีกว่ากัน

“ช่วงนั้นทดลองเอาปลาหมอกับปลานิล มาทดลองเลี้ยงในกระชังก่อน ปรากฏว่าปลาหมอมันไม่โต แต่ปลานิลโตดีกว่า ซึ่งช่วงนั้นก็ทำกระชังเลี้ยงในบ่อดิน พอทดลองไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นความแตกต่างของปลา 2 ชนิดนี้ เห็นว่าปลาหมอเลี้ยงได้ดีในบ่อดิน ก็เลยตัดสินใจเลี้ยงปลาหมอแทน เพราะเรื่องของราคาก็ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่ามาก ก็เลยตกลงปลงใจตั้งแต่นั้นมา” คุณธนวัตน์ เล่าถึงที่มา

บ่อเลี้ยงปลาหมอ

คุณธนวัตน์ บอกว่า เมื่อเลี้ยงปลาหมอมาหลายรุ่นจนจับขายได้เรื่อยๆ ก็รู้สึกว่าปลาชนิดนี้ให้ผลตอบแทนที่ดี ทำให้ปัจจุบันทำบ่อเลี้ยง จำนวน 5 บ่อ เลี้ยงแบบสลับกัน เพื่อให้มีปลาจับขายได้ตลอดทั้งปี

 

ปลาหมอ เหมาะกับการเลี้ยงในบ่อดิน

ในขั้นตอนแรกของการเตรียมบ่อนั้น คุณธนวัตน์ บอกว่า นำปูนขาวมาโรยให้ทั่วบ่อดิน ขนาด 10×40 เมตร แล้วตากบ่อทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์ จากนั้นใส่น้ำลงบ่อให้มีความสูง 1.50 เมตร รอปรับสภาพน้ำอีกประมาณ 1 สัปดาห์ จึงนำลูกปลาหมอไซซ์ 2-3 เซนติเมตร มาปล่อยภายในบ่อ

“พอบ่อเราพร้อมแล้ว เอาลูกปลาหมอใส่เลี้ยง อยู่ที่ 8,000 ตัว ต่อบ่อ อาหารในช่วงแรกจะให้กินอาหารกบเม็ดเล็ก ที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน ประมาณ 40 ให้กิน 2 มื้อ คือเช้าและเย็น พอลูกปลาหมอในบ่อมีอายุได้ 15-20 วัน ก็จะเปลี่ยนสูตรอาหารเป็นอาหารปลา เบอร์ 1 ที่มีโปรตีน 32 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ปลากินอาหารสูตรนี้ไปประมาณ 3 เดือน พอครบแล้วก่อนที่จะจับขายอีก 1 เดือน จะเปลี่ยนอาหารเป็น เบอร์ 2 ที่มีโปรตีน 30 เปอร์เซ็นต์ ให้กินไปจนถึงจับปลาขาย” คุณธนวัตน์ อธิบายการให้อาหาร

ลูกปลาหมอ ขนาดไซซ์ 2-3 เซนติเมตร

การดูแลปลาหมอในช่วง 1 เดือนแรก จะมีปลาหมอบางส่วนที่ตาย เนื่องจากอาจจะปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมภายในบ่อไม่ได้ วิธีแก้คือ นำเกลือมาสาดลงให้ทั่วบริเวณบ่อเมื่อเห็นปลาเกิดอาการนี้ขึ้น

เมื่อปลาได้อายุตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป จะมีการเติมน้ำเข้าไปภายในบ่อ โดยดูว่าน้ำในบ่อมีสภาพอย่างไร เพราะถ้าสภาพน้ำไม่ดีปลาหมอจะเครียดกินอาหารได้น้อย

ด้านสัตว์ที่เป็นศัตรูกับปลาหมอ คุณธนวัตน์ บอกว่า จะเป็นพวกนกกระยาง งู กบ เพราะลูกปลาหมอตัวเล็กๆ ขนาดไซซ์ 2-3 เซนติเมตร กบสามารถกินได้ ทำให้จำนวนปลาหมอลดน้อยลง ส่วนวิธีการป้องกันนก จะใช้เชือกขึงด้านบนปากบ่อ

เวลาที่ใช้เลี้ยงปลาหมอทั้งหมดจนสามารถจับขายได้ จะใช้เวลาประมาณ 4 เดือน

เน้นทำตลาดให้หลากหลาย เพื่อไม่ให้ถูกกดราคา

เมื่อปลาหมอได้อายุและขนาดที่พร้อมขายแล้ว คุณธนวัตน์ บอกว่า ไซซ์ที่ได้จากการเลี้ยงจะมีไซซ์ที่แตกต่างกันไป ไซซ์ใหญ่สุด จะอยู่ที่ 3 ตัว ต่อกิโลกรัม ส่วนที่เล็กลงมาหน่อย ก็อยู่ที่ 5-6 ตัว ต่อกิโลกรัม ซึ่งในช่วงแรกที่เลี้ยงใหม่ๆ เขาบอกว่าเรื่องการตลาดยังไม่เก่งมากนัก แต่เมื่อผ่านการเลี้ยงมาหลายรุ่นจึงมีประสบการณ์ในเรื่องนี้มากขึ้น โดยสามารถต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้

ขนาดไซซ์ 3 ตัว ต่อกิโลกรัม

“ช่วงที่ทำใหม่ๆ เราต้องโทร.หาพ่อค้าบ้าง เพื่อให้เขารู้ว่าเรามีปลาหมอที่เลี้ยงไว้ พอเขาเริ่มรู้จักกันมากขึ้น ก็จะบอกกันไปปากต่อปาก เริ่มมีพ่อค้าติดต่อมาขอซื้อเรื่อยๆ ช่วงที่ปลาจะได้ไซซ์จับขายได้ และอีกส่วนหนึ่งก็จับขายให้กับคนในหมู่บ้าน ที่เป็นแม่ค้ารายย่อย ครั้งละ 50-100 กิโลกรัม ซึ่งไม่ว่าใครมาซื้อก็ขายให้หมด บางทีก็เอาไปขายกับแฟนเองที่ตลาดนัด ราคาขายก็อยู่ที่กิโลกรัมละ 80-120 บาท ราคาขึ้นลงได้ตามกลไกของตลาด แต่จะยืนพื้นอยู่ที่ กิโลกรัมละ 80 บาท มีทั้งราคาขายปลีกขายส่ง” คุณธนวัตน์ เล่าถึงการทำตลาด

การเลี้ยงปลาหมอเพื่อให้ได้กำไร คุณธนวัตน์ ให้เทคนิคว่า ต้องหาแหล่งซื้ออาหารที่ราคาถูกและมีคุณภาพ อย่างน้อยราคาลดลงกระสอบละ 20-50 บาท ก็ถือว่าประหยัดต้นทุนไปได้มาก ถึงแม้จะลำบากและยุ่งยากสักหน่อยเวลาที่หาแหล่งอาหาร

สำหรับคนที่อยากเลี้ยงปลาเป็นอาชีพ คุณธนวัตน์ แนะนำว่า ต้องศึกษาถึงปลาชนิดที่จะเลี้ยงให้ละเอียด ซึ่งเขาเองก็ศึกษามามากกว่า 1 ปี จึงได้รับประสบการณ์จากปัญหาที่พบเจอ จนนำมาปรับปรุงแก้ไขเป็นครูให้กับเขา

“ถ้าคนที่ไม่เคยลองเลี้ยงปลาเลย จะเอากำไรให้ได้มากๆ เหมือนคนที่เขาเคยเลี้ยงที่ประสบผลสำเร็จมาก่อน มันก็เป็นไปไม่ได้ สิ่งที่ต้องดูให้เป็นเลยคือ หนึ่งต้องศึกษาเรื่องลูกปลา ต้องรู้ว่าดีหรือไม่ดี เพราะอาจจะโดนหลอกเอาสายพันธุ์ที่ไม่ดีมาขายให้ก็ได้ เกิดซื้อมาเลี้ยงดูอย่างดี แต่สายพันธุ์ไม่ดี ปลามันก็ไม่โต สองเรื่องของอาหารที่ให้ปลากิน ถ้าไม่ดีไม่มีคุณภาพ เลี้ยงเท่าไหร่ปลามันก็ไม่โต ซึ่งถ้ามองกันแล้ว 2 อย่างนี้ถือว่าสำคัญ ถ้าปลาดีอาหารดี รับรองว่าการเลี้ยงประสบผลสำเร็จแน่นอน ส่วนเรื่องอื่นๆ อุปสรรคที่เจอจะช่วยสอนเราให้มีประสบการณ์เอง”

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณธนวัตน์ คำเฟือง ที่หมายเลขโทรศัพท์ (087) 202-6519

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560