เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อน จากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ โครงการ Thai Rice NAMA เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 14.9 ล้านยูโร จาก NAMA Facility

ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (2561-2566) เพื่อดำเนินงานพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน ในเขต 6 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.8 ล้านไร่ โดยมีวัตถุประสงค์…เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมแก่เกษตรกรทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงการผลิตข้าวที่ได้มาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน (GAP++), เพื่อพัฒนาและขยายธุรกิจการให้บริการเทคโนโลยีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, เพื่อให้มีมาตรการจูงใจที่สนับสนุนให้ภาคการผลิตข้าวทั้งระบบในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

พิธีเปิดงาน จากซ้ายไปขวา คุณทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย คุณอุดร รูปโฉม คุณดุจเดือน ศศะนาวิน ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย คุณสุริยัน วิจิตรเลขการ

ในการนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตข้าวในประเทศไทย ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน โดยช่วงต้นปี 2560 กรมการข้าว ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้เสนอแนวคิดโครงการ Thai Rice NAMA ต่อ NAMA Facility (กองทุนที่ก่อตั้งโดยอนุสัญญาแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 7 โครงการ จากทั้งหมด 77 โครงการ เพื่อรับเงินสนับสนุนในการจัดเตรียมข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ (Full proposal) โดยกรมการข้าวได้ส่งจัดข้อเสนอโครงการฉบับสมบูรณ์ให้ทาง NAMA Facility เพื่อพิจารณา ในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 และได้รับการอนุมัติโครงการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561

ผู้บริหารถ่ายรูปร่วมกัน

การบริหารโครงการ Thai Rice NAMA ได้วางแผนการบริหารโครงการแบบบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานภาคี โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ คณะทำงานขับเคลื่อนโครงการ และคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการระดับจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม และมีคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาคี

การดำเนินงานภายใต้โครงการ Thai Rice NAMA ที่มีวัตถุประสงค์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ประกอบด้วย

จากซ้ายไปขวา คุณศรายุทธ ยิ้มยวน คุณพิศาล พงศาพิชณ์ คุณดุจเดือน ศศะนาวิน ฯพณฯ เอกอัครราชทูต เกออร์ค ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทย
  1. เทคโนโลยีการปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบแสงเลเซอร์ (Laser Land Leveling)

การปรับพื้นที่ให้เรียบเสมอกันเป็นพื้นฐานของการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว ทำให้การใช้ทรัพยากรการผลิตที่สำคัญ คือ น้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด เมื่อน้ำครอบคลุมได้เท่ากันทั่วแปลงนา ผลคือ ลดปริมาณการใช้น้ำได้ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก ลดต้นทุน การใช้สารปราบวัชพืช น้ำมัน ค่าแรงงาน รวมทั้งต้นข้าวมีความสม่ำเสมอ ส่งผลให้ได้ผลผลิตเท่ากันทั่วทั้งแปลง

  1. การจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้ง (Alternate Wetting and Drying : AWD)
คุณนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว

เทคโนโลยีการปลูกข้าวด้วยการควบคุมระดับน้ำ โดยให้น้ำเป็นรอบเวรในช่วงการเจริญเติบโตทางลำต้นและใบ จนกระทั่งข้าวเริ่มกำเนิดช่อดอก หรือเรียกว่า “การจัดการน้ำในนาแบบเปียกสลับแห้ง” ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว และลดปริมาณน้ำที่ใช้กับการปลูกข้าวในเขตชลประทาน ได้ร้อยละ 20-50 และสามารถลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงได้กว่า ร้อยละ 30

  1. การจัดการธาตุอาหารพืชและการใช้ปุ๋ย (Site Specific Nutrient Management)
คุณสุริยัน วิจิตรเลขการ รองผู้อำนวยการเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย

วัตถุประสงค์ของการจัดการธาตุอาหารพืช หรือนาข้าว คือการใช้ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารที่ข้าวขาดแคลน ให้ข้าวได้รับทุกธาตุอย่างเพียงพอและสมดุล ได้ผลผลิตข้าวสูงขึ้น โดยมีหลักการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง 4 ประการ ดังนี้

  1. ชนิดปุ๋ยที่ถูกต้อง
  2. อัตราปุ๋ยที่ถูกต้อง
  3. ใช้ปุ๋ยให้ถูกจังหวะเวลา
  4. ใส่ปุ๋ยในบริเวณที่ถูกต้อง
คุณสมใจ คำแผง ตัวแทนเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ เกษตรสมัยใหม่

การใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง ทั้ง 4 ประการ จะส่งผลดีด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในระยะยาว กล่าวคือ ด้านเศรษฐกิจ ชาวนาจะมีต้นทุนการผลิตที่ลดลง มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อทำกันอย่างกว้างขวางย่อมทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น และก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ของท้องถิ่น อันเป็นผลต่อเนื่องด้านสังคม ที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในทุกๆ ด้าน เกษตรกรมีกำลังทรัพย์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต สำหรับผลดีด้านสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นการลดความสูญเสียธาตุอาหารจากฟาร์มไปสู่สิ่งแวดล้อม และการใช้ปุ๋ยไนโตรเจนในอัตราที่เหมาะสม ช่วยลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

  1. การจัดการฟางและตอซัง (Straw and Stubble Management)

การเผาฟางในนาข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายหลายประการ ทั้งสภาพแวดล้อม และภาวะเรือนกระจกควันจากการเผาฟางเป็นสาเหตุหนึ่งของอุบัติเหตุบนท้องถนน ความร้อน และฝุ่นละอองจากขี้เถ้าที่พัดมากับลมเป็นมลพิษเช่นเดียวกับควัน และที่สำคัญที่สุดคือ ฟางข้าว ซึ่งเป็นอินทรียวัตถุที่มีธาตุอาหารพืช เป็นองค์ประกอบโดยมีธาตุอาหารพืช เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม เมื่อฟางข้าวถูกเผา ธาตุอาหารเหล่านี้จะสูญเสียไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งไนโตรเจนสูญหายไป 93 เปอร์เซ็นต์ และฟอสฟอรัส สูญหายไป 20 เปอร์เซ็นต์ จึงทำให้ดินเสื่อมโทรมลงไปจากการทำนาและการเผาฟางต่อเนื่อง นอกจากนี้ การทำนาแบบไม่เผาตอซังยังช่วยในการอนุรักษ์ดินไม่ทำให้ดินเสื่อม และทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้นจากเศษตอซังข้าวและวัชพืชที่อยู่ในแปลงนาอีกด้วย

การไถกลบตอซังแล้วปล่อยทิ้งไว้ 15 วัน ในสภาพดินแห้งถึงชื้น จึงเตรียมดินปลูกข้าว สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีในนาข้าวลงได้ในฤดูที่ 2 และฤดูต่อๆ ไป โดยข้าวให้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน

เกษตรกรทำนาโดยใช้เครื่องจักรยนต์
  1. มาตรฐานข้าวยั่งยืน GAP++

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี โดยเป็นการผลิตข้าวตามข้อกำหนดมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน หรือกระบวนการผลิตข้าวที่ก่อให้เกิดความสมดุลในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เกษตรกรที่ผลิตข้าวตามมาตรฐาน GAP++ จะใช้มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) มีการเพิ่มข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรดินและน้ำอย่างถูกต้อง การรักษาสุขอนามัยผู้ผลิต การปฏิบัติต่อแรงงานในการทำนาอย่างเป็นธรรมและถูกกฎหมาย และการมีรายได้จากการทำนาอย่างเหมาะสม โดยมีข้อกำหนดการผลิตข้าวตามมาตรฐานการผลิตข้าวที่ยั่งยืน สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อตัวเกษตรกรและสังคมโดยรวม

  1. เงินทุนหมุนเวียน

โครงการไทยไรซ์นามา ได้รับเงินทุนจาก กองทุน NAMA facility ซึ่งเป็นกองทุนที่ได้รับเงินสนับสนุนจากคณะกรรมาธิการยุโรป สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประเทศเดนมาร์ก และสหราชอาณาจักร เพื่อใช้สำหรับการดำเนินงานทางเทคนิคและสนับสนุนกลไกทางการเงิน โครงการได้รับทุนสนับสนุน จำนวน 8.4 ล้านยูโร เพื่อใช้ในการสนับสนุนตลาด ให้เกิดการใช้งานเทคโนโลยีการปรับหน้าดินด้วยเลเซอร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเงินทุนจำนวนนี้มีเป้าหมายเพื่อให้สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการลงทุนของเกษตรกร และให้เกิดการกระตุ้นตลาดของเทคโนโลยีใหม่

ป้ายชาวนารักโลกท่ามกลางแปลงนาข้าวสาธิต

เงินทุนสนับสนุนดังกล่าวจะถูกนำมาจัดตั้งเป็นเงินหมุนเวียน โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นผู้รับเงินและเป็นผู้จัดการเงินทุน

คุณดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า “โครงการชาวนารักโลก เป็นโครงการที่มุ่งและส่งเสริมให้มีการผลิตข้าวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีลักษณะของการปรับเทคโนโลยีในการผลิตข้าว 4 ป

ป แรก…คือการปรับพื้นที่ ทำพื้นที่ให้เสมอในลักษณะที่มีการใช้เลเซอร์

ป ที่สอง…คือ เปียกสลับแห้ง ค่อนข้างส่งเสริมกันในพื้นที่ทั้งหมด เป้าหมายที่เกือบ 3 ล้านไร่ และส่วน

ป ที่สาม…ส่วนของปุ๋ย จะเน้นเรื่องของการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ของดิน ที่เราเรียกกันว่า ปุ๋ยสั่งตัด เพื่อให้เกิดการประหยัดในการใช้ปุ๋ย ไม่ให้ปุ๋ยเกิดการเหลือ เกิดการหมัก หรือเกิดก๊าซขึ้นมา

ป ที่สี่…พูดถึงการแปรรูป ทำอย่างไร จะนำตอซังไปผลิตแปรรูปเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่น ก่อเกิดรายได้ให้แก่เกษตรกร นอกเหนือจากการเผาซึ่งนำมาสู่ปัญหาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีทั้งสี่ถ้าเกิดชาวนาใช้จะก่อเกิดการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้กับชาวนา ในขณะเดียวกันก็ทำให้การผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการกระทำนี้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและชาวนาผู้ปลูกข้าว”

นิทรรศการ

 ทำไม ถึงเลือก จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี

อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี

และจังหวัดสุพรรณบุรี 6 จังหวัดนี้

เป็นพื้นที่นำร่อง

คุณดุจเดือน กล่าวว่า “เราดูจากจังหวัดที่มีพื้นที่แปลงใหญ่ แล้วก็มีเกษตรกรรายย่อยด้วย เกษตรจังหวัดที่มีพื้นที่ชลประทาน มีการใช้น้ำเป็นพฤติกรรมที่เหมาะต่อการทำนาเปียกสลับแห้ง เพื่อก่อเกิดการใช้น้ำที่ประหยัดมากยิ่งขึ้น เป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการ โดยในระยะยาวเราก็หวังที่จะให้มีการขยายในพื้นที่อื่นทั่วไป แต่เราก็มองแล้วว่า ถ้าหากเลือกพื้นที่มุ่งเป้าเป็นเพียงบางจังหวัด การทำงานจะสะดวกในแง่ของการส่งเสริมและแง่ของการตลาดมากกว่าการเลือกทุกจังหวัดและทำทุกจังหวัดพร้อมๆ กันค่ะ”

ระหว่างการปรับเปลี่ยน ถ้ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมา

ทางโครงการมีการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร?

“ก็มีกองทุนนะคะ ในเงินที่ได้รับความช่วยเหลือ 590 ล้านบาท เป็นเงินจ่ายขาดทั้งหมด ครึ่งหนึ่งเป็นการจัดตั้งกองทุน ซึ่งเราก็ให้ ธ.ก.ส. เป็นผู้บริหาร กองทุนนี้เป็นกองทุนที่เกษตรกรสามารถกู้ยืมเพื่อที่จะนำไปปรับเปลี่ยนใช้เทคโนโลยีที่พูดเรื่อง 4 ป นี้นะคะ โดยกองทุนนี้ก็จะมีดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ (0%) นะคะ” คุณดุจเดือน กล่าว

มีสิ่งที่น่าสนใจ

“เปียกสลับแห้ง เป็นการใช้พื้นที่ประหยัดน้ำ น้ำขังในช่วงที่ต้องการน้ำ ในขณะที่ถ้าช่วงไหนไม่ต้องการน้ำ ก็ไม่ต้องใช้น้ำ เดิมก็จะเป็นการปลูกลักษณะแบบใช้น้ำขังตลอดช่วง ซึ่งการที่ใช้น้ำขังตลอดช่วง ก็จะทำให้เกิดการหมักหมมและทำให้เกิดก๊าซได้ ซึ่งก็จะเหมาะกับยุคปัจจุบัน ในส่วนของปุ๋ย การใส่ปุ๋ยตามความเชื่อบางทีก็อาจจะคิดว่าต้องใส่เยอะตามคำแนะนำของคนขาย ซึ่งบางทีเขาก็อยากขายของ เราเลยอยากให้มีการทำการวิเคราะห์ดินว่าในแปลงนี้ที่ทำการวิเคราะห์ จริงๆ แล้วขาดอะไร เพราะฉะนั้นก็จะได้ใส่ตามที่ขาด เกษตรกรก็จะประหยัดต้นทุนการซื้อปุ๋ยตรงที่เกษตรกรก็ใส่เท่าที่ขาด แทนที่จะใส่สิบกิโลยี่สิบกิโล เขาอาจจะใส่แค่สามกิโลก็ได้ เท่าที่ขาด ราคาในการให้บริการปรับหน้าดินของเทคโนโลยีแบบใหม่ใกล้เคียงกับการปรับหน้าดินแบบเดิม เพียงแต่ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนเทคนิคค่ะ” คุณดุจเดือน กล่าว

คุณศรายุทธ ยิ้มยวน รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า “ในส่วนของธ.ก.ส. จะมาเกี่ยวข้องกับโครงการนี้อยู่ 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรก คือเงินกองทุนสำหรับให้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ยสำหรับเกษตรกรที่จะนำไปใช้ในการปรับพื้นที่แบบเลเซอร์ ตรงนี้เราจะช่วยอำนวยสินเชื่อให้ จะช่วยดูแลให้สำหรับเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ ในส่วนที่สอง เป็นส่วนของสินเชื่อกรีนเครดิต เป็นสินเชื่อปนดอกเบี้ยต่ำให้กับกลุ่มที่เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย หมายความว่า ก็ปรับพื้นที่แต่ใช้เงินที่ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเป็นเงินยืม จากโครงการของ GIZ ส่วนหนึ่งแล้ว แต่ว่าเขาจะต้องลงทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายในการผลิต อันนี้ ธ.ก.ส. จะเป็นคนดูแลให้ดอกเบี้ยลดต่ำกว่าเกษตรกรทั่วไปอีกร้อยละ 1% ต่อปี ครับ”

คุณนนทิชา วรรณสว่าง รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า “โครงการ Thai Rice NAMA เป็นโครงการความร่วมมือทางวิชาการ ซึ่งมาสอนเทคนิคการทำนาเพื่อปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ต่ำลง จะแบ่งเทคโนโลยีการผลิตออกเป็น 3 กลุ่ม ให้ชาวนาเรียนรู้

กลุ่มแรก เป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีพื้นฐานโดยทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับพื้นที่ให้เสมอกัน การใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการกับตอซังก่อนที่จะเพาะปลูก

กลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มเทคโนโลยีการผลิตเฉพาะพื้นที่ อันนี้จะเริ่มลงถึงพันธุ์ข้าวที่จะใช้ในแปลงนา พื้นที่การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพราะพื้นที่ในการทำนาในแต่ละที่พื้นที่การใช้น้ำนั้นแตกต่างกัน และ

กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มเทคโนโลยีการผลิตแบบมาตรฐานการผลิตข้าวแบบยั่งยืน หรือที่เราเรียกว่า GAP++ จะต้องมีองค์ประกอบทั้งเรื่องของมาตรฐานข้าวกับเรื่องของข้าวที่ได้มีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ณ วันนี้ ก็จะให้ภาพรวมกับชาวนาว่าการทำการเกษตรแบบลดภาวะโลกร้อน โดยจะมีการทำฐานเรียนรู้ให้กับชาวนาให้ได้รู้ หัวใจหลักของโครงการ ทั้งเทคโนโลยีกับการทำงานตามหลักวิชาการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยมาก ไม่จำเป็นต้องให้น้ำมาก พิถีพิถันตั้งแต่การปรับพื้นที่ ตั้งแต่การให้ปุ๋ย ไปจนถึงการให้น้ำ รวมทั้งการเก็บรักษาระหว่างที่ข้าวอยู่ในแปลงนา จนกระทั่งการเก็บเกี่ยว อันนี้มีผลต่อเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น

เรื่องของการปรับพื้นที่จะเป็นเรื่องที่เราเห็นได้โดยชัด เป็นการใช้เลเซอร์ปรับพื้นที่ให้เสมอ ซึ่งสิ่งนี้จะส่งผลในเรื่องของการใช้น้ำ และจะมีผลต่อการปล่อยก๊าซมีเทนในนา เรื่องของการดูแลรักษาก็จะง่าย เพราะข้าวจะขึ้นต้นเสมอกัน การใส่ปุ๋ยก็จะลดลง การเก็บเกี่ยวผลผลิตก็จะง่ายขึ้น เนื่องจากพื้นที่เสมอ”

 

คุณสมบัติของชาวนาที่สนใจเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้

“เริ่มจากความสมัครใจ ซึ่งเราเริ่มเจาะจากโครงการที่ กรมการข้าว มีพวกนาแปลงใหญ่ เป็นต้น ก็จะง่ายต่อการเข้าไปดูแลและให้ข้อมูลตามหลักวิชาการ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เป็นเครือข่ายของกรมการข้าวอยู่แล้ว หลังจากเราลงพื้นที่นำร่องเสร็จ พื้นที่ข้างเคียงไม่ว่าจะอยู่ในนาแปลงใหญ่หรือไม่ก็ตาม ก็จะเห็นความสำเร็จของชาวนาที่ใช้การทำนาด้วยระบบแบบนี้ เขาก็จะหันมาร่วมมือกับภาครัฐเองโดยอัตโนมัติ พอเขาเห็นนาข้าวดี ผลผลิตสูง

ในขณะเดียวกันเขาก็ห่วงใยสิ่งแวดล้อมว่า โครงการนี้ก็ช่วยลดโลกร้อนได้ เดี๋ยวเขาก็จะมาร่วมช่วยด้วยเอง ระบบตรงนี้ที่เข้ามาจะไม่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น กลับจะทำให้ลดลง ยกตัวอย่าง การปรับระดับพื้นที่ด้วยระบบเลเซอร์ พอพื้นที่เสมอ การรดน้ำก็จะน้อยลง จะได้อย่างชัดๆ ลดค่าน้ำมันสูบน้ำเข้านา ไม่ว่าจะทำการหว่านหรือการปักดำก็จะลดจำนวนเมล็ดข้าวลง เพราะพื้นที่เสมอ การให้ความรู้เรื่องของปุ๋ยสั่งตัด การให้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ปุ๋ยก็จะได้ค่าตามที่ต้องการ ไม่จำเป็นต้องให้เยอะ

ทุกวันนี้เกษตรกรมีรายจ่ายอยู่สองเรื่อง คือ ค่าน้ำมัน ที่ใช้สูบน้ำเข้าแปลงนา และค่าปุ๋ย ค่ายา ถ้าเราลดตรงนี้ได้ แน่นอนลดต้นทุนแล้วเพิ่มผลผลิตด้วย ค่าใช้จ่ายลดลง รายได้เพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายต่อไร่ลดลง ขายข้าวได้เพิ่มขึ้น ผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อรายได้ของชาวนาแน่นอน” คุณนนทิชา กล่าว

คุณสุริยัน วิจิตรเลขการ รองผู้อำนวยการเกษตรกรรมและอาหาร องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ประจำประเทศไทย เผยว่า “เราพยายามที่จะหาวิธีทำให้การปลูกข้าวลดโลกร้อนและคำนึงถึงความต้องการของเกษตรกร ถึงสื่อสารออกไปว่าเพิ่มประสิทธิภาพลดโลกร้อนเพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน”

“โครงการมองถึงปัญหาอยู่ 2 ปัญหา หลักๆ ปัญหาแรกคือ ปัญหาที่เกษตรกรมักจะเจอก็คือเรื่องของต้นทุนการผลิตสูง ประสิทธิภาพการผลิตต่ำ ประกอบกับว่ามีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม น้ำแล้ง โรคแมลง อีกแนวทางที่เราได้เห็นในช่วงระยะเวลา 3-4 ปี ที่ผ่านมา มีทิศทางการพัฒนาไปสู่ในเรื่องของความยั่งยืน สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โครงการเน้นเรื่องของการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญ มีอยู่ 3 ชุด

ชุดแรก เป็นชุดของเทคโนโลยีพื้นฐาน ประกอบไปด้วยเทคโนโลยี 4 อย่าง (4 ป) ซึ่งเทคโนโลยี 4 อย่าง เป็นเทคโนโลยีที่จะส่งผลในเรื่องลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ ลดโลกร้อนโดยตรง

ฐานการเรียนรู้ที่สำคัญ

ชุดเทคโนโลยีที่สอง เป็นชุดเทคโนโลยีเฉพาะพื้นที่

ชุดที่สาม เป็นเรื่องของเทคโนโลยีอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การทำนานั้นเป็นไปตามการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยชุดเทคโนโลยีพื้นฐานมีอยู่ 4 ตัว ตัวแรก การปรับพื้นที่ตัวเลเซอร์ พื้นที่นาส่วนใหญ่ของเกษตรกรเป็นลุ่มเป็นดอน เป็นพื้นที่ไม่ได้ระดับ ส่งผลให้เกษตรกรต้องสูบน้ำในปริมาณมาก ใช้ปุ๋ยหรือยารักษา ส่วนที่หนึ่งจะช่วยให้การใช้ปัจจัยการผลิตลดน้อยลง ลดต้นทุนโดยตรง ส่วนที่สอง คือการทำนาเปียกสลับแห้ง เพราะว่าพืชไม่ได้ต้องการน้ำตลอดเวลา ในระยะเวลาปลูกไม่ว่าจะเป็น 90 วัน หรือ 120 วัน เรารู้ว่าพืชนั้นต้องการน้ำในช่วง 40 วันแรก หลังจากนั้น พืชไม่ต้องการน้ำ ถ้าเราสามารถจะใช้น้ำเพื่อช่วยในเรื่องของการกำจัดศัตรูพืช โรคพืช ในขณะเดียวกันก็ลดการปั๊มน้ำเข้านาเกษตรกร ก็มีผลทำให้ไม่เกิดการหมัก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้พืชเกิดความแข็งแรง มีภูมิต้านต่อโรคพืชด้วย ส่วนที่สาม คือเรื่องของการจัดการดินและปุ๋ย โดยที่เน้นในเรื่องของการวัดค่าวิเคราะห์ดิน การใส่ปุ๋ยมากเกินไปมีผลทำให้พืชบางครั้งไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร อาจจะเป็นโรคด้วยซ้ำ การส่งเสริมให้เกษตรกรวิเคราะห์ค่าดินจะได้รู้ถึงแร่ธาตุสำคัญต่างๆ ว่ามีปริมาณที่ขาดอยู่เท่าไร เกษตรกรควรจะให้ปุ๋ยปริมาณเท่าไร ซึ่งนี่จะมีส่วนเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของการใช้ปุ๋ย

สุดท้าย เป็นเรื่องของการจัดการฟางและตอซัง เกษตรกรมักจะมีปัญหาในส่วนนี้ ทำให้บางครั้งต้องใช้ในส่วนของเครื่องจักรยนต์และแรงงานในเรื่องของการเผา ซึ่งการเผาก็จะมีผลในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นในเรื่องของฝุ่นละอองขนาดเล็ก ความสมบูรณ์ของดิน เป็นเพราะว่าเมื่อดินถูกความร้อนก็ส่งผลในเรื่องของความสมบูรณ์ แร่ธาตุ แล้วก็สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในดิน การจัดการฟางและตอซังจะช่วยสร้างในส่วนของแรงจูงใจให้เกษตรกรได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นในเรื่องของการนำเอาฟางข้าวและตอซังออก โดยใช้เครื่องจักรยนต์ เก็บอัดเป็นก้อนนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ หรือปรับปรุงความสมบูรณ์ของดินในเรื่องของการเก็บแร่ธาตุในครั้งต่อไป ถือเป็น 4 เทคโนโลยีสำคัญซึ่งเราเชื่อว่าเมื่อเกษตรกรทำนั้นจะมีส่วนสำคัญในเรื่องของการลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และก็ลดโลกร้อนด้วยครับ” คุณสุริยัน กล่าว

คุณสมใจ คำแผง ตัวแทนเกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่ เกษตรสมัยใหม่ บอกว่า “การวิเคราะห์ดินให้ผลผลิตที่ดีกว่าเนื่องจากเป็นการลดต้นทุน ข้าวที่ได้มีลักษณะต้นแข็ง ใบตั้ง ต้านทานโรค ทางด้านผลผลิตที่ได้ก็ไม่แตกต่างจากทั่วไปเท่าไร แต่เราลดต้นทุนเยอะกว่าการให้แบบทั่วไป หมอดินจะมีการแนะนำว่า ดินเรามีลักษณะเป็นอย่างไรควรจะใช้ปุ๋ยแบบไหนยังไง และเราก็จดไว้ เวลาเราจะไปซื้อปุ๋ย เราก็เอาเอกสารเราไป เพื่อช่วยในส่วนของการจดจำ”

ข้อแตกต่าง ระหว่างการทำนาธรรมดา กับทำนาแบบลดโลกร้อน

“ตอนแรกเราทำนาแบบธรรมดา เราใช้ต้นทุนเยอะค่ะ เพราะเราใช้ปุ๋ย โดยที่เราไม่รู้ว่า ต้นข้าวหรือพื้นดินเราต้องการขนาดไหน ต้นทุนเราก็เลยสูงขึ้น แต่เราทำการพาดินไปหาหมอ เราก็เลยลดต้นทุนได้เยอะขึ้น เพราะเราใช้ปุ๋ยสั่งตัด ข้าวที่ได้จะต้นแข็ง ใบตั้ง แมลงไม่กวน จุดเริ่มต้นในการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากทางกรมการข้าวมีการแนะนำถึงเรื่องของการลดต้นทุน ตอนแรกที่จะเปลี่ยนไม่ยากเลย เนื่องจากใจชอบอยู่แล้ว ชอบธรรมชาติ ใช้ยาหมักเองทำเอง ตอนนี้ทำมาได้นาน 3 ปีกว่า

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องของการลดต้นทุน มีการแนะนำเพื่อนๆ ปัจจุบันนี้ ในหมู่บ้านยังมีการรณรงค์ไม่ใช้สารเคมี การตอบรับดี ตอนนี้มาเข้ากลุ่มร้อยกว่าแล้ว” คุณสมใจ กล่าว