เกษตรกรรุ่นใหม่ ผู้ตั้งใจสานสืบ พัฒนา อาชีพพระราชทาน : สมาชิกสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)

จากการที่กลุ่มเกษตรกรโคนมในพื้นที่จังหวัดราชบุรีและจังหวัดนครปฐม ประสบปัญหาน้ำนมดิบล้นตลาด ในปี พ.ศ. 2512 จึงได้ทำหนังสือกราบบังคมทูลต่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกา ธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา จากพระมหากรุณาธิคุณในครั้งนั้น นำมาซึ่งการก่อตั้งโรงงานนมผงและศูนย์รวมนมหนองโพ เพื่อรับซื้อน้ำนมดิบจากสมาชิก และเติบโต ก้าวหน้า จนกลายเป็นสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ผู้ผลิตสินค้า แบรนด์หนองโพ ที่มาพร้อมสโลแกน “นมสดหนองโพ นมโคแท้แท้” ในปัจจุบัน

ระยะเวลาเกือบ 50 ปี นับแต่ปีก่อตั้งสหกรณ์ เกิดการเปลี่ยนผ่านจากรุ่นสู่รุ่น ครอบครัวเม่งผ่อง เป็นหนึ่งในครอบครัวสมาชิกเกษตรกรโคนมที่รับมรดกตกทอดทางอาชีพมาจากรุ่นปู่ ย่า จนปัจจุบันสืบทอดมาถึงรุ่นหลานและดำเนินกิจการฟาร์มโคนมเข้าปีที่ 7 แล้ว

นายปฐมพร เม่งผ่อง สมาชิกสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นว่า คุณปู่กับคุณย่าเป็นเกษตรกรฟาร์มโคนมรุ่นแรกของสหกรณ์ แต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ไม่ได้สืบสานต่อ พอมาถึงรุ่นตน ซึ่งในขณะนั้นอยู่ในวัยมัธยมศึกษาตอนปลาย ปู่กับย่าได้ตัดสินใจเลิกทำฟาร์ม เพราะอายุมาก ทำไม่ไหว ด้วยความที่ได้ใกล้ชิด เรียนรู้ และช่วยปู่ย่าทำฟาร์มมาตั้งแต่เด็ก ตนจึงเกิดความมุ่งมั่นที่จะสืบสาน ต่อยอดอาชีพโคนมจากปู่กับย่า นับจากวันนั้นตนจึงได้ตัดสินใจเข้าศึกษาต่อในคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเตรียมพร้อมเป็นเกษตรกรฟาร์มโคนมรุ่นต่อไป หลังจากเรียนจบตนก็ได้เข้าทำงานในโรงงานอาหารสัตว์ หนึ่งปีต่อมาก็ได้เข้ามาทำงานเป็นเป็นนักวิชาการสัตวบาลที่สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) ภารกิจหลัก คือ ออกผสมพันธุ์เทียมโค แนะนำ ส่งเสริม เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพโค พัฒนาคุณภาพน้ำนม และมาตรฐานโรงเรือน ให้แก่สมาชิก เมื่อได้กลับมาทำงานในบ้านเกิด ได้อยู่กับครอบครัว ตนจึงเริ่มสานฝันทำฟาร์มโคนมตามที่เคยบอกปู่กับย่าไว้ โดยทำการซื้อโครุ่น พันธุ์  โฮลสไตน์ ฟรีเซียน (Holstein-Friesian) มาหนึ่งตัว ผสมเทียมเอง ด้วยน้ำเชื้อจากสหกรณ์ เมื่อโคท้อง ก็รีดน้ำนมนำไปขายที่สหกรณ์ เก็บเล็กผสมน้อย ค่อยๆ ซื้อโคเข้ามาเพิ่มเติมในฟาร์ม

การรีดน้ำนมดิบเพื่อจัดส่งไปยังสหกรณ์ฯ นั้น ตนจะรีดน้ำนมวันละ 2 ครั้ง คือ ช่วง 04.00 น. และ 16.00 น. ได้น้ำนมดิบวันละประมาณ 180-190 กิโลกรัม ต้นทุนน้ำนมดิบอยู่ที่กิโลกรัมละ 11 บาท สหกรณ์มีราคากลางรับซื้ออยู่ที่กิโลกรัมละ 18.50 บาท และจะบวกเพิ่มให้ตามคุณภาพน้ำนมและมาตรฐานต่างๆ ที่ฟาร์มทำได้ ถ้าสามารถผ่านมาตรฐานได้ทุกข้อ ก็จะสามารถขายน้ำนมดิบได้ราคาถึงกิโลกรัมละ 21 บาท สามารถสร้างรายได้ราว 50,000-60,000 บาท ต่อเดือน

นอกจากการส่งน้ำนมดิบให้แก่สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์) เป็นหลักแล้ว  นายปฐมพร  เม่งผ่อง และภรรยา ยังได้แปรรูปน้ำนมดิบจากฟาร์มของตนเป็นผลิตภัฑ์นมพาสเจอร์ไรส์ ภายใต้แบรนด์ “คีตะ มิลค์” บรรจุในขวดแก้ว 250 มิลลิลิตร ขายขวดละ 35 บาท (3 ขวด 100 บาท) ผลิตครั้งละ 100 กว่าขวด (เดือนหนึ่งผลิต 4 ครั้ง) วางขายที่ตลาดนัดมหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ ทุกวันพุธ และยังรับทำตามออเดอร์บ้างเล็กน้อย ซึ่งการแปรรูปนมเองสามารถขายได้ถึงราคากิโลกรัมละประมาณ 100 กว่าบาท สร้างรายได้ราวเดือนละ 15,000-16,000 บาท แม้จะเทียบเป็นจำนวนเงินที่น้อยกว่าการขายน้ำนมโคดิบให้สหกรณ์ แต่ก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการต่อยอดผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า เป็นการสร้างรายได้เพิ่มอีกทาง

การเป็นสมาชิกสหกรณ์ และการขายน้ำนมดิบให้สหกรณ์ฯ ถือเป็นความมั่นคงของครอบครัว เพราะสหกรณ์ฯ เป็นตลาดรองรับน้ำนมดิบที่แน่นอน ทั้งยังได้โอกาสซื้อปัจจัยการผลิตในราคายุติธรรม สามารถขอสินเชื่อเพื่อปรับปรุงพัฒนาฟาร์ม และได้รับความช่วยเหลือ แนะนำ ในเรื่องต่างๆ รวมถึงสหกรณ์ยังส่งเสริมให้สมาชิกได้เข้าอบรม เรียนรู้เพิ่มเติมในหลักสูตรเกี่ยวกับการเลี้ยงโคนม การจัดการฟาร์ม การผลิตน้ำนมให้ได้มาตรฐาน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากน้ำนม ในอนาคตอาจมีการขยายกำลังผลิต ถ้าสามารถหาตลาดรองรับได้ และมีเวลามากพอ รวมถึงเล็งผลิตโยเกิร์ต ที่ได้หัวเชื้อมาจากการจัดการอบรมของสหกรณ์ด้วย

“สิ่งสำคัญที่อีกอย่างหนึ่ง คือ การปลูกฝังให้รุ่นลูก ได้เรียนรู้ สัมผัส และซึมซับการทำฟาร์มโคนม ให้เป็นอาชีพที่มั่นคง และไปต่อได้ เพราะเป็นอาชีพที่พ่อให้” นายปฐมพร เม่งผ่อง กล่าวทิ้งท้ายด้วยความตั้งใจที่จะสานต่ออาชีพการทำฟาร์มโคนมจากรุ่นปู่ย่า และมีความหวังจะส่งต่อมรดกอาชีพพระราชทานสู่รุ่นลูกต่อไป