กรมวิชาการเกษตร ปล่อยกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่คืนสู่ป่า สนองพระราชเสาวนีย์ “สมเด็จพระพันปีหลวงฯ” ไม่ให้สูญพันธุ์

กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ จ.กระบี่ จัดพิธีปล่อยกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่คืนสู่ป่า 1,500 ต้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ “สมเด็จพระพันปีหลวงฯ เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 12 สิงหาคม 2562 และสืบสานต่อยอดพระราชเสาวนีย์ด้านการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ป่าท้องถิ่นภาคใต้ เร่งขยายพันธุ์-ปลูกเพิ่มไม่ให้สูญพันธุ์

นายสุรเดช ปัจฉิมกุล รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 12 สิงหาคม 2562 ตลอดจนสนองพระราชเสาวนีย์ของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชประสงค์ที่จะอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้ป่า ท้องถิ่นภาคใต้ ให้อยู่กับธรรมชาติแบบยั่งยืน

กรมวิชาการเกษตร ร่วมกับ จังหวัดกระบี่ ได้จัดพิธี “ปล่อยรองเท้านารีเหลืองกระบี่คืนสู่ป่า” จำนวน 1,500 ต้น ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ตำบลเขาคราม อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ โดยกิจกรรมดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนสิงหาคม เพื่อสนองแนวทางพระราชเสาวนีย์ให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ ดำเนินการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีเพื่อเพิ่มจำนวนและปลูกคืนสู่ป่า รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนและเยาวชนในพื้นที่จังหวัดกระบี่ได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญในด้านการสนับสนุน ฟื้นฟู และอนุรักษ์ เกิดจิตสำนึก มีความรัก และหวงแหนทรัพยากรพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ให้ยังคงอยู่คู่กับผืนป่าจังหวัดกระบี่และประเทศไทยต่อไป

​ด้าน นายวิรัตน์ ธรรมบำรุง ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 7 กล่าวว่า ปัจจุบันศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ นับเป็นหน่วยงานหลักในการรวบรวมพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีที่พบในภาคใต้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า กล้วยไม้รองเท้านารี เป็นพันธุ์กล้วยไม้ป่าท้องถิ่นภาคใต้ที่หายาก โดยเฉพาะพันธุ์เหลืองกระบี่ที่ถือได้ว่าเป็นพันธุ์กล้วยไม้ประจำจังหวัดกระบี่ ในปัจจุบันมีจำนวนลดลงไปจากธรรมชาติ จนอยู่ในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง

​ ​สำหรับความเป็นมาของโครงการ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 21เมษายน พ.ศ. 2543 ครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี ซึ่งได้รวบรวมและอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีที่พบในภาคใต้ไว้ รวม 6 พันธุ์ ได้แก่ เหลืองกระบี่ เหลืองตรัง เหลืองพังงา ขาวสตูล ม่วงสงขลา และคางกบใต้ภายหลังทอดพระเนตรได้มีพระราชเสาวนีย์ให้สถานีทดลองข้าวกระบี่ในขณะนั้น ดำเนินการขยายพันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี เพื่อเพิ่มจำนวนและปลูกคืนสู่ป่าในพื้นที่ที่เหมาะสม

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ (ศวพ. กระบี่) ในปัจจุบัน ได้สนองพระราชเสาวนีย์โดยจัดทำเป็น “โครงการอนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดกระบี่” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีในจังหวัดกระบี่มิให้สูญพันธุ์ ปลุกจิตสำนึกให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปเกิดความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรพันธุกรรมพืชของชาติ และเพื่อรวบรวมพันธุ์รองเท้านารีที่มีแหล่งกำเนิดในจังหวัดกระบี่ นำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ให้เพิ่มมากขึ้น

​ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกระบี่ กรมวิชาการเกษตร ได้ดำเนินการขยายพันธุ์รองเท้านารี โดยเฉพาะรองเท้านารีเหลืองกระบี่ ปีละ 2,000 กระถาง และปลูกคืนสู่ป่า ปีละ 1,500 กระถาง ส่วนที่เหลือ ได้มอบให้ส่วนราชการต่างๆ นำไปช่วยขยายพันธุ์ให้แพร่หลายมากขึ้น พร้อมกันนี้ ได้จัดทำเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับกล้วยไม้รองเท้านารี สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ผู้สนใจทั่วไป

นายวิรัตน์ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกล้วยไม้เขตร้อนที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะกล้วยไม้รองเท้านารีพันธุ์พื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย มีจำนวน 17 ชนิด ล้วนอยู่ในสกุล Paphiopedilum เพียงสกุลเดียวเท่านั้นซึ่งได้รับความสนใจนำมาปลูกเลี้ยง ปรับปรุงพันธุ์และขยายพันธุ์เพื่อการค้ากันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น บางประเทศในยุโรปและเอเชีย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งส่งออกกล้วยไม้รองเท้านารีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลกไม่แพ้ไม้ดอกไม้ประดับประเภทอื่นๆ ทั้งในรูปแบบของไม้กระถางและไม้ตัดดอก ส่วนรองเท้านารีเหลืองกระบี่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่น ที่พบในหลายจังหวัดที่ติดกับชายฝั่งอันดามัน เช่น ภูเก็ต พังงา ตรัง แต่พบมากในจังหวัดกระบี่ จึงเป็นที่มาของชื่อรองเท้านารีเหลืองกระบี่เป็นพันธุ์ที่หายาก และนับวันมีปริมาณที่ลดลง ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้เร่งขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณโดยการนำไปปล่อยในป่าอย่างสม่ำเสมอเพื่อป้องกันการสูญพันธุ์