เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2562 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จัดโครงการสัมมนาความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านความร่วมมือยางพาราระหว่างประเทศ (Seminar on Update and Exchange Knowledge from International Rubber Forum) ของการยางแห่งประเทศไทย ประจำปี 2562 เปิดพื้นที่เวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรียนรู้เพิ่มประสบการณ์งานวิจัย เสริมสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนา เตรียมความพร้อมผู้เข้าอบรมสู่เวทีวิจัยยางพาราระดับนานาชาติ ระหว่างวันที่ 14-16 สิงหาคม 2562 ณ เดอะไพน์ รีสอร์ท จังหวัดปทุมธานี
นางสาวมยุรี ลงสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการ การยางแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานเปิดโครงการสัมมนาฯ กล่าวว่า กยท. เป็นองค์กรกลางที่ดูแลและบริหารจัดการยางพาราทั้งระบบ มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านยางพาราทั้งงานวิชาการ งานวิจัย การค้า การลงทุน ตลอดจนบุคลากร ให้ก้าวสู่ความมีมาตรฐานในระดับสากลกับองค์กร สถาบัน หรือสมาคมระหว่างประเทศ เพื่อนำไปสู่ “การพัฒนา” “ความยั่งยืน” และ “การประสานประโยชน์ระหว่างประเทศ” ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และเทคโนโลยี ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กยท. มีหลายๆ กิจกรรม หลายๆ โครงการ ซึ่งได้ดำเนินการและบูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงต่างประเทศ สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางภาคเอกชน ด้วยความพยายามที่จะผลักดันพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้นด้วยการคิดค้น การพัฒนา ต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ และที่สำคัญ ได้มีการแลกเปลี่ยน เพื่อสร้างความร่วมมือกับนานาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติจากทั่วโลก หันมาให้ความสำคัญและบูรณาการพัฒนายางพารา และผลิตภัณฑ์ยางพาราให้มีคุณภาพ สร้างประโยชน์และเพิ่มมูลค่าตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงสินค้าแปรรูปร่วมกัน
นางสาวมยุรี กล่าวเพิ่มว่า การจัดโครงการจัดสัมมนาความก้าวหน้าและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านความร่วมมือยางพาราระหว่างประเทศ ของ กยท. ซึ่งปีนี้ นับว่าเป็นครั้งแรกของ กยท. จะเป็นโครงการหนึ่งที่เป็นพื้นที่และเวทีสำหรับผู้แทนประเทศไทยทั้งผู้บริหาร นักวิชาการ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญได้มีโอกาส แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านความร่วมมือยางพาราระหว่างประเทศ และเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์งานวิจัย การมีส่วนร่วมระดับนานาชาติเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยผู้ที่เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้จะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปตามฐานต่างๆ เพื่อเป็นการละลายพฤติกรรม สร้างความสัมพันธ์ และให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเหมาะสม และช่วยกันสร้างเครือข่ายนักวิจัยให้มีความรู้ ความสามารถในการก้าวสู่เวทีเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่าง กยท. กับองค์กรความร่วมมือยางพาราระหว่างประเทศต่อไป และท้ายที่สุดผู้เข้าสัมมนา
ในครั้งนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างประโยชน์ต่อวงการยางพาราทั้งต่อองค์กร ประเทศชาติ และนานาชาติต่อไป