สูตรน้ำหมักชีวภาพแทนเคมี ลดต้นทุนในสวนยางฯ ที่เปิดกรีดแล้ว ทุน 2 พัน ใช้ได้ 10 ไร่

ปัจจุบัน การทำสวนยางพารามีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก เนื่องจากปุ๋ยเคมีราคาแพง เกษตรกรรายย่อยไม่มีเงินทุนเพียงพอที่จะซื้อปุ๋ยเคมีใส่ยางพาราให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเกษตรกร ทำให้ได้รับผลผลิตตกต่ำ รายได้ลดลง สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรเป็นอย่างมาก

แต่มีเกษตรกรหัวไว ใจสู้ ที่ไม่ยอมแพ้ คิดค้นวิธีการที่จะลดต้นทุนการผลิตในเรื่องของปุ๋ยเคมี โดยหันมาใช้น้ำหมักชีวภาพแทน

คุณลุงสุริยา เพชรเกษม อยู่บ้านเลขที่ 46/2 หมู่ที่ 4 ตำบลท่านา อำเภอกะปง จังหวัดพังงา เป็นเกษตรกรหัวไว ใจสู้ ซึ่งได้รับผลกระทบดังกล่าวด้วย ทำการเกษตรไร่นาสวนผสม โดยการเลี้ยงสัตว์ ปลูกไม้ผลและยางพารา ได้ตัดสินใจเลิกใช้ปุ๋ยเคมี มาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยยึดหลักการทำเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยทำน้ำหมักชีวภาพใช้เอง ต้นทุน 2,000 บาท/พื้นที่ปลูกยางพารา 10 ไร่ ผลผลิตที่ได้รับ 26 กิโลกรัม/วัน

สูตรน้ำหมักชีวภาพที่ใช้บำรุงต้นยางพารา ประกอบด้วย

1. กล้วย จำนวน 1 กิโลกรัม ราคา 5 บาท
2. ปลา จำนวน 1 กิโลกรัม ราคา 30 บาท
3. ฟักทอง จำนวน 1 กิโลกรัม ราคา 20 บาท
4. มะละกอ จำนวน 1 กิโลกรัม ราคา 20 บาท
5. กากน้ำตาล จำนวน 1 กิโลกรัม ราคา 5 บาท
6. สารเร่ง พด.2 จำนวน 1 ซอง
7. น้ำ จำนวน 10 ลิตร

รวมต้นทุนการผลิต 80 บาท ใช้เวลาหมัก จำนวน 21 วัน จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้น 10 ลิตร ผสมน้ำใช้กับสวนยางพาราได้ 2,000 ลิตร

(Photo by CHRISTOPHE ARCHAMBAULT / AFP)

เคล็ดลับในการทำน้ำหมักชีวภาพให้ได้ผลดี

1. ควรเลือกใช้เศษผัก ผลไม้ ที่ยังไม่เน่าเสีย สับให้เป็นชิ้นเล็กๆ ใส่ภาชนะที่มีปากกว้าง เช่น ถังพลาสติก หรือโอ่ง หากมีน้ำหมักชีวภาพอยู่แล้ว ให้เทผสมลงไปแล้วลดปริมาณกากน้ำตาลลง ปิดฝาภาชนะทิ้งไว้จนได้เป็นน้ำหมักชีวภาพ จากนั้นกรอกใส่ขวด ปิดฝาให้สนิทรอการใช้งานต่อไป

2. ในระหว่างการหมักห้ามปิดฝาภาชนะจนแน่นสนิท เพราะอาจทำให้ระเบิดได้ เนื่องจากระหว่างการหมักจะทำให้เกิดแก๊สต่างๆ ขึ้น เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน เป็นต้น

3. ไม่ควรเลือกพืชจำพวกเปลือกส้มใช้ทำน้ำหมักชีวภาพ เพราะมีน้ำมันที่ผิวเปลือกส้มจะทำให้จุลินทรีย์ไม่ย่อยสลาย การทำน้ำหมักชีวภาพไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องอาศัยเวลาและความอดทน ที่สำคัญน้ำหมักชีวภาพไม่มีสูตรตายตัว เราสามารถทดลองปรับเปลี่ยนวัตถุดิบให้เหมาะสมกับต้นไม้ของเรา เพราะสภาพแวดล้อมแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน ต้นไม้แต่ละท้องถิ่นก็ต้องการการดูแลที่แตกต่างกัน น้ำหมักชีวภาพจึงจำเป็นต้องมีความแตกต่างกันตามท้องถิ่น

(Photo by Jonathan KLEIN / AFP) / TO GO WITH AFP STORY: Thailand-China-US-rubber-economy-trade, FOCUS by Sophie DEVILLER

วิธีใช้ให้ได้ผลดี

– ใช้หัวเชื้อจุลินทรีย์เข้มข้น 1 ลิตร ผสมน้ำ 200 ลิตร ใส่ยางพาราได้ 1 ไร่

– วิธีการใช้น้ำหมักใส่แปลงยางพาราที่เปิดกรีดแล้ว ใช้น้ำหมักเข้มข้นใส่ถ้วยรับน้ำยาง เมื่อกรีดครั้งต่อไปก็จะเทน้ำหมักที่ผสมน้ำแล้ว ในถ้วยรับน้ำยางลงในแปลงยางพาราโดยไม่ต้องจ้างแรงงาน

– การใส่น้ำหมักชีวภาพในสวนยางพารา ใส่เดือนละ 3 ครั้ง

ประโยชน์ที่ได้รับ

– ลดต้นทุนในการผลิตยางพารา โดยใช้แทนปุ๋ยเคมี

– ปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดีขึ้น เหมาะสมแก่การปลูกพืช

– รักษาสภาพแวดล้อม

– เปลือกยางพารานิ่ม กรีดง่าย

– ใช้ทาหน้ายางเพื่อรักษาโรคหน้ายางตายนึ่ง