หนุ่มอ่างทอง รับจ้างแสดง-ถ่ายแบบ เพาะปลากัดป่าไทย ส่งขายต่างประเทศ

อ่างทอง ได้ชื่อว่าเป็นจังหวัดที่มีการเพาะเลี้ยงปลากัดและทำเป็นฟาร์มปลากัดมากที่สุดจังหวัดหนึ่ง

คุณชัยพร ลองซุม หนุ่มอ่างทองโดยกำเนิด ด้วยหน้าตาและบุคลิกมีความเป็นไทยสูง ทำให้ได้รับการทาบทามให้แสดงละครและถ่ายแบบเชิงย้อนยุคอยู่เสมอ จนยึดเป็นอาชีพหลัก และด้วยพื้นฐานที่เกิดและเติบโตมาเป็นเด็กต่างจังหวัด เล่นช้อนปลากัดแถวบ้านอยู่เสมอ ทำให้ชอบและรักในปลากัด ทำให้ราว 9 ปีก่อน เมื่อมีงานประจำทำ จึงขวนขวายหาปลากัดมาเลี้ยง โดยไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นปลากัดชนิดใด หากเห็นว่าสวย และอยากเลี้ยงก็ซื้อหรือช้อนตามแหล่งน้ำธรรมชาติ นำมาเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงสวยงามของบ้าน

คุณชัยพร ลองซุม หนุ่มอ่างทอง ในลุคถ่ายแบบ

หลังเลี้ยงเล่นได้เพียงปีเศษ ก็มีรายได้จากการเพาะปลากัดขายผ่านช่องทางอินเตอร์เน็ตเท่าที่มี พอเป็นรายได้เสริมจากอาชีพรับจ้างแสดงและถ่ายแบบเชิงย้อนยุคที่ทำอยู่

คุณชัยพร เริ่มมองเห็นรายได้ที่มีทุกวัน ไม่ต้องมานั่งรองานตามระยะเวลา จึงเริ่มตั้งใจทำฟาร์มปลากัดอย่างจริงจัง โดยเน้นไปที่ปลากัดป่า ซึ่งมีความแตกต่างและโดดเด่นไม่เหมือนปลากัดสวยงามทั่วไป

คุณชัยพร ให้ข้อมูลว่า ปลากัดป่าหรือปลากัดลูกทุ่งแต่ละภาคของประเทศไทย มีลักษณะที่แตกต่างและโดดเด่นที่ไม่เหมือนกัน ปลากัดป่าแต่ละภาคของประเทศไทยมีลักษณะที่แตกต่างกัน ในส่วนของปลากัดป่าภาคอีสาน มีทั้งทั่วไปและปลากัดที่มีความแปลกกว่าปลากัดอีสานทั่วไป พบที่บึงโขงโหลง จังหวัดบึงกาฬ เรียกปลากัดป่าชนิดนี้ว่า ปลากัดป่าหางลายกีตาร์ ซึ่งนอกจากพบปลากัดป่าในภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทยแล้ว ยังพบปลากัดป่ามหาชัย ซึ่งมีความแตกต่างไม่เหมือนปลากัดในภาคอื่นๆ อีกด้วย

คุณชัยพร หาปลากัดป่าจากแหล่งน้ำธรรมชาติ

ปลากัดป่าภาคใต้ มีก้านครีบหางมีสีแดงสีพื้นหางมีสีเขียวแทรกในก้านหาง บริเวณปลายหางมีสีแดงคล้ายพระจันทร์เสี้ยวตัดขอบดำ สีพื้นลำตัวเข้ม เกล็ดมีสีเขียวเหลือบฟ้าเรียงเหมือนเมล็ดข้าวโพด บริเวณชายน้ำมีสีเขียวเหลือบฟ้าขึ้นแซมเป็นเส้นระหว่างครีบแต่ละเส้น ส่วนปลายชายน้ำมีสีแดง แก้มมีสีเขียว มีแถบที่แก้ม 2 ขีด ตะเกียบมีสีแดงขอบดำ ปลายตะเกียบสีขาว

ปลากัดป่าภาคกลาง ก้านครีบหางเป็นสีแดง สีพื้นด้านในมีสีเขียว ด้านนอกของขอบมีสีแดง ที่ปลายครีบหางตัดขอบสีดำ จะพบได้ทั้งหางพัดและหางโพธิ์ สีของลำตัวเวลาขึ้นสีลำตัวจะเป็นสีน้ำตาลแดงไปถึงแดงสด สีของเกล็ดวาวเหลือบเขียวอมเหลืองหรือน้ำเงินอมม่วง ชายน้ำเส้นก้านครีบเป็นสีแดง จะมีสีเหลือบเขียวอมเหลือง บ้างก็มีน้ำเงินอมม่วงแล้วแต่แหล่งแต่ละที่ บริเวณแก้มมีขีดแนวตั้งเป็นสีแดง 2 ขีด ตะเกียบมีสีแดงตัดขอบสีดำ ปลายตะเกียบสีขาว

ปลากัดป่าภาคกลาง ตัวแดง แก้มแดง

ปลากัดป่ามหาชัย แก้มมีสีเขียวอมฟ้า บางตัวจะมีแก้มเคลือบทั้งแท่น บริเวณใต้แผ่นปิดเหงือกมีสีดำ สีพื้นลำตัวของปลากัดป่ามหาชัยจะมีสีไล่จากสีน้ำตาลไปจนสีดำสนิท เกล็ดแววสีเขียวอมฟ้า เกล็ดจะเรียงเหมือนเมล็ดข้าวโพด ครีบหางจะมีทั้งหางโพธิ์และหางพัด ก้านครีบหางเป็นสีแดง พื้นหางมีสีเหลืองฟ้าอมเขียวตลอดทั้งหาง ลักษณะของพื้นสีชายน้ำด้านล่างจะมีสีน้ำตาลดำ ครีบตะเกียบมีสีน้ำตาลดำ ขอบหน้าตะเกียบมีสีเขียวอมฟ้า

ปลากัดป่าภาคอีสาน หางจะมีจุดประเหมือนเมล็ดแมงลัก ก้านครีบหางเป็นสีแดง สีพื้นหางเป็นสีฟ้าและเขียว สีพื้นลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อน มีเกล็ดสีเหลือบเขียวทั้งตัว บริเวณแก้มมีเกล็ดสีเขียวเคลือบทั้งหน้าคล้ายหน้างู ตะเกียบมีสีแดงปนน้ำตาล มีขอบสีดำ ปลายตะเกียบสีขาว ชายน้ำมีสีน้ำตาลแดง หรือสีข้าวคั่วปนเขียว ปลายครีบยาวแหลม

ปลากัดป่าอีสาน หางลายกีตาร์

ปลากัดป่าหางลายกีตาร์ สีลำตัวเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีเกล็ดเคลือบฟ้าอมเขียว แก้มมีเกล็ดเคลือบฟ้าอมเขียว เกล็ดที่หน้ามีลักษณะเหมือนหน้างู ตะเกียบจะยาว ด้านในมีสีแดงปนน้ำตาล ขอบด้านหน้าของตะเกียบมีสีฟ้าอมเขียวยาวจากโคนถึงปลาย จุดเด่นที่ชาวบ้านเรียกปลากีตาร์เพราะว่าเวลาพองต่อสู้ตะเกียบข้างใดข้างหนึ่งจะกระดิกได้ คล้ายดีดกีตาร์ ชายน้ำจะมีสีฟ้าอมเขียวปนน้ำตาลแดง ปลายครีบยาวแหลม ครีบหางมีทั้งหางพัดและหางโพธิ์ แล้วแต่ลักษณะเด่นของแต่ละตัว จุดเด่นที่แตกต่างจากปลาอีสานทั่วไป ปลากีตาร์จะหางเป็นลายข่ายคล้ายใยแมงมุม ลายข่ายจะมีมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะเด่นของแต่ละตัว

ลูกปลากัดสวยงามซุปเปอร์เรด

ปลากัดป่าภาคตะวันออก ลำตัวมีสีแดงออกดำ เกล็ดมีสีเขียวเหลือบฟ้า ลักษณะส่วนหัวจะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ มีขีดแดงบริเวณขอบแผ่นปิดเหงือกหรือบางตัวก็ไม่มีเลย แล้วแต่จุดเด่นของปลาแต่ละตัว ตะเกียบมีสีแดงขอบดำ ปลายตะเกียบสีขาว ก้านครีบหางมีสีแดงออกดำ สีเส้นสีเขียวแทรกในเนื้อหาง บริเวณปลายหางมีขอบสีแดงเหมือนพระจันทร์เสี้ยวตัดขอบสีดำ ชายน้ำและบริเวณก้านครีบเป็นสีแดงออกดำ มีเส้นสีเขียวอมฟ้าขึ้นแซมระหว่างก้านครีบ ส่วนของปลายชายน้ำจะเป็นสีแดง

“ปลากัดไม่ว่าเป็นชนิดใด สายพันธุ์ใด หากโตเป็นไซซ์เลี้ยงลงขวดหรือโหลแล้ว ไม่ได้ปล่อยให้น้ำเน่าหรืออดอาหารนานเกินไป ปลากัดก็ไม่ตาย เพราะปลากัดเป็นปลาที่มีความอดทนสูง แต่ถ้าจะให้ปลาอายุยืน ควรเลี้ยงด้วยน้ำหมักใบหูกวาง หรือน้ำประปาที่มีการพักน้ำไว้ก่อนหน้าจะนำมาใส่ภาชนะเลี้ยง และให้อาหารไม่มากเกินไป ป้องกันน้ำเน่า เป็นผลให้ปลาตายง่าย”

ปลากัดป่าภาคกลาง กำลังรัดกัน

การเลี้ยงปลากัดป่า เลี้ยงเหมือนปลากัดทั่วไป แต่ภาชนะที่เลี้ยงปลาควรมีฝาปิด เพราะปลากัดป่าเป็นปลาที่ตกใจง่าย และเมื่อตกใจจะกระโดดออกจากภาชนะ หรือแม้กระทั่งฝนตกใส่ภาชนะ หรือได้น้ำใหม่ ปลาก็จะกระโดด ดังนั้น จึงควรมีภาชนะปิดไว้ปลอดภัยที่สุด

คุณพรชัย เผยเทคนิคการเพาะและการอนุบาลปลากัดป่าว่า ให้เลือกตัวที่ชอบทั้งตัวผู้และตัวเมีย ภาชนะที่ใช้ผสมพันธุ์เป็นภาชนะอะไรก็ได้ ควรใส่น้ำให้สูงจากพื้นของภาชนะเพียง 10-15 เซนติเมตรเท่านั้น เพื่อช่วยเพิ่มอัตรารอดของลูกปลา โดยช่วยพ่อปลาหากไข่ปลาตกพื้น พ่อปลาจะต้องว่ายลงไปอมไข่ขึ้นมาไว้ที่หวอด และถ้าระดับน้ำสูงเกินไป พ่อปลาอาจจะเหนื่อยโอกาสเสียหายของไข่ปลามีสูง นอกจากนี้ กรณีที่ไข่ปลาฟักเป็นตัว อาจมีบางตัวที่ไม่แข็งแรงจมลงพื้น ต้องพยายามว่ายขึ้นมาหาออกซิเจน ถ้าระดับน้ำสูง ลูกปลาที่เพิ่งฟักอาจว่ายไม่ไหว โอกาสสูญเสียก็มีสูงเช่นกัน

ปลากัดป่าภาคกลาง

สำหรับน้ำในภาชนะเพาะพันธุ์ ควรเป็นน้ำใบหูกวางเข้ม เพราะน้ำดังกล่าวมีสารแทนนิน สารนี้จะช่วยให้ค่าน้ำมีความเป็นกลางและช่วยให้หวอดมีความหนืดไม่แตกง่าย

การเพาะพันธุ์ เมื่อเลือกพ่อปลาแล้ว ให้ปล่อยพ่อปลาลงภาชนะเพาะ ส่วนแม่ปลาให้ใส่ไว้ในภาชนะใส แล้วนำไปวางไว้กลางภาชนะเพาะ เรียกว่า การเทียบปลา เพื่อให้ปลาได้เคยชิน ควรสังเกตพฤติกรรมของปลา หากพ่อปลาสร้างหวอดได้จำนวนมากและมีความหนืด แสดงว่าพ่อปลาพร้อมผสมพันธุ์ ส่วนแม่ปลาให้สังเกตบริเวณท้อง หากมีขีดขวางท้องข้างลำตัวขึ้นมาแสดงว่าแม่ปลาพร้อม ให้ปล่อยแม่ปลาออกมาที่ภาชนะเพาะ โดยปกติการเทียบปลาจะใช้เวลาประมาณ 3-4 วัน

มีไข่ในหวอด

การปล่อยปลาให้ผสมกัน ควรปล่อยเวลา 17.00-19.00 น. จากนั้น วันรุ่งขึ้นปลาจะรัดกัน โดยจะทำในช่วงเวลา 06.00-11.00 น. ให้สังเกตว่าปลารัดกันแล้ว ค่อยแยกแม่ปลาออก เพราะธรรมชาติของปลากัด พ่อปลาจะเลี้ยงลูก ให้สังเกตว่าปลาตัวผู้ไล่กัดปลาตัวเมีย เพราะหวงไข่ ควรค่อยๆ แอบไปช้อนปลาตัวเมียออก อย่าให้ปลาตัวผู้ตกใจ เพราะอาจจะอมไข่จนเผลอกลืนไข่ลงไปได้

สิ่งสำคัญอีกประการ สำหรับการเพาะพันธุ์ปลากัดคือ อาหารสดสำหรับอนุบาลลูกปลา

อาหารสดสำหรับอนุบาลลูกปลาที่ควรใช้คือ ไรแดง การให้ไรแดงกับลูกปลาแรกเกิดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเป็นแหล่งอาหารสำคัญของลูกปลา และควรให้กับปลาแรกเกิดถึงอายุปลาอย่างน้อย 20 วัน จะเป็นการดี หากไม่มีอาหารสดอย่างไรแดง สามารถให้อาหารอื่นได้ แต่โอกาสที่ลูกปลาตายมีสูง เนื่องจากอาหารอื่นอาจทำให้น้ำเน่าได้ง่าย

ปลากัดหม้อคราวน์

กรณีเลี้ยงปลาที่เริ่มโตแล้ว ต้องการทำไซซ์ สามารถให้อาหารได้หลากหลาย เช่น เต้าหู้ไข่ ไข่ตุ๋น อาหารเม็ดสำเร็จรูป ไรแดง แล้วแต่จะสามารถหาได้ ซึ่งอาหารที่ดีที่สุดในการเลี้ยงปลากัดคือ อาหารสด

กรณีที่เลี้ยงปลาแล้วน้ำระเหยไป ลดปริมาณลง ควรใช้วิธีเติมน้ำเข้าภาชนะแทนการเปลี่ยนน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์ การเปลี่ยนน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์จะทำให้ปลาเครียดและกัดกัน

สำหรับการขาย ก่อนหน้านี้ที่โลกออนไลน์ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย คุณชัยพรลงขายตามเว็บบอร์ดทื่ซื้อพื้นที่ไว้ แต่เมื่อมีช่องทางการขายออนไลน์ที่หลากหลายมากขึ้น ทำให้การขายสะดวก เป็นการขายผ่านเฟซบุ๊กและกลุ่มซื้อขายคนที่ชื่นชอบปลากัด

ปลากัดป่าภาคใต้

ตลาดปลากัดป่าปัจจุบัน มีทั้งในประเทศและต่างประเทศ คุณชัยพร บอกว่า การขายปลาให้กับต่างประเทศ ได้ราคาดีกว่าขายในประเทศ เพราะราคาสูงกว่าหลายเท่าตัว มูลค่าปลากัดป่าที่ขายให้กับต่างประเทศ ราคาอยู่ที่ 20-40 เหรียญ ต่อตัว แต่เสียค่าชิปปิ้งในอัตรา 20-150 บาท ต่อตัว แต่โดยรวมแล้วยังถือว่าขายได้ราคาดีกว่าในประเทศมาก

สำหรับ “ฟาร์ม ชัย ปลากัดป่า” ของคุณชัยพร ขายปลากัดป่าหน้าฟาร์มเริ่มต้นที่ราคาตัวละ 200 บาท และราคาสูงสุดเป็นราคาหลักพันบาทต่อตัว แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับฟอร์มปลาแต่ละตัวด้วย สำหรับผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก Chaiyaporn Longzum ไอดีไลน์ chaibetta หรือโทรศัพท์ (098) 492-1327 หากต้องการเยี่ยมชมฟาร์ม กรุณานัดหมายก่อนล่วงหน้า ฟาร์มตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลย่านซื่อ อำเภอเมือง จังหวัดอ่างทอง