เกษตรกรเขื่อนลำปาว รวมกลุ่มตั้งสหกรณ์เลี้ยงปลากระชัง เริ่ม 3 หมื่น 1 ปี มีเงินหมุนเวียน 14 ล้าน

เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังเขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ หันหลังให้กับอาชีพปลูกมันสำปะหลังที่ราคาตกต่ำ ประสบปัญหาขาดทุนซ้ำซาก รวมตัวจัดตั้งสหกรณ์เลี้ยงปลาด้วยเงินทุนเพียง 30,000 บาท มีรายได้เดือนละ 25,000-40,000 บาท ครบ 1 ปี มีเงินหมุนเวียน 14,000,000 ล้านบาท

ชาวบ้านชุมชนรอบอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนลำปาวนั้นส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเลี้ยงปลานิลในกระชังเป็นสินค้าส่งออกตลอดปี โดยเลี้ยงกันมากในเขต ต.ภูดิน อ.เมืองกาฬสินธุ์ และ ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก ทั้งในรูปแบบเอกชน และดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์ โดยมีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มเกษตรกรที่เคยทำนาและปลูกมันสำปะหลังจำนวนหนึ่ง หันมาจัดตั้งสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลากระชังประสบความสำเร็จ โดยลงทุนครั้งแรกเพียง 30,000 บาทเท่านั้น

นายราชิตร์ แก่นทอง อายุ 46 ปี บ้านเลขที่ 104 หมู่ 9 ต.ภูดิน อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ประธานสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำปาว จำกัด กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นสหกรณ์ฯ นั้น ตนและสมาชิกฯ เคยทำนาและไร่มันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก เลี้ยงปลากระชังเป็นอาชีพเสริม แต่เนื่องจากภาวะฝนแล้ง ผลผลิตตกต่ำ ราคาไม่แน่นอนประสบปัญหาขาดทุนทุกปี จึงหันมาเลี้ยงปลากระชังเป็นอาชีพหลัก


นายราชิตร์กล่าวอีกว่า ตนเลี้ยงปลานิลในกระชังฯ เมื่อปี 2541 เริ่มต้นเพียง 4 กระชัง มีเพื่อนเกษตรกรที่เลี้ยงในลักษณะเดียวกันประมาณ 30-40 ราย แต่ก็เป็นการเลี้ยงแบบต่างคนต่างเลี้ยง ติดต่อหาพันธุ์ปลาและอาหารเลี้ยงปลาเอง โดยนายทุนหรือเจ้าของพันธุ์ลูกปลาและอาหาร จะให้สินเชื่อทั้งอาหารเลี้ยงปลาและหาตลาด นายทุนเป็นผู้กำหนดวงจรการเลี้ยงปลา เกษตรกรไม่มีอิสระในการจำหน่ายหรือกำหนดราคา การเลี้ยงปลานิลในกระชังในระบบเก่า จึงเหมือนเป็นการทดลองเลี้ยง และทดลองการตลาด บางช่วงขนาดตัวปลาถึงกำหนดจับปลาจำหน่าย กลับประสบปัญหาปลาล้นตลาด ส่งปลาออกไม่ทัน ทำให้สิ้นเปลืองทุน ปลาราคาตก เพราะเกินขนาดที่ผู้บริโภคต้องการ หลังจำหน่ายผลผลิตปลาแต่ละรุ่นจึงได้กำไรน้อย ไม่คุ้มค่า ทำให้เสียโอกาสและเสียเวลาในการสร้างรายได้

“ที่ผ่านมาเกษตรกรเหมือนผู้รับจ้างเลี้ยง ไม่มีความรู้เรื่องการตลาด ไม่มีสัญญา ไม่มีหลักประกัน รายได้ไม่คุ้มทุน เมื่อระบบเก่าเป็นอย่างนั้น คนที่กำหนดกลไกการตลาดเป็นนายทุนที่ไม่ค่อยจะดูแลเรา จึงต้องมองหาอนาคตให้กับผู้เลี้ยงปลาในภาพรวม หวังให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาอยู่ได้ มีผลกำไรและมีหลักประกันที่มั่นคง จึงรวมกลุ่มไปปรึกษากับสำนักงานประมง และสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ และเป็นที่มาของการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำปาว จำกัด

ทั้งนี้ เพื่อลดต้นทุนการผลิต มีอำนาจในการต่อรองด้านอาหารและราคาจำหน่ายปลาในตลาด การรวมตัวเป็นกลุ่มในรูปแบบสหกรณ์ ประเด็นหลักๆ คือเกษตรกรที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก ต้องมีวินัย มีความซื่อสัตย์ มีแนวความคิดตรงกัน ยอมรับกฎกติกาว่าด้วยระเบียบของการเป็นสมาชิก เพื่อที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จด้วยกันให้ได้ จากนั้นรวบรวมสมาชิกได้ 30 คน จัดตั้งเป็นสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำปาว จำกัด ร่วมกันลงขันเป็นทุนตั้งต้นจัดตั้งสหกรณ์ฯ หรือหุ้นแรกเข้าคนละ 1,000 บาท หรือคนละ 100 หุ้นๆ ละ10 บาท สมาชิกจำนวน 30 คน มีทุนตั้งต้นยื่นจดทะเบียนจำนวน 30,000 บาท โดยได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2560 เริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2561” นายราชิตร์กล่าว

นายราชิตร์กล่าวเพิ่มเติมว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาเราสามารถคัดกรองได้ว่า ลูกพันธุ์ปลานิลที่เราจะนำมาเลี้ยงในกระชังนั้น แหล่งเพาะพันธุ์ไหนคุณภาพยังไง อาหารราคาเหมาะสมเป็นธรรมแค่ไหนเพียงใด ก็เข้าไปติดต่อ มีการวางแผนห้วงเวลาในการเลี้ยงที่เหมาะสม ปีละ 2 รุ่น นำลูกปลาที่อนุบาลในบ่อดินอายุ 2 เดือน หรือที่เรียกว่าปลาใบมะขาม 35-40 ตัว/ กก. ปล่อยเลี้ยงในกระชังขนาด 5×5 เมตร ความหนาแน่นกระชังละ 600-800 ตัว ให้อาหารวันละ 3 คาบ เลี้ยงอีก 5 เดือน ปลาน้ำหนัก 1 – 1.20 กก. จับจำหน่าย

ขณะที่การตลาดนั้น ไปติดต่อด้วยตนเอง ระยะแรกๆ ก็ในกลุ่มเพื่อนฝูง ญาติมิตร คนคุ้นเคย ก่อนขยายตามตลาดทั่วไป ทั้งในเขตกาฬสินธุ์ และจังหวัดใกล้เคียง


“ผลดีของการรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ฯ ทำเรามีอำนาจในการต่อรองทั้งปัจจัยการผลิตและการตลาดที่ชัดเจน มีหลักประกันที่มั่นคง เช่น พันธุ์ลูกปลาและอาหาร ซื้อมากได้ส่วนลดมาก สามารถเลือกเฟ้นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกปลาและอาหารกับแหล่งที่เชื่อถือได้ ผู้บริโภคได้รับซื้อปลาในราคาที่เป็นธรรม โดยไม่ผ่านมือพ่อค้าคนกลาง สหกรณ์ฯให้เครดิตสมาชิกด้านอาหาร เป็นต้น ถือเป็นสูตรสำเร็จของการเลี้ยงปลานิลในกระชัง

ทั้งนี้ ปัจจุบันสหกรณ์ผู้เลี้ยงปลานิลในกระชังเขื่อนลำปาว จำกัด มีสมาชิก 55 ราย เลี้ยงใน 3 จุดเลี้ยง คือจุดเลี้ยงบ้านโนนศาลา จุดเลี้ยงบ้านพักสุขใจ ต.ภูดิน อ.เมืองกาฬสินธุ์ และจุดเลี้ยงบ้านโคกกลาง ต.หัวหิน อ.ห้วยเม็ก จำหน่าย กก.ละ 59 บาท หักต้นทุนได้กำไร กก.ละ 8-10 บาท เทียบกับก่อนจัดตั้งเป็นสหกรณ์ฯ จำหน่าย กก.ละ 50 บาท หักต้นทุนได้กำไรกก.ละ 5-6 บาท

ผลสำเร็จในรอบ 1 ที่จัดตั้งสหกรณ์ฯ สมาชิกเลี้ยงกันคนละ 30-40 กระชัง ส่งออกเดือนละประมาณ 7 ตัน สมาชิกแต่ละรายมีรายได้จากการจำหน่ายปลารุ่นละ 150,000-250,000 บาท หรือเดือนละ 25,000-40,000 บาท ตามปริมาณการเลี้ยง สหกรณ์มีกำไรรุ่นละ 4,600,000 บาท สรุปยอด 1 ปี มีทุนหมุนเวียนจำนวน 14 ล้านบาท” นายราชิตร์กล่าว

 

เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2562