คุยกับเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ บุญมี แท่นงาม “ภาคเกษตรสร้างรายได้…มีสินค้าปลอดภัย”

กองบรรณาธิการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ คุณบุญมี แท่นงาม เกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ถึงสถานการณ์ทางด้านการเกษตรภายในจังหวัด จากบทสัมภาษณ์มีความน่าสนใจไม่น้อย ลองติดตามดู

คุณบุญมี แท่นงาม เกษตรจังหวัดนครสวรรค์

นครสวรรค์เป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ทางตอนบนของภาคกลางหรือบางหน่วยงานจัดให้อยู่ทางตอนล่างของภาคเหนือ ซึ่งถ้าเป็นภาคส่งเสริมการเกษตรนี้จังหวัดนครสวรรค์ ถือว่าอยู่ภาคเหนือแต่ถ้าเป็นของกรมอุตุนิยมวิทยาจะอยู่ภาคกลาง สรุปแล้วคือเป็นจังหวัดภาคกลางติดต่อทางเหนือ

นครสวรรค์ทำนา 2.3 ล้านไร่

แต่ส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทาน

คุณบุญมี เล่าว่า จังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ มีพืชเศรษฐกิจหลักอยู่ 3-4 ชนิดด้วยกัน พืชตัวแรกคือ “ข้าวนาปี” โดยนครสวรรค์มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีทั้งหมด 2.3 ล้านไร่ โดยเฉพาะในปีนี้ในช่วงนี้อยู่ในช่วงฤดูกาลทำนา เกษตรกรทำนาไปแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ ตกอยู่ประมาณ 2 ล้านไร่ ก็จะเหลืออีกบางส่วนนิดหน่อย ทีนี้พื้นที่ทำนาทั้งหมด 2.3 ล้านไร่นี้เป็นพื้นที่ในเขตชลประทานจริงๆ ประมาณ 4 แสนไร่ ที่เหลือเป็นพื้นที่ที่ใช้น้ำฝนอย่างเดียวในการทำนา ฉะนั้น เมื่อเทียบอัตราส่วนระหว่างพื้นที่ชลประทานกับพื้นที่ทำนาโดยอาศัยน้ำฝน…อาศัยน้ำฝนจะมากกว่า

นาข้าว

สถานการณ์ในการทำนาปีนี้โดยเฉพาะในเขตชลประทานจะมีปัญหาในเรื่องการบริการ ในเรื่องน้ำของทางชลประทาน น้ำไม่เพียงพอต่อการทำนาของเกษตรกร ซึ่งถามว่าเป็นวิกฤตหรือยังในการทำเขตพื้นที่ชลประทาน ก็ตอบว่ายังคงสามารถที่จะจุนเจือเกษตรกรได้อยู่ สามารถช่วยเกษตรในการทำนาได้ ส่วนนอกเขตชลประทานซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างมาก ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อการทำนา นาข้าวยังคงต้องการน้ำฝนอยู่ในช่วงที่ฝนทิ้งช่วงตามที่เราติดตามพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาในปี 2562 ฤดูกาลผลิตการทำนาปีนี้กรมอุตุนิยมวิทยาบอกว่าจะแล้ง ตั้งแต่กรกฎาคมอาจจะถึงสิงหาคม ฉะนั้น เมื่อแล้งถึงสิงหาคมเป็นวิกฤต เกษตรกรจะลำบากกว่านี้ เพราะถ้าแล้งไป 2 เดือนนี้ ผลกระทบน่าจะเกิดขึ้นกับเกษตรกรโดยตรงเลย คือข้าวขาดน้ำ การเจริญเติบโตของข้าวก็จะมีปัญหาและในพื้นที่ส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ทำนา

เครื่องทุ่นแรงสำหรับการทำนา

ตอนนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรเราแนะนำให้เกษตรกรหว่านข้าวแห้ง โดยเฉพาะพื้นที่อาศัยน้ำฝนให้หว่านข้าวแห้งเพื่อรอน้ำ ตัวนี้ก็จะสามารถแก้ปัญหาทางด้านการทำนาได้ ส่วนพื้นที่ชลประทานยังไม่น่าเป็นห่วงเนื่องจากผลผลิตข้าวที่นี่เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ผลผลิตข้าวจะอยู่ไร่ละประมาณ 600 หรือ 700 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งพันธุ์ข้าวที่ใช้อยู่ในขณะนี้ส่วนมากจะเป็น กข ต่างๆ เป็นพันธุ์ที่แนะนำจากกรมส่งเสริมการเกษตร มีส่วนราชการแนะนำอยู่

นอกเขตชลประทาน จังหวัดนครสวรรค์ ที่อำเภอท่าตะโก อำเภอไพศาลี อำเภอหนองบัว เรามีข้าวขาวดอกมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวที่มีคุณภาพดีที่สุดของประเทศไทย มีพื้นที่ปลูกค่อนข้างมากเหมือนกัน เป็นข้าวคุณภาพดีของจังหวัดนครสวรรค์ ก็มีส่วนหนึ่งใน 3-4 อำเภอที่ปลูกอยู่ ผลผลิตของข้าวมะลินี้ไม่สูงเท่าไร 300-400 กิโลกรัม ต่อไร่ ส่วนข้าวนาปรัง 600-700 กิโลกรัม ต่อไร่ ในเรื่องราคาในปีที่ผ่านมา ราคาข้าวอยู่ในขั้นดี ถือว่าเกษตรกรพออยู่ได้ไม่มีผลกระทบกับเศรษฐกิจมากนัก ซึ่งราคาข้าวมะลิในปีที่แล้วเกวียนละ 7,000-10,000 บาท ส่วนข้าวนาปรังราคาเกวียนละ 7,000-8,000 บาท ซึ่งเกษตรกรก็พอจะอยู่ได้

อาชีพหลัก

คุณบุญมีกล่าวถึงปัญหาเกี่ยวกับข้าวที่พบเจอจะเป็นในส่วนของปัจจัยทางด้านการผลิตข้าว บางตัวค่อนข้างที่จะมีราคาแพง ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยเคมี สารเคมี แต่กรมส่งเสริมการเกษตรเรามีแนวทางในการที่จะแก้ไขปัญหาตรงนี้ คือจัดตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ ให้เกษตรกรที่จัดตั้งกลุ่มแปลงใหญ่ร่วมกัน ได้จัดหาปัจจัยการผลิตร่วมกันโดยรวมกันซื้อ รวมกันขาย รวมกันจำหน่าย ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ทางกรมส่งเสริมการเกษตรเราก็พยายามที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรร่วมกันผลิตจากแปลงเล็กแปลงใหญ่เพื่อจะให้เกษตรกรร่วมกันแก้ปัญหาไปกับภาครัฐ ถ้าหากภาครัฐฝ่ายเดียวก็คงไม่สำเร็จ ต้องให้เกษตรกรช่วยแก้ไขปัญหาในส่วนของตรงนี้ด้วย ซึ่งในเรื่องนี้ทางกรมส่งเสริมการเกษตรและสำนักงานเกษตรจังหวัดได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อยู่ ทั้งระดับอำเภอทั้งระดับจังหวัด

ถังน้ำหมัก

มันสำปะหลัง

ระวังการระบาดของแมลง

คุณบุญมี บอกว่า พืชตัวที่สองคือ มันสำปะหลัง โดยมีพื้นที่ปลูกอยู่ประมาณ 4 แสนกว่าไร่ พื้นที่ค่อนข้างมากเหมือนกัน ผลผลิตไร่ละประมาณ 5-6 ตัน ราคามันสำปะหลังในปีที่ผ่านมากิโลกรัมละ 2-2.50 บาท ถามว่าเกษตรกรอยู่ได้ไหม ตอบว่าถ้าราคาประมาณนี้เกษตรกรอยู่ได้เพราะผลผลิตเราประมาณ 6 ตัน 6,000 กิโลกรัม ต่อ 1 ไร่ ก็ประมาณไร่ละกว่าหมื่นบาท พออยู่ได้ แต่ถ้าดีที่สุดคือ 2 บาท 50 สตางค์ ถึง 3 บาทขึ้นไปถึงจะอยู่ได้ดีและคุ้มต่อการผลิต พื้นที่ 4 แสนกว่าไร่ก็ไม่น้อย ถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์เรา ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีปัญหาในส่วนของการกระทบแล้ง แต่จะมีปัญหาเรื่องของโรคใบด่าง โดยแหล่งกำเนิดมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ตอนนี้ยังมีระบาดที่แถวสระแก้ว แถวปราจีนบุรี

เกษตรกรทำนาโดยใช้เครื่องทุ่นแรง

เมื่อโรคตัวนี้เข้ามาสู่มันสำปะหลังแล้วถ้ามีการระบาดต้องทำลายอย่างเดียว ไม่ได้ผลผลิตเลย เสียหายสิ้นเชิงและตอนนี้ลุกลามมาถึงที่นครราชสีมาเขตใกล้เคียงติดต่อกับจังหวัดเรา โดยสิ่งสำคัญของโรคนี้คือแมลงพาหะปากดูด ดูดน้ำเลี้ยงจากต้นที่เป็นไปสู่ต้นที่ไม่เป็น ตอนนี้เราแนะนำให้เกษตรกรคัดเลือกพันธุ์ที่จะนำมาปลูกไปซื้อในแหล่งพันธุ์ที่ไม่มีโรคนี้ระบาด ในขณะนี้เราก็เฝ้าระวังในพื้นที่จังหวัดเราให้เกษตรกรหมั่นตรวจแปลงนะ ว่าในพื้นที่ปลูกของเรานั้นมีโรคใบด่างหรือไม่อย่างไร ถ้ามีรีบทำลายรีบขุดแล้วก็ฝังทันทีและก็รายงานให้ส่วนราชการเราทราบทันที ทั้งจังหวัดทั้งเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอและตำบล เราประชาสัมพันธ์ให้เฝ้าระวังในเรื่องนี้ 

ปีที่ผ่านมา อ้อยราคาไม่ดี

พืชเศรษฐกิจตัวต่อมาคือ อ้อยโรงงาน ซึ่งมีพื้นที่กว่า 7 แสนไร่ โดยในช่วงฤดูกาลผลิตที่ผ่านมาทางด้านราคานั้นไม่ค่อยจะสู้ดีนักอยู่ตันละ 700-800 บาท โดยในปีที่ผ่านๆ มานั้นตันละประมาณ 1,000 บาท ทั้งนี้ทั้งนั้น อ้อยถือเป็นพืชอุตสาหกรรมที่มีกฎหมายรองรับ ราคาอ้อยจะขึ้นอยู่กับราคาตลาดน้ำตาลโลก กล่าวคือถ้าราคาน้ำตาลของตลาดโลกดี ราคาอ้อยก็จะสูงขึ้น คิดว่าแนวโน้มในปีนี้ราคาน่าจะกระเตื้องขึ้นนิดหน่อยเนื่องจากว่าอ้อยตอที่เกษตรกรปลูกอยู่ในขณะนี้อยู่ในแปลงขณะนี้ผลผลิตคงยังไม่ดีนัก เนื่องจากกระทบต่อฝนแล้ง โดยปัญหาที่พบคือราคาที่ค่อนข้างตกต่ำนิดหน่อยทั้งนี้ทั้งนั้น ราคาไม่สามารถที่จะคุมได้เนื่องจากราคาขึ้นอยู่กับตลาดโลก มีหลายประเทศที่ผลิตอ้อยเพื่อนำไปแปรรูปเป็นน้ำตาลทราย ราคาไม่ค่อยจะดีนัก ที่สำคัญคือเรื่องสภาพฝนที่ไม่ค่อยสม่ำเสมอเท่าไร แต่ก็ไม่กระทบมากนัก ยังคงสามารถผลิตได้ตามฤดูกาลของอ้อย ในส่วนของศัตรูพืชไม่ค่อยมี

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราคาดี

ข้าวโพด

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเรามีข้าวโพดหลังนา พื้นที่ปลูกที่ผ่านมาประมาณ 70,000 ไร่ ตุลาคมถึงเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งในปีที่แล้วเริ่มนับตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นมาเก็บเกี่ยวเดือนมีนาคม เมษายนถึงพฤษภาคม ที่ฤดูกาลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านไปแล้ว ราคาดีมากเลยเนื่องจากเป็นโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีการกำหนดราคาหน้าโรงงาน หน้าไซโล และอีกอย่างหนึ่งคือเราเชิญผู้ประกอบการในพื้นที่หรือผู้รับซื้อมาพูดคุยกันระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการรัฐสามฝ่ายมาคุยและตกลงราคาระหว่างกัน ราคาปีที่ผ่านมาก็อยู่ประมาณกิโลกรัมละ 6-7 บาท ผลผลิตที่ได้เฉลี่ย 1 ตัน ต่อ 1 ไร่ ราคาที่ได้อยู่ที่ 7,000 บาท ต่อ 1 ไร่ เกษตรกรมีรายได้ต่อไร่ประมาณ 7,000 บาท เกษตรกรอยู่ได้ ทีนี้สืบเนื่องมาข้าวโพดฤดูฝนซึ่งอยู่ในช่วงปลูกอยู่ขณะนี้พื้นที่ปลูกประมาณ 1-1.2 แสนไร่ พื้นที่ค่อนข้างมาก อายุตอนนี้ประมาณ 1-2 เดือน ข้าวโพดมีทุกรุ่นตั้งแต่ 10 วัน 20 วัน เดือนครึ่งถึง 2 เดือน และกำลังออกดอกอีกนะครับ มีทุกระยะเลย

คุณบุญมี เผยปัญหาที่พบของการปลูกข้าวโพดในขณะนี้คือ “หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด” ซึ่งหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดตัวนี้ระบาดมาตั้งแต่ช่วงหลังนามาแล้ว วิธีการของหน่วยงานภาครัฐกับเกษตรกรลำดับแรกคือ ส่วนของสำนักงานเกษตรจังหวัดกรมส่งเสริมการเกษตรสร้างการรับรู้สำหรับอบรมการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดทุกอำเภอ ทุกตำบล ทุกหมู่บ้านที่มีการปลูกข้าวโพดให้ทางอำเภอนี้ จัดตามแผนการฝึกอบรมเกษตรกรโดยสร้างการรับรู้เกษตรกรทุกรายในพื้นที่เฝ้าระวังเรื่องหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ซึ่งดำเนินการไปแล้วตอนนี้อยู่ในช่วงเฝ้าระวัง มีศัตรูระบาด

หลังจากการระบาดเราจะสร้างการรับรู้ โดยการปล่อยแตนเบียนเข้าไปเพื่อทำลายไข่ของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด โดยใช้ชีววิธีก็สามารถช่วยลดการระบาดลงได้ และคิดว่าสถานการณ์ศัตรูพืชโดยเฉพาะหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เกษตรกรและส่วนราชการน่าจะเอาอยู่ โดยสาเหตุของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด แหล่งกำเนิดมาจากประเทศแอฟริกา ซึ่งระบาดในปีที่แล้วช่วงข้าวโพดหลังนา…ข้าวโพดหลังนาในประเทศไทยเข้าร่วมกัน 37 จังหวัด ระบาดพร้อมกันทั้ง 37 จังหวัด ผมก็แปลกใจเหมือนกัน ทำงานมา 30-40 ปีนี้ไม่เคยเจอศัตรูพืชระบาดเร็วและหนักขนาดนี้ ถ้าหากว่าเกษตรกรไม่หมั่นตรวจแปลงหรือสำรวจพื้นที่ปลูก ปล่อยสักหนึ่งอาทิตย์หรือสองอาทิตย์นี่เรียบร้อยเลย ทั้งนี้ทั้งนั้น การเฝ้าระวังเรามีทั้งทางกรมและทางส่วนของราชการ มีการให้คำแนะนำการเฝ้าระวังในเรื่องนี้ว่าจะเกิดการระบาดและสุดท้ายก็ระบาดจริงๆ แต่เราก็สามารถที่จะเอาอยู่เนื่องจากว่าเราประสานงานและติดต่อกับเกษตรกรอยู่ตลอดเวลา ส่งผลให้มีผลกระทบนิดหน่อยไม่ถึง 3 เปอร์เซ็นต์ที่เสียหายจริงๆ

ทั้งนี้ หนอนกระทู้จะทำลายข้าวโพดตั้งแต่อายุ 15 วัน ถึงประมาณ 1 เดือน หนอนชอบช่วงข้าวโพดกำลังอ่อนอยู่ ถ้าข้าวโพดออกดอกที่หัวแล้วก็จะเกิดการทำลายน้อยลง โดยผีเสื้อจะทำการวางไข่ไว้ใต้ใบข้าวโพด แค่เปิดใบขึ้นก็สามารถเห็นกลุ่มหนอนได้แล้ว กล่าวคือต้องหมั่นตรวจแปลง ต้องช่วยๆ กัน ถึงอย่างไรหลังการออกดอกแล้วคงจะไม่มีปัญหาอะไร ในส่วนของภัยแล้งก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ควรระวังในข้าวโพด กล่าวคือข้าวโพดถ้าออกดอกแล้วฝนไม่ตก การผสมเกสรหรือการติดฝักเมล็ดก็จะไม่ค่อยดี ปีนี้เราก็เกรงกลัวอยู่เหมือนกันสำหรับเรื่องภัยแล้ง

คุณบุญมีกล่าวถึงในส่วนของสถานการณ์พืชไร่ว่า ในขณะนี้นั้นยังคงไม่น่าเป็นห่วงสักเท่าไรนัก ถ้าหากว่าฝนไม่ทิ้งช่วงหรือว่าไม่แล้งตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้พยากรณ์ไว้นะครับ คิดว่าผลกระทบก็คงจะไม่เกิดขึ้นนัก แต่ถ้ามันแล้งจริงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมไม่ตกเลย คิดว่าจะมีผลกระทบต่อเกษตรกรในพื้นที่แน่นอน โดยภาพรวมแล้วจังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่มีพืชเศรษฐกิจหลากหลายความเป็นอยู่ของเกษตรกรยังคงดำเนินชีวิตอยู่ได้ดีกว่าจังหวัดอื่นๆ ที่มีตัวเลือกพืชน้อย ในภาพรวมจังหวัดนครสวรรค์ถือว่ายังใช้ได้อยู่ ยังดีอยู่

กล้วยไข่ก็มี

แต่เจอปัญหาเรื่องลม

กล้วยไข่ที่ปลูกแถวอำเภอเมือง จริงๆ แล้วเป็นพืชของจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งเป็นเขตติดต่อเรา เราสามารถที่จะปลูกได้ อย่างกล้วยไข่ในขณะนี้ที่เราปลูกอยู่แถวตะเคียนเลื่อน แหล่งที่จำหน่ายส่วนมากจะไปทางตลาดไท ทางต่างประเทศก็มี ในส่วนของผลผลิตก็ดีอยู่ในเกณฑ์กว่า 2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ สามารถที่จะปลูกได้ แต่อาจจะมีปัญหานิดหน่อยสำหรับกล้วยไข่ที่ปลูกในจังหวัดนครสวรรค์คือในช่วงต้นฤดูเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมเจอปัญหาพายุลมต้นล้ม แนวทางการป้องกันตัวนี้ลำบากมาก โดยเรามีแผนที่จะให้เกษตรกรปลูกพืชกันลม ทุกปีจะมีวาตภัยเข้ามาทำลายสวนกล้วยน้ำว้าและกล้วยไข่

ฝรั่งเก้าเลี้ยวขึ้นชื่อ

มะละกอก็ไม่ธรรมดา

ฝรั่งเราก็มีเยอะที่เก้าเลี้ยว มีฝรั่งกิมจูและฝรั่งอื่นๆ หลากหลายพันธุ์ด้วยกัน ตลาดก็จะเป็นกรุงเทพฯ ส่วนในจังหวัดนครสวรรค์ห้างร้านต่างๆ เกษตรกรนำมาจำหน่ายเอง ในส่วนของปัญหาที่พบเจอคือเพลี้ย แต่เราป้องกันได้โดยการห่อผล จะไม่ค่อยเจอปัญหาเท่าไรนัก โรคจุดดำที่เกิดจากเชื้อราก็มีบ้างไม่ค่อยเท่าไร นอกจากฝรั่งแล้วก็ยังคงมีมะลิโดยการเก็บดอกขายที่อำเภอเมืองและอำเภอเก้าเลี้ยวจะค่อนข้างปลูกเยอะ นอกจากพวกนี้แล้วก็จะมีพืชผักปกติทั่วไปมีการปลูกขายบ้างปลูกบริโภคบ้าง

อีกทั้งยังมีมะละกอที่ปลูกแถวจันเสน เป็นมะละกอพันธุ์แขกนวล ถ้าถามว่ามะละกอผลิตยากไหม ก็ตอบว่ายากครับ เนื่องจากโรคใบด่างวงแหวนซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัส โดยวิธีการป้องกันก็มีการใช้ชีวภาพก่อน ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ เราก็ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมี ในขณะนี้เองภาครัฐพยายามให้ลดการใช้สารเคมีลงและมีนโยบายรัฐบาลจำกัดให้มีการใช้สารเคมี 3 ตัว มีการฝึกอบรมให้แก่เกษตรกรที่จะซื้อ มีการสอบก่อนถึงจะซื้อจะใช้และจะขายได้ เพราะฉะนั้น เราจึงได้พยายามรณรงค์ในเรื่องนี้อยู่

ผลิตภัณฑ์แปรรูปคุณภาพ

สินค้าเกษตรปลอดภัย

คุณบุญมีกล่าวถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร “ที่สำคัญของกลุ่มตอนนี้อยู่ที่อำเภอเมือง มีการแปรรูปข้าว…สีข้าวบรรจุขายของวิสาหกิจชุมชน มีการทำผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรพวกครีม พวกอะไรต่างๆ มีค่อนข้างจะมากอยู่นะ อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสิ่งทอที่นำมาตัดเป็นเสื้อผ้า

ในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ช่วงเย็นจะมีตลาดที่เหล่าประชาชนไปจับจ่ายใช้สอยที่เก้าเลี้ยวคือตลาดยามเย็น แล้วก็มีตลาดเกษตรกรอยู่หน้าค่ายจิรประวัติ มีวันพุธ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ ตลาดเราสินค้าปลอดภัยครับ พืชผัก ผลไม้ที่นำไปขายซึ่งแต่ละกลุ่มที่นำไปจำหน่ายจะต้องมีมาตรฐานรองรับ ถ้าเป็นอาหารก็ต้องมี อย. ถ้าเป็นผลไม้ก็ต้องมี GAP รองรับ จุดขายของเราคือความปลอดภัย คนที่ขายในตลาดเป็นเกษตรกรโดยตรง เราให้เกษตรกรผลิตเองและจำหน่ายเอง ทางด้านราคาถามว่าขายแพงไหม ตอบเลยว่าไม่ สูสีกับแม่ค้าทั่วไป แต่เรามีเครื่องหมายรับรอง GAP และ อย.รับรอง

ตลาดนี้สร้างมาเป็นเวลาเกินกว่า 5 ปี ช่วงแรกเราพยายามประชาสัมพันธ์ว่าสินค้าเรานั้นเกษตรกรปลูกเอง ปลอดภัย เกษตรกรที่จะมาจำหน่ายถ้ามีการใช้สารเคมี สารเคมีนั้นต้องหมดฤทธิ์แล้วถึงจะมาจำหน่ายได้ บางครั้งสินค้าบางตัวก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีแต่ต้องใช้ในปริมาณที่ปลอดภัยจริงๆ เกษตรกรที่มาขายในตลาดเป็นเกษตรกรรายย่อย

คุณบุญมีกล่าวสรุปภาพรวมตลาดสินค้าทางการเกษตร ว่าจังหวัดนครสวรรค์เป็นจังหวัดที่ค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ในตัว ไม่ว่าจะเป็นทั้งในเขตชลประทาน นอกเขตชลประทานก็ตาม พื้นที่ราบลุ่มเหมาะสมต่อการเกษตร ในส่วนของผลผลิตทางการเกษตรของจังหวัดนครสวรรค์อยู่ได้ ตัวหนึ่งคือภาคการเกษตรสามารถที่จะให้ประชาชนหรือผู้ประกอบการห้างร้านต่างๆ อยู่ได้ สังเกตโรงสีในจังหวัดนครสวรรค์ โดยเฉพาะโรงสีข้าว จังหวัดนครสวรรค์มีเยอะมากนะครับ นั่นก็หมายความว่าถ้าโรงสีข้าวมาก แสดงว่าผลผลิตข้าวที่ได้ก็มีเยอะ ความเป็นอยู่ของเกษตรกรทุกระดับในจังหวัดนครสวรรค์อาศัยภาคเกษตร

แปลงใหญ่ก้าวหน้า

คุณบุญมีกล่าวถึงภาพรวมเกษตรแปลงใหญ่ว่า แปลงใหญ่เรามีภาพรวมอยู่ทั้งหมด 75 แปลง มีแปลงใหญ่ข้าว มันสำปะหลัง อ้อย ข้าวโพด แปลงใหญ่ที่เราทำอยู่ในขณะนี้เราพยายามดึงเกษตรกรแปลงเล็กมารวมกันเป็นแปลงใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องข้าวที่เราทำสำเร็จคือตลาดนำการผลิตที่อำเภอบรรพตพิสัยกลุ่มหนึ่ง เราเชิญผู้ประกอบการในโรงสีมาคุยกับสมาชิกแปลงใหญ่โดยเราจัดให้ผู้ประกอบการกับเกษตรกรมาพบกัน ผู้ประกอบการต้องการผลผลิตข้าวแบบไหนพันธุ์อะไร เขาก็มาแนะนำให้เกษตรกรปลูกพันธุ์นั้น เมื่อปลูกพันธุ์นั้นเสร็จแล้วก็คิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้ข้าวพันธุ์นั้นคุณภาพดี

ทางสำนักงานเกษตรจังหวัดและศูนย์เมล็ดพันธุ์ฯ เราลงไปให้คำแนะนำโดยทั้ง 2 ฝ่ายจะมาคุยกันและตกลงกันได้ เขาจะซื้อในราคาที่สูงกว่าเกษตรกรทั่วไป หลักๆ คือประกันราคาให้เลยที่บรรพตพิสัยและยังมีกลุ่มที่ผลิตเมล็ดพันธุ์เป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์แปลงใหญ่ 40-50 ราย เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ให้ส่วนราชการคือศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดนครสวรรค์รับซื้อจากเกษตรกรเลย เป็นตลาดรองรับที่แน่นอนมีหลายกลุ่มทำอยู่ในขณะนี้ เกษตรกรก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นในส่วนของปัจจัยการผลิตเขาก็จะสามารถที่จะแก้ไขได้ ทางด้านการประกันราคาข้าวที่บรรพตพิสัยสูงกว่าเกษตรกรทั่วไปตันละ 200 บาท ถ้าสมมติเกษตรทั่วไปขายเกวียนละ 6,000 บาท เขาก็ให้เลย 6,200 บาท สูงกว่าเกษตรกรทั่วไปตันละ 200 บาทที่เราทำอยู่ในขณะนี้ 

แนะปลูกพืชหลายชนิด ลดความเสี่ยงให้แก่เกษตรกร

“ปัจจุบันเราพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นหลายๆ อย่างในพื้นที่เดียวกัน พยายามปลูกพืช 2 ชนิดขึ้นไปเพื่อประกันความเสี่ยง ปัจจัยการผลิตภาครัฐเราให้ไปนิดเดียว ในส่วนขององค์ความรู้ในพื้นที่เรามีศูนย์เรียนรู้เพิ่มศักยภาพการผลิตทางการเกษตร อีกส่วนหนึ่งคือส่วนราชการสังกัดการเกษตรและสหกรณ์ในระดับจังหวัดเรา เกษตรกรต้องการความรู้ด้านไหนเราก็เชิญไปอบรมและมอบความรู้ให้แก่เกษตรกรในพื้นที่ ผลตอบรับเกษตรกรมีการให้ความร่วมมือที่ดีในการฝึกอบรม การศึกษาดูงานอะไรต่างๆ มีการให้ความสนใจ ส่วนในทางปฏิบัตินั้นขึ้นอยู่กับศักยภาพของเกษตรกรว่ามีความรู้มีความพร้อมขนาดไหน ดังนั้น ตัวนี้ถือเป็นตัวสำคัญอีกตัวหนึ่ง” คุณบุญมี กล่าว

คุณบุญมีเผยสิ่งสำคัญของเกษตรพอเพียงว่า “คือความประหยัดโดยเฉพาะทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องน้ำเรื่องอะไรอย่างนี้ ที่ผ่านมาในอดีตเรื่องน้ำไม่มีปัญหาเลย แต่ทุกวันนี้เริ่มมีปัญหา เริ่มมีข้อจำกัดเรื่องน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง เรื่องทรัพยากรดินที่มีอยู่เราพยายามที่จะให้ลดละ อย่างปุ๋ย อย่างน้ำหมักชีวภาพ เราพยายามที่จะให้มีการผลิตเองซึ่งกลับมาสู่เกษตรดั่งเดิมเรา”

คุณบุญมีเผยจุดเด่นการเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ “จุดเด่นโดยเฉพาะเรื่องข้าวเกษตรกรมีความประณีตมากในการทำนา ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินและการกำจัดวัชพืช เทคโนโลยีการผลิตมีการใช้เครื่องเข้ามาเกี่ยวข้องส่งผลต่อความสม่ำเสมอ ในส่วนของข้าวโพดใช้เครื่องหยอดทั้งหมดเลยนะครับ เรื่องมันสำปะหลังหรือเรื่องอ้อยมีการใช้เครื่องทุ่นแรงเข้ามาช่วยเยอะ”

คุณบุญมีกล่าวเชิญชวนว่า “ช่วงเดือนกันยายนจะมีประเพณีการแข่งเรือในจังหวัดนครสวรรค์ก็อยากเชิญชวนให้จังหวัดใกล้เคียงและผู้ที่สนใจได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมการแข่งเรือที่จังหวัดนครสวรรค์ อีกทั้งยังมีอาหารรสเด็ด อาทิ ปลานครสวรรค์ที่ขึ้นชื่อมาก ก็ขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจมาเยี่ยมชม”