มทร.สุวรรณภูมิ พัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ด้วยวิทย์สร้างอาชีพ

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ดำเนินงานโครงการพัฒนาและยกระดับสินค้า OTOP ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อผลักดันสนับสนุนยกระดับคุณภาพ และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ การพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัย ด้วยวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับ การพัฒนารูปแบบการประกอบธุรกิจ รวมถึงระบบการบริหารจัดการและการตลาด โดยนำทีมนักวิจัยจาก มทร.สุวรรณภูมิ ลงพื้นที่จังหวัดชัยนาท เพื่อพัฒนาบริการวิชาการรูปแบบนวัตกรรมและเทคโนโลยีถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน สังคม ประเทศ และนานาชาติ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมกิจกรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาชุมชน สังคม ให้เข้มแข็งมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น อันนำไปสู่ความเป็นเลิศทางด้านวิชาการและเพิ่มศักยภาพงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ชุมชน สังคม อย่างยั่งยืน

รศ.ดร.กิตติ บุญเลิศนิรันดร์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ กล่าวว่า การใช้กระบวนการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโอท็อปด้วยวิทย์สร้างอาชีพในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม ของใช้และของตกแต่ง ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในพื้นที่จังหวัดชัยนาท ได้รับการสนับสนุนทุนในการบริการวิชาการ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะทำงาน ในนามมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้มีวิธีการดำเนินงานตามกรอบกระบวนการจัดการความรู้ (KM Process) และเครื่องมือที่ใช้ (KM Tools) จากเดิมผู้ประกอบการโอท็อป ไม่มีที่ปรึกษาให้คำแนะนำแบบใกล้ชิด สะท้อนให้เห็นปัญหา เมื่อมีโครงการนี้เข้ามา การลงพื้นที่บ่อยๆ จะสร้างความไว้วางใจได้ระดับหนึ่ง จึงทำให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น

ด้าน อาจารย์ณัฏฐ์ สิริวรรธนานนท์ ผู้อำนวยการโครงการยกระดับโอท็อปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เปิดเผยว่า การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโอท็อปด้วยวิทย์สร้างอาชีพในพื้นที่จังหวัดชัยนาท สามารถยกระดับผู้ประกอบการสู่ความสำเร็จ โดยนักวิจัยและคณะทำงาน แบ่งกลุ่มคณะทำงาน แบ่งหน้าที่ เป็นทีมบริหารโครงการ ทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา และเตรียมความพร้อมวางแผนการทำงาน ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่างเป็นระบบชัดเจน โดยมีกองทุนบริการวิชาการในการให้ยืมเพื่อใช้จ่ายในการดำเนินงาน 30% ของโครงการ (ไม่เกิน 1 ล้าน) มีการประเมินความเสี่ยงเพื่อให้คณะกรรมการซักถามแนวทางในการทำงาน และวิธีการจัดการที่ดีภายใต้ขอบเขตงานที่กำหนดและตามกรอบเวลา การประชุมวางแผนการทำงานอย่างต่อเนื่อง แบ่งหน้าที่ในการบริหารจัดการ กำหนดกรอบเวลาในการส่งงานที่ชัดเจน  และติดตามผลอย่างใกล้ชิดโดยผู้บริหารระดับสูง

ซึ่งผลปรากฏว่า ผลจากการยกระดับทางด้านคุณภาพและทางด้านเศรษฐกิจในการเข้าร่วมโครงการ การดำเนินโครงการ ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น ก่อนเข้าร่วมโครงการประมาณการยอดขาย 25,833,792 บาท ต่อปี ค่าใช้จ่าย 16,899,276 บาท มีรายได้ 8,934,516 บาท จากการสำรวจเมื่อสิ้นสุดโครงการปี 2561 ประมาณการยอดขาย 31,050,300 บาท ค่าใช้จ่าย 19,266,540 บาท มีรายได้ 11,783,760 บาท ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากก่อนเข้าร่วมโครงการ ประมาณ 2,849,244 บาท คิดเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น 31.89% หรือคิดเป็นรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10,751 บาท ต่อคน ต่อปี