พาไปดูการเลี้ยงหอยหวาน หอยราคาแพง ตลาดมีแต่โตกับโต

หอยแครงลวก หรือหอยแมลงภู่อบ เป็นอาหารเมนูยอดฮิตที่นักชิมนิยมสั่งมากินเวลาไปร้านอาหารซีฟู้ด หลายคนนิยมกิน หอยนางรมสดกับน้ำจิ้มซีฟู้ด กินเป็นยาโป๊วบำรุงกำลัง หรือสั่งเมนูหอยนางรมทอด หรือเมนูออส่วนก็อร่อยเลิศเช่นกัน “หอยตลับ” และ “หอยหลอด” ปรุงรสในเมนูต้มยำ ผัด หรือลวกก็อร่อยแซบเว่อร์ อีกหนึ่งเมนูที่ห้ามพลาดคือ “เมนูหอยหวาน” หรือที่บางท้องถิ่นเรียกว่า “หอยตุ๊กแก” เมื่อนำมาเผา เนื้อหอยจะมีรสหวาน อร่อยสุดยอด

เนื้อหอยหวานราดด้วยน้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซบ กินอร่อยจนหยุดไม่ได้
หอยหวานผัดฉ่า

“หอยหวาน” เป็นสินค้าขายดีประจำร้านซีฟู้ด เพราะหอยหวานมีรสชาติหวานล้ำ อร่อย จนต้องสั่งซ้ำเป็นจานที่สอง…สาม…สี่  แต่เมนูหอยหวานจะอร่อยเลิศได้ จะต้องใช้หอยหวานสดที่ยังมีชีวิตมาปรุงเป็นอาหารเท่านั้น หากปล่อยให้หอยหวานตาย เนื้อหอยจะเน่าทันทีภายในระยะเวลา 1-2 ชั่วโมง เท่านั้น

ทุกวันนี้กระแสความต้องการบริโภคหอยหวานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แต่ปริมาณหอยหวานที่จับจากชายทะเลตามธรรมชาติกลับมีจำนวนลดลง เพราะหอยหวานเติบโตไม่ทันกับความต้องการของมนุษย์

โดยปกติชาวประมงจะจับหอยหวานออกขายปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงต้นฝน จึงมีหอยหวานจากธรรมชาติเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในระยะนี้ ช่วงปลายฤดูหนาว ชาวประมงจับหอยหวานส่งขายตลาดบ้างแต่มีปริมาณน้อย ทำให้หอยหวานในระยะนี้ขายได้ราคาสูง หลายคนจึงสนใจทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยหวานเชิงการค้า แต่การทำฟาร์มหอยหวานให้ประสบความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยการเรียนรู้และเงินลงทุนที่มากพอสมควร

เทคนิคบริหารจัดการฟาร์ม

โรงเรือนเลี้ยงหอยหวาน ต้องมีสภาพโปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก เกษตรกรสามารถเลี้ยงหอยหวานบนบกในบ่อซีเมนต์ ขนาดประมาณ 3×4.5×0.8 เมตร ส่วนฐานสร้างด้วยอิฐบล็อกฉาบปูนซีเมนต์ สูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร ติดตาข่ายรอบๆ บ่อเพื่อป้องกันไม่ให้หอยหวานปีนออกนอกบ่อได้ รองก้นบ่อด้วยทราย สูบน้ำทะเลขึ้นมาใช้เลี้ยงหอยในบ่อ โดยให้มีระดับความเค็มประมาณ 28-35 พีพีที ปล่อยน้ำด้วยหัวฉีดน้ำ มีท่อน้ำล้นให้น้ำหมุนเวียน และเพิ่มออกซิเจนตลอดเวลา

หากใครสนใจทำฟาร์มเลี้ยงหอยหวาน ควรเริ่มจากจัดหาพ่อแม่พันธุ์ กระตุ้นไข่ อนุบาล เลี้ยงตัวอ่อน และทำฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยหวานเชิงการค้า แนะนำให้สร้างบ่อปูนซีเมนต์เลี้ยงหอยหวานตามช่วงอายุ ตั้งแต่หอยตัวเล็กเท่าเม็ดทราย จนถึงหอยตัวโตที่จำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปีจึงจับหอยหวานออกขายได้

ใช้ปลาข้างเหลืองเป็นอาหารเลี้ยงหอยหวาน

โดยธรรมชาติ หอยหวานจะอยู่อาศัยเป็นกลุ่มใหญ่ ฝังตัวหลบอยู่ใต้พื้นทราย นับแสนตัวเพื่อความปลอดภัย ช่วยกันหาอาหาร และผสมพันธุ์ เมื่อเหยื่อประเภท ปู ปลา กุ้ง หลงว่ายเข้ามาในถิ่นที่อยู่ หอยหวานจะขึ้นมารุมกินจนเหยื่อไม่สามารถว่ายหนีได้ หอยหวานเป็นสัตว์น้ำที่มีอุปนิสัยเรียบง่าย กินตรงไหนจะนอนตรงนั้น จะโผล่ขึ้นมาผิวน้ำเฉพาะเวลากินอาหารเท่านั้น

หอยหวานกำลังรุมกินเนื้อปลา
หอยหวานกินเนื้อปลาจนเหลือแต่ก้าง

โดยทั่วไป เกษตรกรนิยมใช้เนื้อปลาสด หัวกุ้ง ฯลฯ เป็นอาหารเลี้ยงหอยหวานในบ่อเลี้ยง ต้นทุนค่าอาหารถือเป็นค่าใช้จ่ายหลักของฟาร์ม เพราะปลาสดมีราคาค่อนข้างแพง เช่น ปลาข้างเหลือง โดยจะให้อาหารหอยหวานเฉลี่ย บ่อละ 1 กิโลกรัม ต่อวัน

สาหร่ายพวงองุ่น

และควรเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นเพื่อช่วยบำบัดน้ำเสียในบ่อเลี้ยง หอยหวานจะเริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป ให้ไข่ครั้งหนึ่งประมาณ 50,000 ตัว แต่อัตราการรอดตายเพียง 3% เท่านั้น

หอยหวานสามารถวางไข่ในโรงเพาะฟักได้ตลอดทั้งปี โดยช่วงฤดูที่หอยหวานวางไข่มากที่สุดคือ เดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม สำหรับบ่อขยาย ควรเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์หอยหวานประมาณ 1,400 ตัว ต่อบ่อ พื้นบ่อปกคลุมด้วยทรายหยาบหนา 5 เซนติเมตร และมีน้ำทะเลไหลผ่านตลอด อัตราการไหล ประมาณ 300 ลิตร ต่อชั่วโมง ระดับความลึกของน้ำในบ่อเลี้ยงประมาณ 30-50 เซนติเมตร ปล่อยให้หอยหวานวางไข่เองในบ่อตามธรรมชาติ โดยสังเกตการวางไข่ในบ่อพ่อแม่พันธุ์เป็นประจำทุกวันในเวลาเช้า

ระยะการเติบโตของหอยหวาน

โดยทั่วไป แม่พันธุ์หอยหวานแต่ละตัวจะไข่ออกมาประมาณ 30-50 ฝัก แต่ละฝักก็จะมีไข่ใบเล็กๆ อยู่ข้างในประมาณ 1,000 ใบ

วงจรชีวิตหอยหวาน โดยคร่าวๆ ที่เห็นเป็นจุดสีน้ำตาล คือ ลูกหอยแต่ละตัว 1 จุด คือ 1 ชีวิต ไข่หอยหวานอายุ 3 วัน จะเริ่มแบ่งตัวออกเป็นหลายเซลล์ หลังจากแม่หอยวางไข่แล้วประมาณ 5-7 วัน

ไข่หอยหวานในวันแรกที่คลอดออกมา
ไข่หอยหวานอายุ 3 วัน เริ่มแบ่งตัวออกเป็นหลายเซลล์
ไข่หอยหวานอายุ 6 วัน

ลูกหอยระยะ Veliger จะออกจากฝักไข่ และดำรงชีวิตแบบแพลงตอนล่องลอยในน้ำ ลักษณะเด่นของลูกหอยระยะนี้คือ มีอวัยวะที่เรียกว่า Velum มองเห็นคล้ายปีกผีเสื้อ ทำหน้าที่โบกพัดน้ำเพื่อการเคลื่อนที่อย่างช้าๆ และโบกพัดอาหาร ลูกหอยระยะนี้จึงถูกเรียกว่า ระยะหอยบิน

ระยะผีเสื้อ

ตัวหอยบินอายุ 14 วัน จะกินแพลงตอนเป็นอาหาร หลังจากนั้นจะใช้เวลาแปลงกายจากตัวบินมาเป็นลูกหอยหวาน ในระยะเวลาเพียง 1 วัน พอเป็นลูกหอย ก็จะกินแต่เนื้อ เลี้ยงต่ออีก 2 เดือน ก็จะได้หอยขนาด 1 เซนต์ เรียกง่ายๆ ว่า “หอยเซนต์” ทางฟาร์มจะนำหอยเซนต์เลี้ยงในบ่อใหญ่ เรียกว่าขั้นตอนขุนหอย ใช้ระยะเวลาเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 10-12 เดือน จึงเริ่มจับหอยออกขายได้

การเติบโตของหอยหวานในแต่ละช่วงวัย

หากใครสนใจอยากเลี้ยงหอยหวานเชิงพาณิชย์ สิ่งสำคัญประการแรกคือ ต้องมีที่ดินติดชายทะเลประมาณ 1-2 ไร่ เพราะต้องใช้น้ำทะเลในการเลี้ยงหอยหวาน ต้องใช้เงินลงทุนมากพอสมควร หากลงทุนสร้างบ่อซีเมนต์สำหรับเลี้ยงหอยจะใช้เงินลงทุนประมาณบ่อละ 30,000 บาท ต่อบ่อ หากเป็นบ่อผ้าใบ เฉลี่ยบ่อละ 5,000 บาท แต่ข้อเสียของบ่อผ้าใบ คือสภาพอุณหภูมิจะปรับเปลี่ยนตามสภาพฤดูกาล ทำให้หอยหวานเติบโตไม่คงที่ เมื่อเทียบกับการเลี้ยงในสภาพบ่อปูน ที่มีสภาพอุณหภูมิคงที่ หอยหวานสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องมากกว่า

บ่อปูนซีเมนต์ที่มีหอยหวานมุดอยู่ใต้ทราย
บ่อผ้าใบที่ใช้เลี้ยงหอยหวาน

ปัจจัยเสี่ยง

“น้ำทะเล” เป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ในฟาร์มเลี้ยงหอยหวาน แต่คุณภาพน้ำทะเลเป็นสิ่งที่ยากต่อการควบคุมคุณภาพ โดยเฉพาะช่วงที่ฝนตกชุก น้ำทะเลจะมีระดับความเค็มลดลง ไม่เพียงพอสำหรับการเพาะเลี้ยงหอยหวาน แถมบางครั้งเกิดปรากฏการ์ณแพลงตอนบูม หรือขี้ปลาวาฬ เป็นอุปสรรคต่อการเพาะขยายพันธุ์ และการเพาะอาหารสำหรับลูกหอยหวาน ทำให้หอยหวานเติบโตช้ากว่าปกติ ฟาร์มหลายแห่งเจอปัญหาอุปสรรคดังกล่าว ทำให้ต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงหอยหวานยาวนานถึง 15 เดือน จึงได้หอยหวานตัวโตท่ี่ตลาดต้องการ

ปัจจัยเสี่ยงอีกประการหนึ่งคือ ความสะอาดของบ่อเลี้ยง หากคนงานดูแลบ่อเลี้ยงไม่สะอาดเพียงพอ อาจทำให้หอยหวานป่วยเป็นโรคงวงบวม หอยหวานจะไม่กินอาหาร และตายในที่สุด หากเจอโรคงวงบวม แนะนำให้ใช้น้ำหมักชีวภาพ บำบัดน้ำในบ่อเลี้ยงหอย สำหรับน้ำหมักชีวภาพทำได้ไม่ยาก เริ่มจากเตรียมวัตถุดิบ คือ เปลือกสับปะรด กากน้ำตาล กล้วยน้ำว้า ลูกยอ ฟ้าทะลายโจร อย่างละ 20 กิโลกรัม กากน้ำตาล 30 กิโลกรัม และหัวเชื้อจุลินทรีย์ (ปม.1) ของกรมประมง จำนวน 2 ซอง นำวัตถุดิบทั้งหมดใส่ในถังหมัก เทน้ำใส่ให้ท่วม หมักนาน 1 เดือน จึงใช้เป็นหัวเชื้อน้ำหมักสำหรับป้องกันโรคดังกล่าว โดยทั่วไปโรคงวงบวม มักเกิดเฉพาะช่วงที่ดูแลบ่อเลี้ยงไม่สะอาดเพียงพอ แต่หลังใช้น้ำหมักชีวภาพสามารถแก้ไขปัญหาโรคงวงบวมได้อย่างเด็ดขาด

ระวังเจอ “หอยหวานปลอม”

เนื่องจาก หอยหวาน ขายได้ราคาสูง ทำให้พ่อค้าหัวใสบางรายแอบขายหอยหวานปลอม โดยใช้ “หอยหมาก” ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับหอยหวานมาหลอกขายลูกค้า หากใครไม่อยากถูกพ่อค้าหลอก ก่อนซื้อควรสังเกตลวดลายบนเปลือก

ภาพซ้าย-หอยหวาน ภาพขวา-หอยหมาก

หอยหวานของแท้จะมีริ้วลายห่างกัน เห็นสีขาวและสีน้ำตาลแบ่งกันอย่างชัดเจน ตรงก้นหอยจะมีลักษณะกลมมน ส่วนหอยหวานเทียม หรือ “หอยหมาก” จะมีลวดลายบนเปลือกถี่ แทบไม่เห็นพื้นสีขาว ก้นหอยมีลักษณะเป็นเหลี่ยม มีสันคมๆ

จุดเด่นที่แตกต่างกันอีกอย่างคือ หอยหวานของแท้ เนื้อมีสีขาวอมชมพู เนื้อหอยไม่เหนียวมาก มีรสชาติหอม หวาน กรอบ อร่อย ร้านอาหารต่างๆ จำหน่ายหอยหวานในราคาขายค่อนข้างแพง 700-800 บาท ส่วนหอยหมาก มีเนื้อหอยเป็นสีดำเป็นส่วนใหญ่ มีรสชาติแตกต่างจากหอยหวานแท้อยู่พอสมควร สามารถหาซื้อหอยหมากได้ตามตลาดสดและห้างสรรพสินค้าทั่วไป ราคาซื้อขายเริ่มต้น 150-300 บาท ต่อกิโลกรัม