กรมวิชาการเกษตรเปิดตัว “หมู่บ้านวิชาการเกษตร”

กรมวิชาการเกษตรเปิดตัว “หมู่บ้านวิชาการเกษตร”ในพื้นที่ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล หวังเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดผลงานวิจัยด้านการผลิตพืชผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจสู่ชุมชน

นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า  ปัญหาระดับชาติที่ทุกรัฐบาลหยิบยกมาเป็นประเด็นสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และแนวทางที่นำมาในการพัฒนาตลอดระยะหลายปีที่ผ่านมา คือการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แม้แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเกือบทุกฉบับและในยุทธศาสตร์ชาติ20 ปี(2561-2580) ก็ได้กำหนดวิสัยทัศน์ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เกษตรกรสามารถพึ่งตนเองได้อย่างเข้มแข็ง

ทั้งนี้เพื่อสนองนโยบายสำคัญดังกล่าวของรัฐบาล ในปี 2562 กรมวิชาการเกษตรจึงได้เปิดตัวโครงการหมู่บ้านวิชาการเกษตรขึ้น โดยโครงการดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการขับเคลื่อนผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดผลงานวิจัยด้านการผลิตพืชผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นในพื้นที่สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) ประกอบด้วย 4 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง คือ ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล โดยวางเป้าจะต้องมีเกษตรกรในชุมชนต้นแบบมีการผลิตพืชตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 8 ชุมชน รวม 120 คน พื้นที่ 240 ไร่ และเกษตรกรทั่วไปที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี400-800 คนต่อปี

ด้านนายธัชธาวินท์  สะรุโณ   ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการผลิตพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สวพ.8 กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรได้ยกระดับหมู่บ้านวิชาการเกษตรจากชุมชนต้นแบบ เพื่อให้เห็นภาพลักษณ์ของหมู่บ้านที่พัฒนาโดยกรมวิชาการเกษตรที่ชัดเจนขึ้น โดยรูปแบบดำเนินการในหมู่บ้านแห่งนี้ ได้วางเป้าหมายให้มีการพัฒนาหมู่บ้านวิชาการเกษตร 1 หมู่บ้าน ให้มีการพัฒนาต่อเนื่องระยะเวลา 3-5 ปี และหมู่บ้านขยายผล ปี ละ 1 หมู่บ้าน

Advertisement

งานที่ดำเนินการประกอบด้วย 4 เสาหลักสู่ความพอเพียง คือ พัฒนาความเข้มแข็งชุมชน พัฒนา 9 กลุ่มพืชผสมผสาน พัฒนาเทคโนโลยีผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น และพัฒนาการดำรงชีพตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีการพัฒนาการผลิตพืชให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ 9 กลุ่ม ได้แก่ พืชอาหาร พืชรายได้ พืชสมุนไพรสุขภาพ พืชสมุนไพรศัตรูพืช พืชอนุรักษ์ดินและน้ำ พืชอาหารสัตว์ พืชใช้สอย พืชอนุรักษ์พันธุกรรมท้องถิ่นพื้นเมือง และ พืชพลังงาน เป็นต้น

Advertisement

“หมู่บ้านวิชาการเกษตรเป็นโครงการที่บูรณาการผลงานวิจัยและพัฒนาของกรมลงสู่พื้นที่ชุมชน เพื่อให้เกษตรกรได้ศึกษาเทคโนโลยีจากเงื่อนไขที่เป็นจริงของเกษตรกร และสามารถนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ต่อได้เหมาะสม เกษตรกรสามารปรับผลงานวิจัยไปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพการผลิตทางการเกษตรได้จริงและเห็นผล ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งในชุมชนแบบยั่งยืนในอนาคต” นายธัชธาวินท์   กล่าว