ผู้เขียน | ทวีศักดิ์ ชัยเรืองยศ |
---|---|
เผยแพร่ |
มะกรูด จัดเป็นไม้พุ่มยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ขนาดทรงพุ่มกว้าง 2-3 เมตร สูง 4-5 เมตร ใบเมื่อโตเต็มที่มีลักษณะเป็น 2 ส่วน คือส่วนแผ่นใบและส่วนก้านใบที่มีปีกที่ขยายออกจนมีขนาดเกือบเท่ากับแผ่นใบ ทำให้มองดูคล้ายกับมีใบ 2 ใบ ต่อเชื่อมกันอยู่ ผลมีรูปร่างแบบผลสาลี่ มีจุก เปลือกผลมีลักษณะขรุขระเป็นลูกคลื่น ทั้งส่วนใบ ดอก และผล จะมีต่อมน้ำมันจำนวนมากที่ให้น้ำมันหอมระเหยอยู่หลายชนิด จัดเป็นพืชท้องถิ่นที่ขึ้นตามธรรมชาติในพื้นที่ของอินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย คาบสมุทรมลายู และฟิลิปปินส์ เป็นต้น มะกรูด มีชื่อเรียกอื่นๆ ในประเทศไทยอีกจำนวนมากของแต่ละพื้นที่ เช่น มะขุน มะขูด มะขู ส้มกรูด ส้มมั่วผี ฯลฯ
ด้วยเมนูอาหาร “ต้มยำกุ้ง” ได้พัฒนาจนกระทั่งกลายเป็นเมนูระดับนานาชาติแล้วนั้น ทำให้ความต้องการของชุดต้มยำ ซึ่งมีใบมะกรูดเป็นส่วนประกอบหลักที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใบที่มีคุณภาพ ทั้งขนาด สี และปราศจากศัตรูพืชเข้าทำลายเพิ่มสูงมากขึ้น นอกจากนี้ ส่วนของผลมะกรูดได้มีการนำมาใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ในเครื่องสำอางก็มีสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ต้นมะกรูดที่ปลูกตามธรรมชาติหรือตามสวนทั่วไปมักมีการออกดอกเป็นฤดูกาล ทำให้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จึงเป็นผลพลอยได้มากกว่าการผลิตเพื่อเอาส่วนของผลโดยตรง
เทคนิคการผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า
รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นครปฐม ได้บอกว่า การผลิตใบมะกรูดเชิงการค้า จึงมุ่งเน้นเฉพาะการเจริญเติบโตด้านกิ่งใบเป็นหลัก การตัดแต่งเป็นการกระตุ้นให้มีการผลิตและยังส่งเสริมในด้านการเจริญเติบโตทางกิ่งใบ รวมทั้งระยะปลูกและจำนวนต้นที่ปลูกจะต้องมีความเหมาะสม ซึ่งมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1. พื้นที่ สภาพพื้นที่ต้องมีการระบายน้ำดี น้ำไม่ท่วมขัง มีระดับ pH 5.5-7.0 ดินมีอินทรียวัตถุสูง หรือปรับแต่งได้ด้วยการใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยพืชสดได้ ควรมีการไถพรวนก่อนเพื่อช่วยไม่ให้ดินแน่นแข็งเกินไป
2. การเตรียมแปลงปลูกและระยะปลูก เนื่องจากระยะปลูกมีความสัมพันธ์กับการเตรียมแปลงและจำนวนต้นปลูก ความกว้างของแปลง 1 เมตร ยกระดับความสูงของแปลง ประมาณ 20-25 เซนติเมตร ความห่างระหว่างจุดกึ่งกลางของแปลง 1.5 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ปลูกแบบสลับฟันปลา การใช้ระยะปลูกที่ห่างกว่านี้ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการผลิตใบมะกรูดต้องอาศัยกรรมวิธีในการตัดแต่ง ซึ่งเท่ากับเป็นการควบคุมขนาดพุ่มต้นพร้อมกันด้วย
3. กิ่งพันธุ์ สามารถใช้ต้นพันธุ์ที่ขยายพันธุ์จากการเพาะเมล็ด กิ่งปักชำ หรือกิ่งตอนก็ได้ กิ่งที่ได้จากการเพาะเมล็ดมีการเติบโตที่ช้ากว่าในช่วงระยะแรก อย่างไรก็ตาม ต้นพันธุ์ที่จะนำมาใช้ปลูกจะต้องปลอดจากโรคแคงเกอร์ส้ม ซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุของข้อจำกัดหลักที่ทำให้ไม่สามารถส่งใบมะกรูดไปยังกลุ่มประเทศของสหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศได้ หากแพร่ระบาดเข้าไปในแปลงปลูกแล้ว ก็ยากที่จะกำจัดได้ ดังนั้น จึงควรป้องกันมิให้โรคนี้เข้าไปตั้งแต่เริ่มแรกกับต้นพันธุ์ที่ใช้ปลูก โดยใช้วิธีการคัดเลือกกิ่ง และตัดแต่งกิ่ง/ใบ ส่วนที่เป็นโรคออกแล้วนำไปเผาไฟ จากนั้นนำไปแช่ในสารปฏิชีวนะ สเตรปโตมัยซิน ความเข้มข้น 500 ppm เป็นเวลา 2 ชั่วโมง ก่อนนำไปปลูก
4. อายุที่เริ่มให้ผลผลิต สามารถเริ่มตัดแต่งกิ่งเพื่อจำหน่ายได้หลังจากปลูกประมาณ 4-6 เดือน หากมีการดูแลรักษาที่ดีแล้ว ก็จะสามารถอยู่ได้หลายปี
ต้นทุนในการผลิตมะกรูดเพื่อตัดใบภาคเกษตรกร
ปัจจุบัน มีเกษตรกรปลูกมะกรูดในระบบชิด คือใช้ระยะปลูก 2×2 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 400 ต้น ราคากิ่งพันธุ์มะกรูดเสียบยอด ราคาต้นละ 25 บาท พื้นที่ 1 ไร่ คิดเป็นค่ากิ่งพันธุ์ 10,000 บาท เมื่อคิดรวมค่าปุ๋ย ค่าสารปราบศัตรูพืช ค่าระบบน้ำ และค่าจัดการอื่นๆ อีกประมาณไร่ละ 5,000 บาท รวมเป็นเงินลงทุนในปีแรกประมาณ 15,000 บาท ต่อไร่ ต้นมะกรูดจะเริ่มตัดใบขายได้ในเชิงพาณิชย์เมื่อต้นมีอายุเข้าปีที่ 3 และจะตัดขายได้ปีละ 4 รุ่น ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น ต้นมะกรูดที่มีการดูแลรักษาที่ดีพอประมาณจะมีอายุได้ยืนยาวกว่า 10 ปี
เทคนิคและเทคโนโลยีในการผลิตใบมะกรูด ในแปลงปลูกมะกรูด
อาจารย์รวี บอกว่า เทคนิคสำคัญในการจัดการในแปลงปลูกมะกรูดมีดังนี้ จะใช้ผ้าพลาสติกคลุมแปลงปลูกหรือใช้ฟางข้าวคลุมแปลง เพื่อป้องกันวัชพืชและช่วยรักษาความชื้นด้วย หากมีการใช้ผ้าพลาสติคคลุมแปลงแล้ว ระบบการให้น้ำจำเป็นต้องใช้เป็นแบบน้ำหยดที่มีการให้ปุ๋ยไปกับน้ำพร้อมกันด้วย
สำหรับแปลงปลูกที่ไม่ได้มีการใช้ผ้าพลาสติกแล้ว ก็สามารถเลือกใช้การให้น้ำระบบต่างๆ ที่มีอยู่ตามความเหมาะสมได้ การให้ปุ๋ย ผลจากการตัดใบมะกรูดนั้นเป็นการนำเอาแร่ธาตุอาหารออกไปจากดินอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นที่จะต้องให้ปุ๋ยชดเชยกลับคืนให้กับต้นดังเดิม ระดับของปริมาณธาตุอาหาร N-P-K ควรมีสัดส่วนประมาณ 5:1:3 หรือ 5:1:4 หรือใกล้เคียงกัน ส่วนธาตุอื่นๆ ก็จำเป็นต้องเสริมให้ไปเป็นระยะด้วย การป้องกันกำจัดศัตรูพืช
นอกจากโรคแคงเกอร์แล้ว มักไม่พบโรคอื่นๆ ที่มีความรุนแรงแต่อย่างใด การเก็บเกี่ยวใบมะกรูดเมื่อปลูกไป ประมาณ 4-6 เดือน จะเริ่มตัดแต่งกิ่งโดยตัดให้อยู่ในระดับความสูง 60-80 เซนติเมตร จากผิวดิน กำจัดกิ่งที่อยู่ในแนวนอนออกไป ภายหลังการตัดแต่ง ตาจะเริ่มผลิ ผลจากการศึกษา การผลิตใบมะกรูดควรปฏิบัติดังนี้
1. กิ่งควรอยู่ในแนวตั้งฉากหรือเกือบตั้งฉาก จะให้จำนวนกิ่ง จำนวนใบต่อกิ่งและขนาดใบที่ใหญ่
2. ระดับของการตัดแต่ง ไม่ควรตัดแต่งเกินครึ่งหนึ่งของความยาวกิ่ง หากตัดเหลือตอกิ่งมีผลทำให้การผลิตตายืดเวลาออกไป
3. ขนาดของกิ่งที่เหมาะสม ควรเป็นกิ่งที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 1 เซนติเมตร
มะกรูดที่ปลูกในบ้านเราแบ่งออกได้เป็น 2 สายพันธุ์หลัก
สายพันธุ์มะกรูดที่ปลูกอยู่ในบ้านเราในขณะนี้จะแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือสายพันธุ์ที่ให้ผลมะกรูดดกตลอดปี ผิวผลค่อนข้างเรียบ และผลมีขนาดเล็ก อีกสายพันธุ์หนึ่งเป็นพันธุ์ผลใหญ่ และติดผลเป็นพวง ลักษณะของผลมีตะปุ่มตะป่ำคล้ายหูด และมีใบขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะที่จะปลูกเพื่อผลิตใบและผลขายส่งโรงงานแปรรูปน้ำมันหอมระเหย เครื่องอุปโภคหลายชนิด อาทิ สบู่ ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน เครื่องสำอาง ฯลฯ ล้วนแต่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยจากใบและผลมะกรูด ยังมีข้อมูลบริษัทบางแห่งมีการนำเอาใบมะกรูดไปตากแห้งและบดให้ละเอียดปั้นเป็นลูกกลอนเพื่อส่งออก บ้างก็นำเอาไปเป็นส่วนผสมในอาหารไก่เพื่อช่วยต้านทานโรค ในทางการแพทย์แผนไทยมีการใช้มะกรูดเป็นยาหรือส่วนผสมของยาต่างๆ อาทิ น้ำในผลมะกรูดแก้อาหารท้องอืด ช่วยให้เจริญอาหาร น้ำมะกรูดใช้ดองยาเพื่อใช้ฟอกเลือด และบำรุงโลหิตในสตรี ส่วนของเนื้อนำมาใช้เป็นยาแก้อาการปวดศีรษะ ส่วนของใบมะกรูดใช้เป็นยาขับลมในลำไส้แก้อาการจุกเสียด
หลายคนคิดเพียงว่า “มะกรูด” เป็นไม้ยืนต้นสวนครัวเพื่อนำใบและผลมาใช้ประกอบเพื่อเป็นเครื่องแกงชนิดต่างๆ หรือใช้ปรุงแต่งรสชาติของอาหารเท่านั้น ปัจจุบันมีเกษตรกรปลูกมะกรูดเพื่อผลิตใบและผลส่งขายโรงงานผลิตน้ำมันหอมระเหย สร้างรายได้ดีไม่แพ้เกษตรกรรมประเภทอื่น ส่งเสริมให้เกษตรกรได้ขยายพื้นที่การปลูกมะกรูดเพียงครอบครัวละ 1-3 ไร่เท่านั้น ผลิตใบขายได้กิโลกรัมละ 7 บาท (ขายใบพร้อมกิ่ง โดยตัดที่ความยาว 50 เซนติเมตร-1 เมตร)
เทคนิคการผลิตผลมะกรูดเชิงการค้า
ถึงแม้ว่าส่วนของผลมะกรูดมีส่วนประกอบที่ไม่ชวนให้บริโภค เนื่องจากมีรสเปรี้ยว รสขมและขื่นแล้ว ยังมีสารน้ำมันที่ก่อให้เกิดอาการเผ็ดร้อนด้วย อย่างไรก็ตาม จากการที่ส่วนใบและผิวผลมีปริมาณน้ำมันหอมระเหยที่สูงนี่เอง จึงได้มีการนำทั้งสองส่วนนี้มาใช้ทั้งในรูปที่เป็นเครื่องเทศ และสมุนไพรมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยุคโบราณเป็นต้นมา โดยใช้ในการประกอบอาหารและสรรพคุณช่วยขับลมในกระเพาะ แก้ไอ เจ็บคอ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้เป็นเครื่องสำอาง ทำแชมพูแก้รังแคแล้วยังมีคุณสมบัติออกฤทธิ์เป็นสารฆ่าแมลงกำจัดเหาบนศีรษะได้ หรือใช้เป็นสารดับกลิ่นในห้องน้ำเหล่านี้ เป็นต้น
สำหรับการผลิตผลมะกรูดนั้นจำเป็นต้องใช้หลักการในด้านสรีรวิทยาของการออกดอก จึงมีผลตรงข้ามกับการผลิตใบโดยสิ้นเชิง มีขั้นตอนที่ควรปฏิบัติในหลายส่วนที่ใกล้เคียงกัน เช่น การเตรียมพื้นที่ ต้นพันธุ์ และระบบน้ำ เป็นต้น สำหรับส่วนที่ต่างกันนั้นมีด้านต่างๆ ดังนี้
1. ระยะปลูก ระยะห่างระหว่างต้นต้องไม่น้อยกว่า 1 เมตร ในแถวเดี่ยว โดยอาจใช้ระยะ 1×1.5 เมตร (ปลูกได้ 1,067 ต้น ต่อไร่) หรือระยะ 1.5×2 เมตร (ปลูกได้ 533 ต้น ต่อไร่) กิ่งที่ตัดแต่งออกอาจใช้เพื่อการผลิตใบได้บ้าง เหตุผลที่ต้องใช้ระยะปลูกที่ห่างกว่า เพราะกิ่งที่จะออกดอกได้ดีต้องเป็นกิ่งในแนวมุมกว้าง หรือเกือบขนานกับพื้น
2. การบังคับการออกดอก หากปลูกให้ออกดอกตามธรรมชาติแล้ว ก็จะได้ดอกในช่วงฤดูหนาว อายุผลยังไม่ทราบแน่นอน แต่คาดว่าจะใกล้เคียงกับมะนาว คือจากดอกบานถึงเก็บเกี่ยวได้ประมาณ 4 เดือนครึ่ง อย่างไรก็ตาม จากผลการทดลองใช้สารชะลอการเจริญเติบโตพาโคลบิวทราโซล ร่วมกับการตัดปลายยอดพบว่าสามารถชักนำให้ต้นมะกรูดมีการออกดอกได้ดีมาก โดยต้นมะกรูดเริ่มออกดอกภายหลังการตัดยอด ประมาณ 90 วัน และมีดอกมากที่สุดในช่วงระหว่าง 100-120 วัน
จากผลการศึกษาทั้งในด้านการผลิตใบและการผลิตผลมะกรูดที่ผ่านมานั้น ควรจะแยกแปลงปลูกออกจากกัน ทั้งนี้ เพราะสรีรวิทยาของสองส่วนนี้มีความแตกต่างกัน ซึ่งส่งผลถึงระยะปลูก การจัดการด้านการปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไปด้วย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกวันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2562