ลาออกจากราชการทำ “ไร่ทนเหนื่อย” เส้นทางเกษตรธรรมชาติกว่า 20 ปี พลิกดินลูกรังด้วยปุ๋ยปลูกเอง

การทำเกษตรอินทรีย์สำหรับการบริโภคในครัวเรือนเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก เพียงแค่เรามีพื้นที่เหลือข้างบ้านก็สามารถนำพืชผักที่เราชอบและสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมนั้นๆ มาปลูก ดูแลเอาใจใส่รดน้ำบ้าง ไม่นานนักเราก็ได้พืชผักที่ปลูกเหล่านั้นมากิน แต่การทำเกษตรอินทรีย์เพื่อการค้ายุ่งยากกว่าการทำเกษตรอินทรีย์ในครัวเรือนและการทำเกษตรเคมีเพื่อการค้าหลายเท่านัก

จากอดีตที่เป็นนักวิชาการศึกษาในตำแหน่งศึกษานิเทศน์ อาจารย์สมหมาย หนูแดง ได้รับราชการครบอายุ 25 ปี เมื่อปี 2537 จึงได้ลาออกจากราชการมาทำไร่ ตั้งแต่ได้ศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท ได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องสารพิษที่ตกค้างในอาหาร ยิ่งศึกษาให้ลึกซึ้งเข้าไปยิ่งพบว่ามีสารพิษตกค้างในอาหารแทบทุกชนิดจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งเกี่ยวกับสุขภาพของคนไทย

จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะผลิตพืชที่ไม่มีสารพิษตกค้างเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับพืชผักที่มีคุณภาพที่ดีกว่า บนพื้นที่กว่า 60 ไร่ ที่อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี จึงเริ่มศึกษาว่าจะทำอย่างไร จากองค์ความรู้ของส่วนราชการต่างหลายๆ หน่วยงาน โดยเริ่มต้นศึกษาดินในไร่ก็พบว่าดินมีคุณสมบัติเป็นด่างเพราะเป็นดินลูกรัง และดินอยู่ในสภาพขาดอินทรียวัตถุ การปรับปรุงดินเป็นสิ่งแรกที่จะต้องเริ่มต้นทำ อาจารย์สมหมายได้นำ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และปุ๋ยพืชสด มาใช้ปรับปรุงดินในไร่ ทำให้ดินมีสภาพดีขึ้น

ปุ๋ยคอกเป็นปุ๋ยที่จะต้องนำมาหมักให้อินทรียวัตถุย่อยสลายเสียก่อน ส่วนปุ๋ยหมักสามารถนำมาใช้ได้เลยแต่ราคาแพงกว่าปุ๋ยคอก แต่ทั้งปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกจะต้องมีต้นทุนค่าปุ๋ย ค่าขนส่ง และค่าหว่านในแปลง

อ.สมหมาย-อ.อุท้ย หนูแดง

ปุ๋ย ปลูกเอง

อาจารย์สมหมาย บอกเราว่า “ปุ๋ยพืชสด เริ่มต้นจากการนำปอเทืองของกรมพัฒนาที่ดินมาหว่าน เมื่อต้นเจริญเติบโตเต็มที่ก็ไถกลบ ดินก็มีอินทรียวัตถุเพิ่มขึ้น แต่ก็มาคิดว่าถ้าเกษตรกรคิดแต่จะพึ่งปอเทืองของส่วนราชการทั้งหมดก็ไม่ถูกต้อง เกษตรกรจะต้องคิดพึ่งตนเองก่อน

จากการศึกษาก็พบว่าธาตุอาหารอยู่ในพืชทุกชนิดและมีความแตกต่างกันหลากหลาย บางชนิดมีไนโตรเจนมาก บางชนิดมีโพแทสเซียมมาก บางชนิดมีฟอสฟอรัสมาก เราจะมาใช้พืชชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ได้ จึงควรจะใช้พืชหลายชนิดที่มีธาตุอาหารหลากหลาย ก็มาพบว่าวัชพืชที่ขึ้นตามในไร่ของเราเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับการทำปุ๋ยพืชมากที่สุด”

หลังจากนั้น ไร่ทนเหนื่อย ก็ใช้ปุ๋ยพืชสดในการบำรุงดินมาโดยตลอด วิธีการคือ หลังจากปลูกผักก็จะใช้ฟางข้าวปูบนแปลงทั้งหมดให้หนา หลังจากนั้นก็จะไม่ถอนวัชพืชอีกเลยจนกระทั่งถอนผัก เมื่อถอนผักเสร็จในแปลงก็จะเหลือของ 3 อย่าง คือ วัชพืช เศษฟาง และต้นผักที่เหลือ ก็จะไถกลบแล้วรดด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อให้เกิดการย่อยสลายเร็วขึ้น ทิ้งไว้ประมาณ 7-15 วัน ก็จะปลูกพืชผักรุ่นต่อไปเป็นวัฏจักร จากการเริ่มปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปอเทืองมาระยะหนึ่ง

ปัจจุบันไร่ทนเหนื่อยใช้ปุ๋ยปลูกเอง โดยไม่ต้องจ่ายค่าปุ๋ย ค่าขนส่ง และค่าหว่าน และอีกความคิดหนึ่งของไร่ทนเหนื่อยคิดว่า ปุ๋ยคอกที่เป็นมูลสัตว์ได้จากการขับถ่ายของสัตว์ สิ่งที่เป็นธาตุอาหารดีๆ ส่วนใหญ่จะถูกดูดซึมโดยร่างกายของสัตว์แล้ว ส่วนที่เหลือจะมีธาตุอาหารน้อย และที่สัตว์กินเป็นอาหารส่วนใหญ่ก็จะเป็นพืช ถ้าเราเอาพืชมาทั้งต้นที่ยังมีธาตุอาหารครบถ้วนมาเป็นปุ๋ยจะเป็นการดีกว่าเอาเศษพืชที่เหลือจากการขับถ่ายของสัตว์

ปอเทือง

การจัดการระบบนิเวศ

เมื่อจัดการปรับปรุงดินจนได้ดินที่เหมาะสมแล้ว การจัดการระบบนิเวศเกี่ยวกับแมลงที่ได้ทำควบคู่กันมาก็สัมฤทธิ์ผล อาจารย์สมหมาย เล่าให้ฟังว่า “สิ่งที่มีชีวิตในแปลง ไม่ว่าจะเป็นแมลงกินพืช หรือแมลงกินแมลง เราต้องดูแลบริหารจัดการทั้งหมด แมลงกินพืชจะได้กินอาหารที่ตัวเองชอบ แมลงกินแมลงก็จะได้กินแมลงที่ตัวเองชอบ ซึ่งถือเป็นห่วงโซ่อาหารซึ่งกันและกัน เมื่อเราไม่ถอนวัชพืชซึ่งเป็นพืชท้องถิ่น แมลงที่คุ้นเคยกับพืชชนิดนั้นก็มีอาหารที่ชอบกิน เมื่อแมลงกินพืชกินวัชพืชอิ่มก็จะไม่ไปรบกวนผักที่เราปลูกหรือมีไปรบกวนบ้างเล็กน้อยก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ

เมื่อแมลงกินพืชแพร่พันธุ์ก็จะเป็นอาหารให้กับแมลงกินแมลง ธรรมชาติในแปลงก็จะเกิดความสมดุล เรียกว่าทุกชีวิตในแปลงต้องมีชีวิตอยู่อย่างสบาย ตั้งแต่วัชพืชที่ไม่ต้องถูกถอนทิ้ง ผักที่เราปลูก แมลงกินพืช แมลงกินแมลง ทุกชีวิตต้องอยู่ร่วมกันในสภาพแวดล้อมของธรรมชาติอย่างเหมาะสม ดูอย่างในป่าที่มีต้นไม้ขนาดหลายคนโอบ ไม่มีใครเอาปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยหมักไปใส่มันแต่มันเติบโตเพราะมีใบไม้ที่ร่วงหล่นทับถมมานาน อีกอย่างหนึ่งก็การที่มีน้ำป่าหลากพัดเอาอินทรียวัตถุมาทับถมซ้ำเข้าไป ทำให้ในดินมีอินทรียวัตถุที่เหมาะสม”

ปูพื้นหนาด้วยฟาง

เกษตรธรรมชาติที่แท้จริง

จากความคิดของคนปลูกพืชผัก แมลงที่เข้ารบกวนพืชผักในแปลง เราจะหยิบยื่นโทษสถานเดียวให้แมลงเหล่านี้คือความตาย ถ้าในการทำเกษตรเคมีคือการใช้ยาฆ่าแมลง ฉีดพ่นกันอย่างหูดับตับไหม้เหมือนทำสงครามกับแมลง ยาชนิดไหนแรงเป็นอันต้องเสาะหามาใช้

ในการทำเกษตรอินทรีย์ก็เช่นกัน นอกจากที่เราระดมขนปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักกันมาหลายคันรถแล้ว สมุนไพรต่างๆ ที่เป็นพิษหรือสามารถไล่แมลง เราจะหมักกันสารพัด หมักนำมาฉีดพ่น ซึ่งจะต้องพ่นถี่กว่าสารเคมีด้วยซ้ำ แต่ไร่ทนเหนื่อยของเรา คิดไม่เหมือนกัน

อาจารย์สมหมาย บอกว่า “การที่เราจะต้องเสาะหาสมุนไพรที่มีฉีดพ่น สมุนไพรเหล่านั้นมีรสชาติอยู่ 3 อย่างคือ ขม ขื่น เมา เราหมักสมุนไพรเหล่านี้ให้สารที่เป็นพิษต่อแมลงออกมาในน้ำหมัก แล้วนำน้ำหมักมาฉีดพ่นเพื่อไล่แมลงหรือเคลือบใบของผักที่เราปลูก ทำให้แมลงไม่อยากกินเพราะมีฤทธิ์ 3 อย่างดังกล่าว

ถามว่าสมุนไพรมีพิษไหม? ก่อนจะตอบคำถามนี้ต้องคิดย้อนไปว่าในสมัยดึกดำบรรพ์โดยปกติ มนุษย์กินพืชผักตามแมลงหรือสัตว์ เพราะเราเห็นว่าสัตว์กินแล้วปลอดภัยเราถึงกิน เป็นที่น่าสังเกตว่าสมุนไพรส่วนใหญ่แมลงไม่กิน เพราะมันมีสารพิษระดับหนึ่งอาจจะไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เป็นพิษเหมือนกันเพราะแมลงไม่กิน การใช้สมุนไพรในแปลงเกษตรก็อาจถือว่าไม่ใช่อาหารธรรมชาติ อาหารธรรมชาติจึงไม่ควรต้องปรุงแต่งด้วยสิ่งเหล่านี้ เกษตรระบบนิเวศนี้จึงอาจเรียกได้ว่า เป็นเกษตรธรรมชาติ”

กะหล่ำ

ต่อคำถามที่ว่าจะต้องทำปุ๋ยพืชสดนานไหมถึงจะเริ่มได้ผล อาจารย์สมหมาย ให้เหตุผลว่า “การใช้ปุ๋ยพืชสดให้ได้ผล เวลาก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือความตั้งใจที่จะทำ ถ้ามุ่งมั่นที่จะทำก็จะประสบความสำเร็จเร็วกว่าที่อาจารย์ทำ เนื่องจากไม่ต้องลองผิดลองถูกกันอีก

สมมุติว่าพื้นที่ 1 ตารางเมตร ปลูกพืชครั้งแรกได้น้ำหนัก 2 กิโลกรัม ปลูกครั้งที่ 2 จะได้น้ำหนักเพิ่มขึ้นเป็น 3 กิโลกรัม ปลูกครั้งที่ 3 ได้น้ำหนักเพิ่มเป็น 5 กิโลกรัม ในช่วงระยะเวลา 3 ครั้ง ใช้เวลาเท่าไรก็แล้วแต่ เราจะได้ปุ๋ยพืชสด 10 กิโลกรัม เรายิ่งได้ปุ๋ยพืชสดมากเท่าไหร่ พืชผักที่ปลูกก็จะได้กลับคืนมามากกว่า ถ้าเปรียบกับการเลี้ยงสัตว์ก็คือ อัตราแลกเนื้อ ยิ่งมีพืชสดหลากหลายเท่าไรยิ่งเป็นการดี เพราะเราจะได้แร่ธาตุที่มีความหลากหลายเช่นกัน”

ผู้เขียนทดลองคูณ เอา 1 ไร่ มี 1,600 ตารางเมตร คูณ 10 เข้าไป เพราะปลูก 3 ครั้ง ได้ 10 กิโลกรัม จะได้ปุ๋ยพืชสดถึง 16,000 กิโลกรัม ทีเดียว ถ้าเราไปซื้อปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก ไม่รู้จะต้องใช้เงินสักเท่าไร ไม่อยากคิด

พืชผักที่ได้จากไร่ทนเหนื่อย ซึ่งมี บร็อกโคลี่ บีทรูท ในหน้าหนาว และผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง กะหล่ำปลี ผักบุ้ง ไชเท้า หัวหอม กระเทียม ต้นหอม ต้นกระเทียม ผักชี มะเขือเทศ ฟักแฟง แตงกวา และผักอีกสารพัดชนิด ได้รับมาตรฐานการรับรองของออร์แกนิกไทยแลนด์ และมาตราฐาน IFOM ในระดับสากล ทำให้ผักส่วนหนึ่งของไร่ทนเหนื่อยถูกส่งไปจำหน่ายที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งห้ามใช้ปุ๋ยมูลสัตว์เด็ดขาด ยกเว้นปุ๋ยจากมูลวัวเดินทุ่ง

บร็อคโคลี่

นอกจากผักส่วนหนึ่งที่ส่งไปต่างประเทศแล้ว จะมีพ่อค้ามารับผักเพื่อแพ็กส่งห้างดังๆ ในกรุงเทพฯ หลายแห่ง แต่ความคิดของอาจารย์สมหมายต้องการให้คนในประเทศไทยบริโภคของดีๆ มากกว่า โดยเฉพาะคนในจังหวัดลพบุรี

เกษตรธรรมชาติเป็นแนวทางที่เป็นความฝันของนักเกษตรอินทรีย์ทุกคน แต่กว่าจะฝ่าฟันไปได้ค่อนข้างยากลำบากกว่าเกษตรเคมีหลายเท่านัก ลำพังไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ใช้แต่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ผลผลิตก็ไม่เข้าเป้าแล้ว แต่นี้ไม่ใช้ปุ๋ยเลย ทำได้อย่างไร แค่คิดก็เป็นไปไม่ได้แล้ว ถ้าไม่เห็นกับตาเป็นต้องไม่เชื่อเด็ดขาด