การเกษตรแม่นยำสูง ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ แนวโน้มการทำเกษตรในยุคดิจิทัล

การเกษตรแม่นยำสูง เป็นลักษณะการทำเกษตรรูปแบบใหม่ที่แพร่หลายในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แต่ในเมืองไทยยังมีความรู้ ความเข้าใจ เรื่องนี้ในวงจำกัด ผู้เขียนเห็นว่าหากมีการเผยแพร่ข้อมูลและนำมาปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องเกษตรกร ทำให้เกิดการผสมผสานองค์ความรู้ของเกษตรกรไทยเข้ากับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้นและราคาไม่แพง เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบเกษตรกรรม จากเดิมที่เคยต้องเหนื่อยยากอาบเหงื่อต่างน้ำ ผลผลิตไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ เป็นการทำเกษตรกรรมแบบรู้เขารู้เรา เปิดโอกาสให้เกษตรกรประสบความสำเร็จมากขึ้น สามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้ มีสุขภาพแข็งแรง ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด

การเกษตรแม่นยำสูง หรือ Precision Agriculture คือการนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานเกษตรกรรม และนำข้อมูลที่ได้รับนั้น มาบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกหรือปศุสัตว์อย่างเหมาะสม

เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง, Big Data ข้อมูลจำนวนมหาศาล, Machine Learning การเรียนรู้ของเครื่อง, Artificial Intelligence (AI) ปัญญาประดิษฐ์ คำศัพท์ต่างๆ เหล่านี้ อาจจะเคยผ่านหูผ่านตามาแล้วบ้าง

แต่สำหรับคนที่อยู่นอกวงการเทคโนโลยีสารสนเทศยากจะเข้าใจ ทำให้ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องเหล่านี้ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัวไปแล้ว ลองอธิบายให้เห็นภาพ IoT ก็คือ การติดต่อสื่อสารกับอุปกรณ์ต่างๆ ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือติดต่อกับอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อเปิด-ปิด เป็นต้น

และจากการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ทั้งคู่ เมื่อนำข้อมูลจำนวนมหาศาล (Big Data) ที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์แยกแยะโดยคอมพิวเตอร์ที่สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็ว ทำให้อุปกรณ์บางอย่างสามารถจดจำรูปแบบการทำงานซ้ำๆ เกิดการเรียนรู้รูปแบบจากข้อมูล (Machine Learning) เหล่านั้น พัฒนาเป็นการตอบสนองผู้ใช้งาน (AI) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจุบัน มีลักษณะการทำการเกษตรแม่นยำสูงบ้างแล้ว ตัวอย่างการใช้เครื่องมือและข้อมูลมาช่วยการวางแผนและพัฒนาการเพาะปลูก

“กดดูรู้ดิน” แอปพลิเคชั่นจากกรมพัฒนาที่ดิน จะให้ข้อมูล เช่น กลุ่มชุดดิน การใช้ประโยชน์ที่ดิน แนวทางการจัดการดิน ปัญหาของดิน และพืชที่เหมาะสมต่อการเพาะปลูก เมื่อมีการใช้งาน  ระบบจะแสดงแผนที่ดิน สามารถกำหนดตำแหน่งปัจจุบันที่ใช้งาน หรือเลื่อนไปตำแหน่งที่สนใจ เพื่อดูข้อมูลต่างๆ นอกจากนี้ ผู้ใช้งานยังสามารถเลือกเปลี่ยนเป็นภาพแผนที่จากดาวเทียมได้อีกด้วย

ผู้เขียนคิดว่าแอปพลิเคชั่นดังกล่าว จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในการวางแผนและเลือกวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อพื้นที่ สามารถช่วยลดข้อผิดพลาด และคาดการณ์ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นได้

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ โครงการจัดรูปที่ดินบ้านหัวเขา 1-2 ตำบลหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นงานทดลองการเกษตรแม่นยำสูงกว่า 100 ไร่ มีการใช้อุปกรณ์เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวแทนการหว่านแบบเดิม จะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวเพียงไร่ละ 7-15 กิโลกรัม จากที่ต้องใช้มากถึง 25-30 กิโลกรัม/ไร่ และยังปลอดภัยจากการจิกกินและสูญเสียเมล็ดพันธุ์ข้าว ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง หากนำมาใช้ร่วมกับแอปพลิเคชั่นกดดูรู้ดิน ก็สามารถวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ให้รู้ว่าดินแต่ละจุดมีหรือขาดธาตุอาหารสำคัญสำหรับข้าวหรือไม่ ทำให้การให้ปุ๋ยถูกต้องตามความต้องการ ไม่สิ้นเปลือง จะยิ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอย่างเห็นได้ชัด

ปกติชาวนาส่วนใหญ่จะให้น้ำมาก เป็นสาเหตุต้นข้าวไม่ยอมแตกกอ แต่ถ้ามีการศึกษาพฤติกรรมของต้นข้าว โดยการงดให้น้ำ ก็จะเป็นกระบวนการแกล้งข้าว ทำให้ต้นข้าวแตกกอและแตกรวงได้ สำหรับการเก็บเกี่ยวควรหาจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพ เพราะถ้าเก็บเกี่ยวเร็วเกินไป จะทำให้ข้าวมีความชื้นสูง แต่หากเก็บเกี่ยวช้าเกินไปก็จะทำให้ข้าวแห้งกรอบ ไม่ว่าจะเป็นกรณีใดก็ทำให้ได้ราคาข้าวไม่ดี

การใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์วัดข้อมูลต่างๆ ปัจจุบัน ราคาลดลงอยู่ในเกณฑ์ที่เกษตรกรสามารถหาซื้อได้ เช่น เซ็นเซอร์ตรวจอากาศ (Weather Station) เซ็นเซอร์วัดดิน (Soil Sensor) เซ็นเซอร์ตรวจโรคพืช (Plant Disease Sensor) เซ็นเซอร์ตรวจวัดผลผลิต (Yield Monitoring Sensor) เซ็นเซอร์เคมี (Chemical Sensor) เป็นต้น เซ็นเซอร์เหล่านี้สามารถนำไปวางเป็นระบบเครือข่ายไร้สาย (Wireless Sensor Network) โดยนำไปติดตั้งหรือปล่อยในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ จากนั้นก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์แยกแยะ เพื่อหาแนวทางดูแลผลผลิตที่เหมาะสม

ผู้เขียนเข้าใจดีว่า การริเริ่มทำสิ่งแปลกใหม่เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา เป็นนิมิตหมายดีที่เกษตรกรรุ่นใหม่มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติ กล้าที่จะแตกต่าง โดยตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะสร้างผลผลิตที่ดีกว่าเดิมได้อย่างไร เป็นผู้มีความใฝ่รู้ ทดลองนำเทคโนโลยีมาใช้งาน ศึกษาข้อมูลอย่างเป็นระบบ ช่วยยกระดับผลผลิตให้มีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถขายได้ราคาเพิ่มขึ้น มีความเป็นอยู่ดี ก้าวสู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่ “ทำน้อยได้มาก” ดังนั้น การเกษตรแม่นยำสูง จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่รัฐควรส่งเสริม เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างแพร่หลายต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

  1. กดดูรู้ดิน แอปส่งเสริมเกษตร 4.0 จากกรมพัฒนาที่ดิน. พฤษภาคม 2562.
  2. การเกษตรแบบแม่นยำสูง นวัตกรรมใหม่ในพื้นที่จัดรูปที่ดินสุพรรณบุรี. สิงหาคม 2561.
  3. ธีรพงค์ มังคละวัฒน์. การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการจัดการฟาร์ม. Journal of Agricultural Extension and Communication Vol.7 No.2 (2011) 102-109.
  4. ลักษณะของไทยแลนด์ 4.0