กอ.รมน.จับมือ วช. มุ่งถ่ายทอด 7 นวัตกรรมงานวิจัยเด่นสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาอาชีพ-เพิ่มรายได้อย่างยั่งยืน

กอ.รมน. จับมือ วช.เซ็นเอ็มโอยูเพื่อร่วมกันใช้ประโยชน์นวัตกรรมงานวิจัย  ไปขยายผล พัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมชุมชนทั่วประเทศ ให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2562 กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อร่วมพลังพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งตามนโยบายรัฐบาลและยุทธศาสตร์ชาติ

ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ กอ.รมน. และ วช. มีเป้าหมายร่วมกันที่จะบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่นำองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปขยายผล ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และชุมชน เพื่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหา พัฒนาอาชีพ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เป็นหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีหน้าที่ในการให้ทุนวิจัยและนวัตกรรม การจัดทำฐานข้อมูลและดัชนีด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ การริเริ่ม ขับเคลื่อนและประสานการดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมที่สำคัญของประเทศ การจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย

การส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและนวัตกรรม และการให้รางวัล ประกาศเกียรติคุณหรือยกย่องบุคคล หรือหน่วยงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต และเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ทั้งนี้  กอ.รมน. เป็นหน่วยงานความมั่นคงที่มีภารกิจและหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และดูแลประสานงานในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงเพื่อประโยชน์ของประชาชนและความมั่นคงของรัฐ

ทั้ง กอ.รมน. และ วช. มีแนวคิดร่วมกันที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ประโยชน์องค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ให้ชุมชนเข้มแข็ง และเป็นการสานต่อตามแนวพระราชดำริ ในการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา ร่วมกับองค์ความรู้จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เป็นแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการใช้ประโยชน์องค์ความรู้ จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ : ชุมชนเข้มแข็ง ด้วยวิจัยและนวัตกรรม ในครั้งนี้ โดยผ่านกลไกการดำเนินงานของศูนย์ประสานการปฎิบัติของ กอ.รมน. มีเป้าหมายในการดำเนินงานร่วมกัน 3 ปี

สำหรับการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ พลเอก ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ เลขาธิการกองอำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ศาสตราจารย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ พลโทธเนศ กาลพฤกษ์ รองเลขาธิการ กอ.รมน.พลโทกนก ภู่ม่วง ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 1 กอ.รมน. พลโทกิตติธัช บุพศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 2 กอ.รมน. พลโทอรรถพร เป้าประจักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 3 กอ.รมน. พลโทเรืองสิทธิ์ มิตรภานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. พลโทวาสิฎฐ์ มณีโชติ ผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 กอ.รมน. และดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมลงนามพร้อมกัน  ณ สวนรื่นฤดี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.จักรมาส เลาหวณิช กับโมเดลเครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้งแบบเคลื่อนย้ายได้

สำหรับผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่กอ.รมน. และ วช. จะร่วมกันบูรณาการหน่วยงานในพื้นที่นำองค์ความรู้ไปขยายผลสู่ชุมชนในครั้งนี้ มีจำนวน 7 ประเด็น ได้แก่ 1. เครื่องอบแห้งแบบถังทรงกระบอกหมุนด้วยรังสีอินฟราเรดร่วมกับลมร้อนปล่อยทิ้ง ของ ผศ.ดร.จักรมาส เลาหวณิช สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  โดยนวัตกรรมดังกล่าวใช้ในการอบแห้งวัสดุประเภทเมล็ด เม็ดหรือผง  เช่น ปุ๋ยอัดเม็ด ข้าวเปลือก เป็นต้น  ช่วยประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง เหมาะสำหรับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อม

2.ตู้เพาะเห็ดอัตโนมัติ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ซึ่งเป็นวิธีการเพาะเห็ดในตู้เพาะเห็ดขนาดเล็กช่วยเพิ่มผลผลิตมากกว่าการเพาะเห็ดแบบเดิม ปัจจุบันถูกนำไปใช้แพร่หลายในจังหวัดหนองบัวลำภู สกลนคร อุดรธานี บึงกาฬ มุกดาหาร นครพนมและจังหวัดเลย

3.การพัฒนาเตาเผาถ่านขนาด 200 ลิตรแบบแนวตั้งด้วยเทคนิคแก๊สซิฟิเคชั่น ของมหาวิทยาลัยนเรศวร นวัตกรรมชิ้นนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของเตา ทำให้ถ่านไม้มีคุณภาพมากขึ้น ช่วยชุมชนลดรายจ่าย เพิ่มรายได้และพึ่งพาตัวเองได้

4.การจัดการความรู้ในการใช้ขยะชีวมวลแบบครบวงจรเพื่อเป็นพลังงานทดแทนสำหรับชุมชนและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่อำเภออมก๋อย จ.เชียงใหม่ ของวิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่  ผลงานนี้ เน้นส่งเสริมการใช้พลังงานชีวมวลในระดับครัวเรือนและวิธีการประยุกต์ใช้ขยะชีวมวลเพื่อเป็นพลังงานทดแทนในชุมชน

5. การจัดการความรู้เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารจัดการเชิงธุรกิจของกลุ่มผู้ผลิตข้าวปิ่นเกษตร ภายใต้โมเดลข้าวกำแพงแสน ของ ดร.สาคร ชินวงค์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ผลงานชิ้นนี้ เน้นการส่งเสริมการรวมเครือข่ายเกษตรกรผู้ผลิตข้าวปิ่นเกษตรอย่างเป็นระบบ ในพื้นที่ 7 จังหวัดในภาคตะวันตก ภาคกลางตอนบนและภาคใต้

6.เครื่องเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกสำหรับกระบวนการผลิตข้าวฮางงอก(เครื่องสปาข้าว) ของผศ.ดร.สุพรรณ ยั่งยืน สาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ผศ.ดร.เชิดพงษ์ เชี่ยวชาญวัฒนา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น นวัตกรรมเครื่องสปาข้าวเป็นการพลิกโฉมข้าวฮางงอกเดิม ช่วยเร่งกระบวนการแช่และเพาะงอกข้าวเปลือกให้งอกได้ภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้ข้าวมีคุณภาพดีขึ้น มีกลิ่นหอม เนื้อสัมผัสนุ่ม เปอร์เซ็นต์ข้าวแตกหักน้อยลง เก็บรักษาคุณภาพข้าวได้นาน ลดต้นทุนแปรผันด้านเวลาและแรงงาน ทำให้ชุมชนสามารถเพิ่มกำลังการผลิตข้าวฮางได้มากขึ้น

7.การขับเคลื่อนผู้ผลิตผลไม้อบแห้งพรีเมี่ยมรายย่อย รักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยองค์ความรู้การใช้พลังงานทางเลือกเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน เป็นผลงานนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่นำผลไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิดเช่น ผลไม้อบแห้ง(กล้วยตาก) ผลไม้ทอด ผลไม้กวน ฯลฯ โดยใช้พลังงานทางเลือก ช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรในสวนไร่นา ทำให้เกิดวิสาหกิจชุมชนและSME ที่ใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์พาลาโบล่าโดม ในจังหวัดนครปฐม สระแก้ว ฉะเชิงเทรา และเพชรบุรี