สะโตย (กระท้อน) หวาน นุ่ม ของ บ้านนาปริก จ.สตูล

มีผู้คนจำนวนไม่มากนัก ที่พอจะรู้ที่มาของชื่อจังหวัดเล็กๆ จังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย ที่ติดชายแดนประเทศมาเลเซีย รอยต่อจังหวัดสงขลา พัทลุง ตรัง จังหวัดที่กล่าวถึงนี้คือ จังหวัดสตูล

คำว่า สตูล เดิมมาจาก คำว่า “สะโตย” แปลว่า “กระท้อน” มาจากภาษามาลายู

บังเหม หรือ คุณอับรอเหม เด็นสำลี

ในอดีตชาวบ้านทั่วไปในจังหวัดสตูลนิยมปลูกต้นกระท้อนพื้นบ้านเกือบทุกครัวเรือน ลูกกระท้อนพื้นบ้านจะมีลูกขนาดเล็ก ประมาณ 10-15 ลูก ต่อกิโลกรัม บางต้นมีรสชาติหวาน บางต้นมีรสชาติเปรี้ยว แล้วแต่สภาพภูมิอากาศและดินตามธรรมชาติ แต่ปัจจุบันค่อนข้างจะหายาก เพราะคนทั่วไปนิยมรับประทานกระท้อนสายพันธุ์ใหม่

สวนกระท้อนของเกษตรกรในยุคปัจจุบันที่ปลูกกันอยู่ เป็นสายพันธุ์ใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นจนสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ โดยเฉพาะช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี เป็นช่วงที่เกษตรกรแถบหมู่บ้านนาปริก หมู่ที่ 9  ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล อยู่ระหว่างการเก็บเกี่ยวผลิตผลเกือบทุกชนิด ถ้าปีไหนผลไม้ราคาดีก็จะเห็นเจ้าของสวนใส่ทองเส้นโตกันเลยทีเดียว

เนื้อกระท้อน หนา นุ่ม หวาน

เราได้มีโอกาสมาเยี่ยมสวนกระท้อนของ บังเหม หรือ คุณอับรอเหม เด็นสำลี ที่บ้านเลขที่ 15 บ้านนาปริก หมู่ที่ 9 ตำบลควนโดน อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล บนเนื้อที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 26 ต้น และในขณะที่นั่งคุย ก็มีลูกค้าหลั่งไหลมาขอซื้อกระท้อนจากสวนไปรับประทานและเป็นของฝากอย่างต่อเนื่อง หลายคนบอกว่า กระท้อนสวนบังเหมจุดเด่นคือ เนื้อหวาน อร่อย เปลือกหนานุ่ม จึงเป็นที่ชื่นชอบของลูกค้า

บังเหม เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า“แรกเริ่มได้รับการสนับสนุนพันธุ์ต้นกระท้อน จากหน่วยงานตามโครงการเปลี่ยนพื้นที่ทำนาที่ได้ผลไม่สมบูรณ์มาเป็นสวนผลไม้ เมื่อปี 2540 และได้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาเพิ่ม จำนวน 40,000 บาท เพื่อมาปรับพื้นที่ยกคูและขุดร่องน้ำ”

ภรรยาบังเหมชั่งกระท้อนขายในสวนให้กับลูกค้าที่รอซื้อ

 

“ในหมู่บ้านนี้มีสมาชิกร่วมโครงการ จำนวน 3 แปลง เนื้อที่รวมทั้งหมด ประมาณ 9 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่บอกว่ากระท้อนที่ปลูกคือ พันธุ์ปุยฝ้าย ระยะปลูก 9 เมตร ระหว่างคู 10 เมตร พอปลูกไปเมื่อได้รับผลจริงๆ กลายเป็นสายพันธุ์อีหล้า”

“ในยุคนั้น พันธุ์อีหล้า ยังไม่ดังมาก และยังไม่เป็นที่นิยมของผู้บริโภค พันธุ์ปุยฝ้ายจะได้ราคาดีกว่า เลยถอดใจโค่นทั้งหมดเหลือแต่ตอ”

กระท้อนสายพันธุ์อีหล้าบนตาชั่ง

บังเหม เล่าถึงจุดพลิกผันที่ต้องกลับมาดูแลสวนกระท้อนใหม่อีกครั้งว่า

“ครั้งที่นำกระท้อนไปขายในตลาด และได้รับคำแนะนำจากพ่อค้าว่า พันธุ์อีหล้า จะออกผลหลังพันธุ์ปุยฝ้าย 1เดือน เราจะได้ผลผลิตต่อเนื่อง จึงตัดสินใจตัดแต่งกิ่งและกลับมาบำรุงดูแลสวนกระท้อนที่เหลือแต่ตอ ให้ฟื้นกลับใหม่อีกครั้ง ด้วยน้ำที่อุดมณ์สมบูรณ์และดินที่เหมาะสม 4 ปีต่อมาจึงได้รับผล”

บังเหม เล่าให้ฟังถึงวิธีการดูแลรักษาว่า

“ดูแลรักษาแบบธรรมชาติ น้ำไม่เคยรด เพราะน้ำในชุมชนอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว รอให้กระท้อนออกดอกในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี เมื่อเป็นผลเล็กๆ ก็ห่อเพื่อป้องกันแมลง ถ้าห่อกับกระดาษ ผลกระท้อนจะสีสวย แต่ข้อจำกัดคือใช้เวลามาก ถ้าใช้ถุงสีผิวของกระท้อนจะออกเขียวๆ แดงๆ จะไม่สวย ทดลองใช้ถุงสีขาว น้ำจะขังอยู่ในผลของกระท้อน จะทำให้ลูกกระท้อนหล่น สุดท้าย จึงมาใช้ถุงสีดำเจาะให้เป็นรูด้านล่างเพื่อระบายน้ำ และมัดเชือกให้สีแตกต่างกันในแต่ละรุ่น เพื่อง่ายต่อการคัดแยกตอนเก็บเกี่ยวเป็นรุ่นๆ ไป”

ลักษณะการห่อกระท้อนสวนบังเหม

“เทคนิคการห่อ แต่ละช่อจะมีลูกประมาณ 10 ลูก การห่อรวมหลายลูก ทำให้ลูกจะไม่ใหญ่มาก เก็บไว้สักลูกสองลูกเพื่อให้กระท้อนที่เหลือได้เจริญและโตเต็มที่ ถ้ากิ่งห้อยเก็บไว้สัก 3 ลูก แต่ปกติจะไว้กิ่งละ 1 ลูก ทำให้ลูกสวยและใหญ่”

ปีนี้ บังเหม เริ่มห่อเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ชุดแรกผูกด้วยสีแดง ประมาณ 300 ลูก ดอกดก แต่มาเจอฝนหนัก ดอกร่วงไปเยอะ ชุดนี้เขามาเก็บเกี่ยวในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม บังเหม เล่าให้ฟังต่อด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า

“1 ปี ใช้เวลาอยู่กับสวนกระท้อนตั้งแต่ออกดอกจนกระทั่งห่อ ใช้เวลาห่อประมาณ 2 เดือน ดูแลจนกว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จ ก็ประมาณ 6 เดือน เวลาที่เหลือเอาไปดูแลสวนผสมผสาน สวนยาง สวนลองกอง จำปาดะ ทุเรียน  มะนาว เพื่อเสริมสร้างรายได้อีกทาง”

แม่บ้านถือกระท้อน

จากนั้นเขาเปรียบเทียบ กระท้อน ทั้งสองสายพันธุ์ให้ฟังเพิ่มเติมว่า

“กระท้อนสายพันธุ์ปุยฝ้ายลูกจะเล็กกว่า น้ำหนักสูงสุด 8 กรัม รสชาติหวาน กว่าจะออกดอกและสุกเร็วกว่าสายพันธุ์อีหล้า 1 เดือน สายพันธุ์อีหล้า น้ำหนักสูงสุด 1.8 กิโลกรัม น้ำหนักจะดี เพราะมีเปลือกหนา รสชาติหวานอมเปรี้ยว แต่ต้องรอให้กระท้อนสุกจริงๆ ค่อยเก็บเกี่ยว ทำให้กระท้อนมีรสชาติที่อร่อย”

 

การปลูกกระท้อน ต้องใช้เทคนิค แม้ว่าจะเป็นผลไม้ที่ปลูกไม่ยากก็ตาม

“กระท้อน ปลูกที่ใหนก็ขึ้น ดูแลรักษาง่าย ปรับการดูแลตามสภาพภูมิอากาศ กระท้อนมักจะชอบดินทราย เปรี้ยว ไม่แน่น น้ำแห้งเร็วไม่เก็บน้ำ พอดินแห้งจะทำให้กระท้อนหวาน ถ้าดินสมบูรณ์มากเกินไปจะคุมต้นไม่อยู่ ต้นจะสูงเกินไป เพราะสิ่งสำคัญอยู่ที่การห่อ ถ้ามีความสามารถในการห่อและมีเวลาดูแล ก็จะสามารถปลูกและสร้างรายได้ให้เจ้าของสวนที่ปลูกได้อย่างงาม”

บริเวณสวน

 

 

 

 

 

ในส่วนของการตลาด บังเหม เจ้าของสวนบอกว่า

“ปีแรกๆ ขายกิโลกรัมละ 35 บาท พาไปขายตลาดนัดใกล้บ้าน ขายไม่ดีเลย แต่ช่วงหลังไปขายตลาดกิมหยง ที่หาดใหญ่ ได้กิโลละ 70 บาท มีเท่าไรก็ไม่พอขาย รายได้จากสวนกระท้อน ในเนื้อที่ 1 ไร่ จำนวน  26 ต้น ปีที่แล้วเก็บรุ่นเดียวได้ 2,600 กิโลกรัม ได้เงิน 120,000 บาท”

ปกติ ทุกปีจะออกเดือนธันวาคม แต่บางปีดอกกระท้อนออกตอนเดือนพฤศจิกายน จะได้ผลผลิต 2 รุ่น รุ่นแรกขายได้ 80,000 บาท รุ่นที่ 2 อยู่ อีกประมาณ 500 กิโลกรัม จะมีรายได้ประมาณ 25,000 บาท”

สิ่งแวดล้อมดี ผลไม้ก็ให้ผลดีเลิศด้วย

“เคยมีพ่อค้ามาเหมาแปลง แต่ไม่สามารถขายให้ได้ เพราะจะไม่พอต่อลูกค้าที่มาซื้อเป็นประจำจะไม่ได้รับประทานด้วย ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นข้าราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือคนทั่วไป ที่เคยทานแล้วติดใจในรสชาติกระท้อนจากสวนนี้ มีเจ้าหน้าที่เกษตร เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. สาธารณสุข อนามัย ฯลฯ ซื้อไปรับประทานไปเป็นของฝาก เวลาขายจะขายตามออเดอร์ ลูกค้าจะโทร.มาสั่ง ถุงละ 3-20 กิโลกรัม แม่ค้ารายใหญ่ก็ประมาณ 100 กิโลกรัม แต่ไม่เคยได้ออกไปขายตลาดหรือข้างนอกเลย ลูกค้าก็จะเข้ามาหาซื้อเองจนหมด”

บังเหม ยังมีแผนพัฒนาปรับปรุงในสวนกระท้อนด้วยการเก็บข้อมูล การนับวันห่อ การจำหน่าย และการพัฒนาเทคนิคให้เป็นระบบมากขึ้นในปีต่อไป

ใครที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมชมผลไม้ที่สวนบังเหม บ้านนาปริก จังหวัดสตูล ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม คงได้อิ่มและเอร็ดอร่อยกับผลไม้หลากหลายชนิด ทั้ง กระท้อน เงาะ ลำไย มะนาว ทุเรียน จำปาดะ ขนุน แล้วยังได้ซึมซับบรรยากาศทั้งแหล่งน้ำ ภูเขา และพื้นที่ราบ ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์และเป็นส่วนสำคัญที่เอื้อให้ผลไม้ออกผลผลิตงดงาม โดยเจ้าของสวนไม่ต้องยุ่งยากในการดูแล

หากจะกล่าวว่า การดูแลรักษาธรรมชาติ มีผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของสวนและความยั่งยืนของเกษตรกรในพื้นที่นี้ ก็ไม่น่าจะผิด

……………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันศุกร์ที่ 3 มกราคม พ.ศ.2563