กลุ่มสมุนไพรนางไพร เกษตรแปลงใหญ่รายได้งาม

วันที่ 30 สิงหาคม 2562 สํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) นําสื่อมวลชนลงพื้นที่ติดตาม ความก้าวหน้าผลการดําเนินการเกษตรแบบแปลงใหญ่ที่อยู่ภายในพื้นที่ ส.ป.ก. จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งประสบความสําเร็จในการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นอย่างดี

จุดเริ่มต้นของกลุ่มเกิดมาจากการรวมตัวของเกษตรกรในพื้นที่ซึ่งแต่เดิมรวมกลุ่มกันในนามกลุ่มแม่บ้านเขานาใน และเริ่มสนใจในประโยชน์จากสมุนไพร จึงรวมกลุ่มกันจดทะเบียนเป็นกลุ่ม OTOP และเปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็นกลุ่มสมุนไพรนางไพร จากนั้นได้จดทะเบียนกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชนลูกประคบสมุนไพร ตั้งเป็นศูนย์ต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ส.ป.ก. ในปี 2552 และก่อตั้งเป็นกลุ่มแปลงใหญ่สมุนไพรเมื่อปี 2559 ซึ่งการผลิตสมุนไพรของกลุ่มนั้นใช้วิธีการปลูกแซมพืชหลักเดิมอย่างยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยเน้นพืชสมุนไพรประเภทหัว ประกอบไปด้วย ขมิ้นชัน ขมิ้นทอง ขมิ้นอ้อย ขมิ้นด้วง ไพลดํา ไพลเหลือง กระชายดํา ว่านชักมดลูก ว่านมหาเมฆ พญาว่าน ว่านนางคํา และตะไคร้ ซึ่งทุกแปลงเป็นพื้นที่ S1

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสํานักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ก่อนที่เกษตรกรจะรวมกลุ่มกันเป็นแปลงใหญ่ ต้นทุนการผลิตในด้านพันธุ์ปลูกสูงถึง 12,000 บาท ต่อไร่ หลังจากรวมกลุ่มกันเป็นเกษตรแปลงใหญ่แล้วสามารถลดรายจ่ายทําให้เหลือต้นทุนการผลิตในด้านพันธุ์เพียง 9,600 บาท ต่อไร่ ลดลงจากเดิมร้อยละ 20 และช่วยเพิ่มปริมาณของผลผลิตให้มากขึ้นอีกด้วย ในปัจจุบันผลผลิตของกลุ่มสมุนไพรนางไพร ได้รับรองมาตรฐานเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GAP: Good Agricultural Practice) จํานวน 74 แปลง คิดเป็นร้อยละ 74 แปลง ซึ่งการได้รับมาตรฐานดังกล่าวทําให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจได้ว่าผลผลิตที่ได้จากแปลงจะมีความสะอาด ปลอดภัย และไร้สารพิษ อีกทั้งยังทําเกษตรแบบผสมผสานเป็นการน้อมนําศาสตร์ของพระราชาตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาปรับใช้ในพื้นที่อีกด้วย

นายวิมล์ อินทปัชฌาย์ ปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลผลิตสมุนไพรจากกลุ่มเกษตรกรแบบสด มีตลาดรองรับผลผลิตในปัจจุบัน 2 แห่งด้วยกันคือ ตลาดโพหวาย อําเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขายได้ 3,000 กิโลกรัม ต่อเดือน ราคาประมาณ 30-35 บาท และตลาดหัวอิฐ อําเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ขายได้ 2,000 กิโลกรัม ต่อเดือน ราคากิโลกรัมละ 30-35 บาทเช่นกัน อีกทั้งยังจัดจําหน่ายตามวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัด และในอนาคตจะมีการขายขมิ้นชันให้กับโรงพยาบาลท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปีละถึง 40 ตัน ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการเจรจาทําข้อตกลง ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการแปรรูปแล้วมีการส่งผลิตภัณฑ์ไปขายตามวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายและสถานที่ต่างๆ อาทิ ครีมนวดคลายเส้น ขายได้ประมาณ 100 ขวด ต่อเดือน ราคา 350 บาท ต่อขวด ซึ่งนําไปฝากขายที่วิสาหกิจชุมชนจังหวัดนราธิวาส ลูกประคบสมุนไพรขายได้ประมาณ 200 ลูก ต่อเดือน ราคา 80 บาท ต่อลูก ซึ่งนําไปขายที่โรงพยาบาลกะเปอร์ จังหวัดระนอง อีกทั้งยังมีตลาดสําหรับผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรทั้งแบบสดและแบบแปรรูปแล้ว ตามงานแสดงสินค้า OTOP ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในและนอกจังหวัด สถานบริการสปา ในอําเภอเกาะสมุย ตามโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัด สํานักงานสาธารณสุขจังหวัด และการจัดจําหน่ายสินค้าออนไลน์ผ่านเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆ

ในอนาคต กลุ่มสมุนไพรนางไพรมีเป้าหมายที่จะยกระดับผลผลิตทุกแปลงให้เข้าสู่มาตรฐานเกษตรเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (GAP) ยกระดับการแปรรูปให้ได้มาตรฐานอาหารและยา (อย.) เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ เพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตด้วยการแปรรูปด้วยการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพร รวมถึงแปรรูปสินค้าให้มีความหลากหลาย เพื่อยกระดับชีวิตของสมาชิกของกลุ่มให้มีความอยู่ดีกินดี และรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาด้านสมุนไพรของท้องถิ่นบนพื้นที่ของ ส.ป.ก. สืบต่อไป