สุดยอด !! นวัตกรรมใหม่ ใช้แป้งมันสำปะหลัง ผลิตช้อน ส้อม และมีด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทดแทนพลาสติก

ปัจจุบันอุปกรณ์พลาสติกบนโต๊ะอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ช้อน ส้อม และมีดพลาสติก กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและใช้กันมากขึ้นทั้งในร้านอาหารจานด่วน ร้านสะดวกซื้อ และซุปเปอร์มาเก็ต รวมทั้ง ในงานพิธีต่าง ๆ อาทิ งานจัดแสดงนิทรรศการ งานประชุมสัมมนา การแสดงคอนเสิร์ต และงานรื่นเริงอื่นๆ เนื่องจากพกพาสะดวก น้ำหนักเบา ไม่ต้องทำความสะอาด สามารถทิ้งได้ทันทีเมื่อใช้งานเสร็จแล้ว อย่างไรก็ตามอุปกรณ์พลาสติกดังกล่าว ส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติกฐานปิโตรเลียมที่ไม่สามารถแตกสลายได้ทางชีวภาพ ส่งผลให้มีปริมาณขยะพลาสติกตกค้างในสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ประกอบกับการขาดแคลนวัตถุดิบปิโตรเลียมก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

รศ.ดร.รังรอง ยกส้าน

รศ.ดร.รังรอง ยกส้าน รศ.ดร.น้ำฝน ลำดับวงศ์ และ ผศ.ดร.อำพร เสน่ห์ ทีมผู้วิจัยจากภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประสบความสำเร็จจาก การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในการผลิต ช้อน ส้อม และมีดพลาสติกจากแป้งมันสำปะหลัง อุปกรณ์พลาสติกบน โต๊ะอาหารสำหรับการใช้งานครั้งเดียวแล้วทิ้ง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากแหล่งวัตถุดิบที่หาใหม่ทดแทนได้เป็น การสร้างนวตกรรมใหม่ของประเทศ  ในการผลิตผลิตวัสดุทดแทนพลาสติกฐานปิโตรเลียม โดยได้รับการสนับสนุน ทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

รศ.ดร.น้ำฝน ลำดับวงศ์
ผศ.ดร.อำพร เสน่ห์

ดังนั้น คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการวิจัยคิดค้นและพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากแหล่งวัตถุดิบที่หาใหม่ทดแทนได้ เพื่อใช้แทนที่หรือทดแทนพลาสติกฐานปิโตรเลียม สำหรับการผลิตอุปกรณ์พลาสติกบนโต๊ะอาหารแบบ ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ได้แก่ ช้อน ส้อม และมีดพลาสติก

รศ.ดร.รังรอง ยกส้าน หัวหน้าทีมผู้วิจัย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์พลาสติกดังกล่าว คณะผู้วิจัยได้ทำการผลิต   จากพลาสติกผสมฐานเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช จำนวน 2 ชนิด คือ พลาสติกผสมเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช/พอลิแลคติกแอซิด และพลาสติกผสมเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช/พอลิพรอพิลีน และนำมาขึ้นรูป เป็น ช้อน ส้อม และมีด ตามที่ต้องการ

หัวหน้าทีมผู้วิจัย กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า คณะผู้วิจัยได้ทดสอบการใช้ช้อน ส้อม และมีดจากพลาสติกผสม     ทั้ง 2 ชนิดแล้ว สามารถตอบโจทย์กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของสังคมได้เป็นอย่างดี จากการแทนที่หรือทดแทนพอลิแลคติกแอซิด และพอลิพรอพิลีน ด้วยเทอร์โมพลาสติกสตาร์ช ในปริมาณที่มากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ ยังสามารถลดการใช้พอลิแลคติกแอซิดซึ่งมีราคาค่อนข้างแพงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และยังลดการใช้พอลิพรอพิลีนซึ่งเป็นพลาสติกฐานปิโตรเลียมที่ไม่สามารถแตกสลายทางชีวภาพได้อีกด้วย

ผู้ประกอบการร้านอาหาร กิจการ ต่าง ๆ และผู้สนใจ ผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยดังกล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ รศ.ดร.รังรอง ยกส้าน ภาควิชาเทคโนโลยีการบรรจุและวัสดุ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โทร. 0-2562-5097