“เฉลิมชัย” ยันไม่ทิ้งชาวสวนยาง  เร่งเสนอครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้

“เฉลิมชัย” ยันไม่ทิ้งชาวสวนยาง  เร่งเสนอครม.อนุมัติโครงการประกันรายได้  ด้านชาวสวนยางยิ้ม  พอใจราคาประกัน 60 บาท  พร้อมขอบคุณรัฐบาลที่รักษาสัญญา 

ภายหลังนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาประกาศเตรียมนำโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1 นำเสนอให้ครม. พิจารณาเร่งด่วน  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวสวนยางและลดผลกระทบให้แก่เกษตรกรที่กำลังประสบปัญหาราคายางพาราตกต่ำ

นายกิตติธัช ณ วาโย  รองผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ  จำกัด ได้แสดงความคิดเห็นต่อนโยบายดังกล่าวว่า  ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิมีสมาชิก 4,000 กว่าคน  ส่วนใหญ่ยึดอาชีพทำสวนยางพาราและธุรกิจหลักของสหกรณ์คือรวบรวมน้ำยางสดแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันโดยรับซื้อยางประมาณ 500กว่าตัน/ปี ปัจจุบันสมาชิกมีความเดือดร้อนจากปัญหายางราคาตกอย่างต่อเนื่อง  เมื่อได้ข่าวว่ารัฐบาลจะเข้ามายื่นมือช่วยด้วยการประกันรายได้ให้เกษตรกรก็พากันดีใจ หากมีการประกันราคายางไม่ว่าชนิดไหนเกิน50บาทขึ้นไปชาวบ้านก็พอใจแล้ว

นายกิตติธัช  กล่าวถึงสถานการณ์ราคายางในขณะนี้ด้วยว่า  ในส่วนของสหกรณ์จะทำการรับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกอยู่ที่ประมาณ 35 – 37 บาทถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ต่ำมาก ส่วนราคาที่รัฐบาลจะประกันให้ทราบว่าอยู่ที่ราคา 50 บาทซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ทำชาวบ้านก็ใจชื้นขึ้น  ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการที่หลายฝ่ายอาจมองว่าให้การช่วยเหลือสั้นเกินไปแต่สำหรับตนมองว่าระยะสั้น-ยาวไม่สำคัญ  มาตรการที่ออกมาเป็นสื่อสัญลักษณ์ให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการรักษาสัญญาที่ได้รับปากกับชาวสวนยางไว้      เมื่อความเดือดร้อนของเกษตรกรคลี่คลายลงก็อยากให้รัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหาในระยะยาว  เพื่อผลักดันเสถียรภาพราคายางให้มั่นคงแบบยั่งยืนขึ้น  โดยเฉพาะการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศจะต้องเดินหน้าควบคู่กันไปด้วย

“ปัจจุบันสหกรณ์ไม่ได้หวังพึ่งภาครัฐแต่เพียงอย่างเดียว    เราต้องพึ่งตนเองด้วย    ด้วยการหันมาเพิ่มมูลค่ายางพาราด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพารา  โดยได้เช่าพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมยางพารา (Rubber City) ในนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ จังหวัดสงขลา  เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก  ปัจจุบันแปรรูปทั้งยางอัดก้อน  ยางอัดก้อน  ​ยางรองส้นเท้าลดแรงกระแทก  รองเท้านักเรียนหญิง และรองเท้าแตะ ตรา GROWY  จากยางกก.ละ 40 บาทเมื่อนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ส้นรองเท้าใช้สามารถขายได้350-400 บาท/คู่  ในขณะที่ใช้น้ำยางเพียง 2 กรัมเท่านั้น  ซึ่งผมคิดว่าหากทุกฝ่ายช่วยกันส่งเสริมการใช้ยางในประเทศด้วยการแปรรูปก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับราคายางได้”  นายกิตติธัช  กล่าว

ด้านนางดวงทิพย์  มะณี  อายุ 53 ปี  เกษตรกรชาวสวนยาง      ตำบลกำแพงเพชร อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา  กล่าวว่า  ที่ผ่านมาเกษตรกรชาวสวนยางมีความเดือดร้อนมากจากราคายางที่ตกฮวบ แถมยังประสบปัญหาน้ำยางให้ผลผลิตต่ำลงเนื่องจากฝนตกทุกวัน  ส่งผลให้เกษตรกรเป็นหนี้สินตามมา    เมื่อทราบว่ารัฐบาลมีนโยบายประกันรายได้ชาวสวนทุกคนก็พากันดีใจ  และเฝ้ารอดูว่ารัฐบาลทำจริงหรือไม่    ส่วนราคาที่ประกันรายได้ที่ประกาศ ในส่วนของยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กก.นั้นถือว่ารับได้และทำให้เกษตรกรชาวสวนยางยิ้มออก  ทุกวันนี้ขายน้ำยางให้กับสหกรณ์การเกษตรรัตภูมิ ในราคา 38 บาท/กก.หรือประมาณ 3กก.100 บาท  วันหนึ่งได้ประมาณ 20 กว่ากก. คิดเป็นรายได้วันละ 700-800บาทเท่านั้นถือว่าไม่คุ้มเพราะต้องแบ่งรายได้กับคนรับจ้างกรีดอีก 50% ของรายได้และขอบคุณรัฐบาลที่รักษาสัญญาในการช่วยเหลือชาวสวนยางในครั้งนี้

ด้านนายนิด  จันทร์พุ่ม    ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรย่านตาขาว จำกัด  อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง  กล่าวว่า    แม้โครงการประกันรายได้ครั้งนี้จะเป็นเพียงโครงการระยะสั้น  แต่ก็ถือว่าช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจชาวสวนยางให้มีกำลังใจขึ้น  ปัจจุบันสหกรณ์มีสมาชิก 5,700 รายรับซื้อสมาชิกอยู่ที่ 37 บาท/กก.ทำให้มีส่วนต่างจากราคาประกันอยู่ 23 บาทซึ่งถือเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกร  ส่วนยางก้อนถ้วยนั้นในพื้นที่จังหวัดตรังไม่ค่อยผลิตอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหาราคาในยางประเภทนี้  เนื่องจากสหกรณ์จะรับซื้อเฉพาะ น้ำยางสด ยางแผ่นดิบ ยางแผ่นดิบรมควันเท่านั้น

“สำหรับราคาประกันยางแผ่นดินที่ราคา 60 บาท/กก.ถือว่าเป็นราคาในเกณฑ์ที่เหมาะสม  เพราะสิ่งที่ชาวสวนยางต้องการในขณะนี้ขอแค่ให้ราคายางในราคาประกันอย่าต่ำกว่า 60 บาทมิฉะนั้นเกษตรกรจะอยู่ลำบาก  อย่างไรก็ตามนอกจากการดูแลเกษตรกรในระยะสั้นๆแล้ว  อยากให้รัฐบาลวางมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคายางในระยาวควบคู่กันด้วย  เช่น  ส่งเสริมให้มีการใช้ยางภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง  การส่งเสริมการนำน้ำยางไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เป็นต้นและพร้อมให้กำลังใจรัฐบาลในการเดินหน้าแก้ปัญหาราคายางในครั้งนี้”นายนิด  กล่าว

ด้านนายสักการะ    เที่ยงพึงธรรม  ผู้จัดการสหกรณ์กองทุนสวนยางจันดี ตำบลจันดี อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช    กล่าวว่า  หากนโยบายดังกล่าวให้การช่วยเหลือทั้งเกษตรกรเจ้าของสวนและคนกรีด  โดยหลักการถือเป็นมาตรการที่ดีแม้จะเป็นมาตรการระยะสั้นก็ตามซึ่งระยะยาวเชื่อมั่นว่ารัฐบาลคงมีมาตรการเพิ่มเติมตามมา

สหกรณ์กองทุนสวนยางจันฯ    ปัจจุบันสหกรณ์รับซื้อน้ำยางสดจากสมาชิกอยู่ที่ 37 บาท/กกในขณะที่รัฐบาลประกันราคาให้ 57 บาทจะทำให้เกษตรมีรายได้เพิ่มจากโครงการ 20บาท/กก. ส่วนราคายางแผ่นดิบรับซื้ออยู่ที่ 39 บาท/กก.เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่ม 21 บาท/กก.

อย่างไรก็ตามเพื่อให้โครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้น  อยากให้กระทรวงเกษตรฯและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประชาสัมพันธ์โครงการโดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับกฏกติกาเงื่อนไขให้เกษตรกรเข้าใจให้มากขึ้น    เพราะขณะนี้ยังมีเกษตรกรจำนวนมากที่ขาดข้อมูลในการเข้าร่วมโครงการ

ในขณะที่นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  กล่าวว่า เพื่อให้มาตรการดังกล่าวเกิดความโปร่งใสและตรวจสอบได้  กระทรวงเกษตรฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมากำกับดูแล 4 คณะคือ  1. คณะกรรมการบริหารโครงการฯ 2. คณะทำงานกำหนดราคากลางอ้างอิง  3.คณะกรรมการบริหารโครงการฯ ระดับจังหวัด และ4.คณะทำงานระดับตำบล

นอกจากนี้ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือยาว    ตนจะเร่งขับเคลื่อนมาตรการด้านอื่นๆคู่ขนานกันไป  อาทิ    การเพิ่มการใช้ยางภายในประเทศ  การลดพื้นที่ปลูกยาง ตลอดจนการสร้างให้ไทยเป็นตลาดกลางยางพาราของโลกเพื่อป้องกันการบิดเบือนราคาจากตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าในต่างประเทศ

สำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางพารา ระยะที่ 1    กระทรวงเกษตรฯ กำหนดระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 – กันยายน 2563  กำหนดราคายางที่ประกันรายได้ ประกอบด้วย  ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาท/กิโลกรัม  น้ำยางสด (DRC 100%) 57.00 บาท/กิโลกรัม  ยางก้อนถ้วย (DRC 100%) 50.00 บาท/กิโลกรัม  โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้เป็นยางแห้ง 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน

โดยครม.ได้อนุมัติจ่ายค่าชดเชยส่วนต่างจากการขายยางเมื่อเทียบกับราคาในโครงการประกันรายได้เป็น 3 กรณี  ดังนี้  รายละไม่เกิน 25 ไร่จะใช้งบประมาณ 26,627,343,816.59 บาท    รายละไม่เกิน 20 ไร่จะใช้งบประมาณ 24,928,133,299.41 บาทและรายละไม่เกิน 15 ไร่จะใช้งบประมาณ 22,280,417,136.65 บาท    ล่าสุดมีเกษตรกรชาวสวนยางที่เข้าร่วมโครงการขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) แล้วเป็นพื้นที่ 17,201,390.77 ไร่ เกษตรกร 1,412,017 รายและคนกรีด 299,235 ราย