วว. เผยความคืบหน้าโครงการไทยคอสเมโทเปีย (Thai Cometopoiea)ร่วมกับ AIST ประเทศญี่ปุ่น…วิเคราะห์ทดสอบเครื่องสำอางมาตรฐานสากลตาม OECD Guideline ทดสอบการแพ้แบบใช้เซลล์เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการ…ดันผู้ประกอบการไทยส่งออกอย่างมั่นใจ

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วย นายสายันต์ ตัน  พานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ต้อนรับ Dr. Yoshihiro Ohmiya, Prime Senior Biomedical Research Institute (BMRI), National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) พร้อมด้วย Dr.Yoshihiro Nakajima Group Leader of Cellular Imaging Research Group, Health Research Institute (HRI) และ Dr.Wataru Kitagawa, Research Scientist of Applied Molecular Microbiology Research Group, Bioproduction Research Institute (BPRI) ร่วมหารืองานวิจัยกับ วว. พร้อมให้การสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการ Thai Cosmetopoiea

ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวชี้แจงและเผยความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการไทยคอสเมโทเปีย (Thai Cometopoiea)…สร้างคุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น ว่า หลังจากที่ วว.เปิดตัวโครงการฯ ร่วมกันกับหน่วยงานพันธมิตร จำนวน 24 หน่วยงาน อย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่าน ขณะนี้ วว. โดยได้เริ่มต้นการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิจัย และ บริษัทเอกชนระดับใหญ่ ได้แก่ บริษัท ควอลิตี้ พลัส บริษัท เอสซีจี และ บริษัท ไลออน เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนโครงการไทยคอสเมโทเปีย ให้บรรลุตามวัตถุประสงค์

“…สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากการพูดคุยกับบริษัทฯ พบว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการให้ วว.ช่วยคือ การพิสูจน์ทราบได้ว่า ผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอาง ที่ผลิตขึ้นมามีความปลอดภัยไม่ทำให้เกิดอาการแพ้กับผู้ใช้ โดยไม่ใช้สัตว์ทดลอง ซึ่งเป็นความต้องการของหลายๆ บริษัทฯ ที่ต้องการจะส่งผลิตภัณฑ์ฯ ไปยังประเทศในแถบยุโรป ที่มีการต่อต้านเรื่องการทดลองในสัตว์ จากประเด็นดังกล่าว วว. ได้มีความร่วมมือกับ The National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) ประเทศญี่ปุ่น ในด้านการทดสอบและประเมินความปลอดภัย เพื่อที่จะเติมเต็มในการทำงานของโครงการ Thai cometopoiea ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมินการแพ้ของสารในเครื่องสำอาง ตามมาตรฐาน OECD Guideline ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการทดสอบจะได้รับความมั่นใจว่า ไม่ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการแพ้ ดังนั้นโครงการ Thai Cosmetopiea จึงเป็นโครงการที่ได้รับความสนใจ ลักษณะโครงการแบบนี้จะช่วยให้เกิดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นพืชอัตลักษณ์ประจำถิ่น และเกิดการคืนกำไรสู่สังคมได้อย่างสมบูรณ์แบบ…”    ผู้ว่าการ วว. กล่าว

Dr. Yoshihiro Ohmiya, Prime Senior Biomedical Research Institute (BMRI), National Institute of Advanced Industrial Science and Technology (AIST) กล่าวว่า ในการนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไปสู่ในระดับเชิงการค้า ปัจจุบัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่นิยมใช้เครื่องสำอางที่ทำจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยเฉพาะในประเทศไทยที่เต็มไปด้วยพืชสมุนไพร แต่ทำอย่างไรที่จะคัดเลือกพืชสมุนไพรที่มีมาตรฐานและตรวจสอบถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ  AIST เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในด้านดังกล่าว AIST มีองค์ความรู้ที่เป็นเฉพาะด้าน โดยเฉพาะด้านระบบการตรวจวิเคราะห์ต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของ วว. ได้เป็นอย่างดี ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ AIST ได้พัฒนาระบบการประเมินความปลอดภัยเข้าสู่มาตรฐาน OECD Guideline และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ วว. ซึ่งจะช่วยให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางใหม่ๆ สนับสนุนให้ผู้ประกอบการส่งออกได้อย่างมั่นใจ

ดร. ธัญชนก เมืองมั่น นักวิจัยอาวุโส ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า วว. ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการฝึกอบรมวิธีการทดสอบและประเมินการแพ้ต่อผิวหนัง (skin sensitization) ด้วยเทคนิค reporter gene ตามมาตรฐาน OECD TG422E (IL-8 Luc assay) จาก AIST เมื่อปี 2561 ซึ่งการทดสอบนี้เป็นการทดสอบที่ไม่ใช้สัตว์ทดลอง แต่เป็นการใช้เทคโนโลยีในการใส่ยีนส์ที่เป็นตัวชี้วัดการแพ้เข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดขาวที่เพาะเลี้ยงและทดสอบในห้องปฏิบัติการทางชีวภาพ ขณะนี้พร้อมเปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่มีความสนใจและต้องการทดสอบสารเคมีหรือสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์ว่าก่อให้เกิดการแพ้ต่อผิวหนังหรือไม่

สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร (02) 577-9091