แปลงใหญ่มะม่วงโชคอนันต์ ต.น้ำชุม อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย ต้นแบบเกษตรแปลงใหญ่ดีเด่นระดับประเทศ ประจำปี 2562

แปลงใหญ่มะม่วงโชคอนันต์ ต.น้ำชุม อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย อีกหนึ่งต้นแบบบริหารจัดการกลุ่มแปลงใหญ่สู่ความเข้มแข็งยั่งยืน ภายใต้การใช้ตลาดนำการผลิตควบคู่ไปกับการใช้นวัตกรรม พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายระดับจังหวัดสู่ความเข้มแข็ง

นายสายชล จันทร์วิไล ประธานแปลงใหญ่มะม่วง ต.น้ำชุม อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย กล่าวว่า ปัจจุบัน กลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงโชคอนันต์มีพื้นที่การปลูกมะม่วง 12,000 ไร่ มีสมาชิก 65 ราย ผลิตมะม่วงภายใต้มาตรฐานสินค้า GAP เน้นผลิตเพื่อแบ่งขายเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1.การขายลูกมะม่วงอ่อน หรือมะม่วงยำ ซึ่งส่งขายทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว พม่า เขมร ประมาณ 60% ของผลผลิตทั้งหมด 2.การขายมะม่วงผลแก่ ประมาณ 20% ของผลผลิตทั้งหมด 3.ส่วนที่เหลือเป็นมะม่วงอุตสาหกรรม ซึ่งจะส่งให้กับโรงงานแปรรูปเป็นมะม่วงอบแห้ง มะม่วงกระป๋อง มะม่วงดอง มะม่วงแช่อิ่ม และข้าวเกรียบมะม่วง และสินค้าแปลงใหญ่อื่น ๆ ของกลุ่มฯ ส่งผลให้กลุ่มมีความเข้มแข็ง และมีตลาดส่งผลผลิตขายอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงมีการรวมกลุ่มกันจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกมะม่วงโชคอนันต์บ้านคลองต่าง สินค้าที่เป็นผลผลิตจากกลุ่มฯ ได้รับการรับรองมาตรฐานอาหารและยา (อย.)

สำหรับการผลิตมะม่วง กลุ่มฯ จะมีปฏิทินการผลิตมีการวางแผนให้ผลผลิตออกขายตลอดทั้งปี โดยเน้นผลิตนอกฤดูเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อลดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและทำให้ราคาตก และทำให้สามารถขายผลผลิตได้ราคาที่ดีกว่าในช่วงฤดูการให้ผลผลิต โดยจะมีขั้นตอนการเพาะปลูกที่ประณีต เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ดินและผสมปุ๋ยและทำฮอร์โมนแคลเซียมโบรอนใช้เอง เน้นลดการใช้สารเคมีให้น้อยลงรวมกลุ่มซื้อปัจจัยการผลิตเพื่อลดต้นทุน และหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ส่วนระยะในการปลูกมีระยะห่าง 2×3 เมตร จะทำให้ได้ต้อมะม่วงประมาณ 250 ต้น/ไร่ ส่วนการดูจะใช้เทคนิคการตัดแต่งกิ่งทรงพุ่มไม่ให้สูงเกิน 2 เมตร ตัดแต่งกิ่งปีละ 2 ครั้ง การทำนอกฤดูจะตัดแต่งกิ่งช่วงปลายเดือน เมษายน ถึง พฤษภาคม และราดสารเคมีเพื่อชะลอพุ่ม ประมาณ 20 วัน เมื่อถึงเวลาดึงช่อ ให้ใช้สารดึงช่อฉีดทุก ๆ 15 วัน ซึ่งมะม่วงจะให้ผลผลิตประมาณเดือนตุลาคม สามารถเก็บขายเป็นมะม่วงนอกฤดูได้ ส่วนวิธีการตัดแก่งกิ่งควบคุมทรงพุ่มก็ช่วยให้เกิดความสะดวกกับการเก็บเกี่ยวผลผลิต ลดความเสียหายของผลผลิต นอกจากนี้ก็ยังมีการยกร่องสูงเพื่อป้องกันน้ำท่วมขัง เนื่องจากมะม่วงโชคอนันต์ไม่ชอบน้ำ จากขั้นตอนการผลิตที่ใส่ใจในทุกรายละเอียดส่งผลให้เกษตรกรสมาชิกสามารถลดต้นทุนการผลิตลดลง ร้อยละ 39.70 จาก 17,785 บาท/ไร่ เป็น 10,724 บาท/ไร่ ในขณะที่ผลผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย ร้อยละ 23 จาก 2,500 กิโลกรัม/ไร่ เป็น 3,075 กิโลกรัม/ไร่

พร้อมกันนั้นก็มีการนำนวัตกรรมเครื่องคัดแยกมะม่วงแก่อ่อนเข้ามาใช้ช่วยในการคัดแยกมะม่วงส่งตลาดอีกด้วย สำหรับการทำตลาดส่วนใหญ่จะเป็นการทำทำสัญญา MOU ร่วมกับบริษัทคู่ค้า ทำให้มีตลาดรับซื้อแน่นอนและมีตลาดหลากหลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตลาดในประเทศ ร้อยละ 38.96% ตลาดต่างประเทศร้อยละ 51.04% ปัจจุบันกลุ่มฯ ได้ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดด้วยการเพิ่มช่องทางการตลาดผ่านระบบ e – commerce และแปรรูปมะม่วงตกเกรดขายผ่านช่องทาง e-market และทางออนไลน์ด้วย โดยมีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาให้การสนับสนุน ให้ความรู้ในการผลิต และเทคนิคกระบวนการต่าง ๆ ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มแปลงใหญ่ปลูกมะม่วงโชคอนันต์ และมีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ใน ต.น้ำชุม อ.ศรีนคร จ.สุโขทัย เชื่อมโยงเครือข่ายผู้ปลูกมะม่วงโชคอนันต์ไปในหลายๆ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ เชียงราย และเชียงใหม่ เป็นต้น