เผยแพร่ |
---|
นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ แก่ผู้ชนะการประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตร โครงการเกษตรเพื่อชีวิต “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน”รุ่นที่ 5 ประจำปี 2562 ณ โรงแรมไมด้า เดอ ซี หัวหิน อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
โครงการเกษตรเพื่อชีวิต “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน” นับเป็นอีกก้าวในการส่งเสริม สนับสนุนเยาวชนไทย ซึ่งถือว่าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ให้มีความรู้ ความสามารถด้านการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้ในการยกระดับการผลิตและตระหนักถึงความสำคัญของภาคการเกษตร รวมถึงเป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานในระบบการเกษตรของประเทศ และเป็นอีกก้าวในการพัฒนาสินค้าเกษตรของไทยสู่มาตรฐานสากล
“อาชีพเกษตรกรรม ถือเป็นกระดูกสันหลังของชาติ แต่ปัจจุบันอาชีพทางการเกษตรกลับถูกมองข้ามโดยบุตรหลานของเกษตรกรหรือเยาวชนรุ่นใหม่ได้ละทิ้งอาชีพดั้งเดิมของครอบครัวไปสู่ภาคอุตสาหกรรม บริการ และอื่นๆ ส่งผลให้เกษตรกรมีอายุเฉลี่ยสูงขึ้นทุกปี ซึ่งในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเพิ่มยิ่งขึ้น ประเทศในฐานะเป็นครัวของโลกที่มีการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อบริโภคภายในประเทศและส่งออก จำเป็นต้องสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ให้อยู่ในภาคการเกษตรต่อไป” นายประภัตร กล่าว
รมช. เกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หวังว่านักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีที่เข้าร่วมโครงการ จะสามารถนำความรู้ ความเข้าใจ ระบบการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและเป็นไปตามมาตรฐาน ไปใช้เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพ รวมทั้งเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนและสังคมได้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานในระบบการเกษตรของประเทศ มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม ช่วยบรรเทาการขาดแคลนบุคลากรภาคการเกษตรในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากรด้านการมาตรฐาน สอดรับนโยบายการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ด้าน ดร.จูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวเสริมว่า โครงการเกษตรเพื่อชีวิต “เกษตรกรรุ่นใหม่ ใส่ใจมาตรฐาน” มกอช. ได้บูรณาการร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมการข้าว กรมประมง กรมปศุสัตว์ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จัดขึ้นเพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านการมาตรฐาน ให้นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างบุคลากรและแรงงานที่มีคุณภาพด้านการเกษตร รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรฯ ได้พัฒนาองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practice : GAP) ในขอบข่ายพืชอาหาร ข้าว ประมง ปศุสัตว์ และเทคโนโลยีการผลิตที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน มีวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี สนใจเข้าร่วมโครงการ จำนวน 18 แห่ง แบ่งเป็นเขตภาคใต้ 8 แห่ง ได้แก่ สงขลา ชุมพร สุาษฎร์ธานี พัทลุง สตูล กระบี่ ตรัง และนครศรีธรรมราช และเขตภาคกลาง 10 แห่ง ได้แก่ ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี สระแก้ว ชลบุรี สุพรรณบุรี และพระนครศรีอยุธยา
ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในโครงการที่ช่วยสร้างเยาวชนในสถาบันอาชีวศึกษา ซึ่งถือว่าเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) ที่จะรับช่วงต่อจากเกษตรกรรุ่นก่อน แต่ด้วยในปัจจุบัน มีการแข่งขันทางการตลาดค่อนข้างสูง การผลิตที่เน้นเฉพาะปริมาณอย่างเดียวอาจไม่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอีกต่อไป แต่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพปลอดภัยและผ่านการรับรองตามมาตรฐาน เป็นสิ่งที่สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและสามารถแข่งขันกับผู้อื่นได้
“การจัดพิธีมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณแก่ผู้ชนะการประกวดฟาร์มมาตรฐานสินค้าเกษตรครั้งนี้ เพื่อเป็นการยกย่องและให้กำลังใจแก่เยาวชนที่มีการนำมาตรฐานสินค้าเกษตรไปใช้ในแปลงของตนเอง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพและความสามารถของคนรุ่นใหม่ที่จะเป็นอนาคตในการพัฒนาประเทศต่อไป”เลขาธิการ มกอช. กล่าว