“เฉลิมชัย” ห่วงเกษตรกร สั่งทุกหน่วยงานหามาตรการฟื้นฟูอาชีพรองรับพื้นที่น้ำลด

“เฉลิมชัย” ห่วงเกษตรกร จี้ทุกหน่วยงานระดมความช่วยเหลือเกษตรกรพื้นที่ประสบภัย พร้อมเตรียมมาตรการฟื้นฟูอาชีพและปัจจัยการผลิตเสริมรายได้ให้ครอบคลุมเกษตรกรที่ประสบภัยระหว่างรอการเพาะปลูกรอบใหม่

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับรายงานจากอธิบดีกรมชลประทานว่า มีจังหวัดที่ประสบอุทกภัยจากพายุโพดุลและคาจิกิรวม 27 จังหวัด ปัจจุบัน (10 ก.ย. 62) ยังมีพื้นที่น้ำท่วม 12 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ สกลนคร นครพนม และศรีสะเกษ ส่วนที่สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้วมี 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน สุโขทัย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา มุกดาหาร สระแก้ว ชุมพร และระนอง จึงสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจความเสียหายของพื้นที่เกษตรทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ และประมงอย่างต่อเนื่อง แล้วรายงานเข้ามายังศูนย์เฝ้าระวังและบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทุกวัน ทั้งนี้ พื้นที่ใดทางจังหวัดประกาศเป็นเขตภัยพิบัติให้เร่งจ่ายค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ พ.ศ. 2562 นอกจากนี้ ให้ประชุมหารือเพื่อกำหนดมาตรการฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงโดยอาจสนับสนุนพันธุ์พืช-พันธุ์สัตว์และปัจจัยการผลิต รวมถึงแนวทางอื่นเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัวระหว่างกลับมาทำการเกษตรรอบใหม่

ด้าย นางกุลฤดี พัฒนะอิ่ม รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของพื้นที่การเกษตรหลังน้ำลดทันที พร้อมแนะนำให้เกษตรกรดูแลข้าวและไม้ผลซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักสำคัญ สำหรับนาข้าวนั้น กรณีที่น้ำท่วมขังไม่นาน น้ำสูงไม่ถึงยอดข้าวและต้นข้าวยังไม่ตาย ให้รีบระบายน้ำออกจากแปลงนาให้เหลือ 5-10 เซนติเมตร จากนั้นให้ฟื้นฟูข้าวหลังจากน้ำลด หาก 3 วันผ่านไป ต้นข้าวในนามีสีเขียวมากขึ้นไม่ต้องใส่ปุ๋ย ดูแลไม่ให้โรคและแมลงรบกวนเท่านั้น แต่หากต้นข้าวมีอาการใบเหลืองให้ใส่ปุ๋ยยูเรียอัตรา 3-5 กิโลกรัม ต่อไร่ สำหรับแปลงนาที่ข้าวออกรวงแล้วให้ระบายน้ำจนแห้งและห้ามใส่ปุ๋ยเพราะจะทำให้ดินร้อนและต้นข้าวจะตาย กรณีที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวระยะสุกเต็มที่เพื่อหนีน้ำให้นำข้าวที่เก็บเกี่ยวไปตากเพื่อลดความชื้นโดยเร็ว สำหรับแปลงที่ต้นข้าวตายโดยสิ้นเชิงให้เกษตรกรติดต่อขอรับการช่วยเหลือที่สำนักงานเกษตรอำเภอตามที่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไว้

ส่วนไม้ผลและไม้ยืนต้นนั้น หลังน้ำท่วมใหม่ๆ ขณะที่ดินยังเปียกอยู่ ห้ามนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่ ห้ามบุคคลและสัตว์เข้าไปเหยียบย่ำบริเวณโคนต้นพืชโดยเด็ดขาดเพราะต้นไม้ที่ถูกน้ำท่วมขัง หากดินอัดแน่นจะเป็นผลเสียต่อการไหลซึมของน้ำ รวมทั้งจะกระทบต่อระบบรากของพืช ทำให้ต้นไม้ทรุดโทรมและอาจตายได้ ดังนั้น เพื่อช่วยให้ต้นพืชตั้งตัวเร็วขึ้นควรมีพ่นปุ๋ยทางใบเพราะในระยะนี้ระบบรากของพืชยังไม่สามารถดูดกินธาตุอาหารพืชจากดินได้ตามปกติ ปุ๋ยทางใบอาจใช้ปุ๋ยน้ำสูตร 12-12-12 หรือ 12-9-6 หรือจะใช้ปุ๋ยเกล็ดสูตร 21-21-21 และ 16-21-27 ละลายน้ำพ่นให้แก่พืช นอกจากนี้ สามารถเตรียมปุ๋ยทางใบที่มีส่วนผสมของน้ำตาลเดกซ์โทรส 600 กรัม ฮิวมิคแอซิด 20 ซีซี ปุ๋ยเกล็ดสูตร 15-30-15 จำนวน 20 กรัม ผสมสารดังกล่าวในน้ำ 20 ลิตร แล้วเติมสารจับใบลงไปเล็กน้อย และอาจใส่สารป้องกันกำจัดโรคและแมลงตามความจำเป็น และพ่นสัก 2-3 ครั้ง สำหรับในพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย เมื่อน้ำลดแล้ว หากต้องการจะปลูกพืชใหม่อาจทำได้ 2 วิธี คือ ปลูกแบบไถพรวนน้อยครั้ง โดยใช้เครื่องมือที่มีน้ำหนักเบาและทำหลังจากที่ดินเริ่มแห้งซึ่งเป็นการกำจัดวัชพืชไปด้วย อีกวิธีคือ ปลูกแบบไม่ไถพรวนซึ่งเหมาะสำหรับพื้นที่ที่ยังเปียกชื้นอยู่

ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า มีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบด้านปศุสัตว์รวม 1,084 หมู่บ้าน 226 ตำบล 72 อำเภอ ใน 17 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร มุกดาหาร อำนาจเจริญ นครพนม มหาสารคาม ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี เกษตรกรที่ประสบภัย 35,446 ราย ซึ่งได้ช่วยเหลือเฉพาะหน้าด้วยการอพยพสัตว์หนีน้ำ 71,261 ตัว รักษาสัตว์ 16,679 ตัว ส่งเสริมและดูแลสุขภาพสัตว์ 5,918 ตัว สนับสนุนพืชอาหารสัตว์ 420,540 กิโลกรัม และถุงยังชีพ 144 ถุง ขณะนี้เร่งสำรวจความเสียหายในพื้นที่ที่น้ำลดแล้วเพื่อช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังต่อไป

ส่วน นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า อุทกภัยที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใน 20 จังหวัดได้รับความเดือดร้อน ได้แก่ เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย พิจิตร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ขอนแก่น นครพนม มหาสารคาม อุดรธานี อุบลราชธานี ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ กระบี่ และตรัง เนื่องจากสัตว์น้ำที่ใกล้จับจำหน่ายได้หลุดลอยไปกับน้ำหลากเกือบทั้งหมด จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า มีพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบ 29,883 ไร่ เกษตรกรเดือดร้อน 25,286 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้เพาะเลี้ยงปลานิลในกระชัง เลี้ยงปลาดุก กบ และกุ้งก้ามกรามในบ่อ มูลค่าความเสียหายกว่า 300 ล้านบาท ขณะนี้ยังให้สำนักงานประมงพื้นที่สำรวจอย่างต่อเนื่องแล้วรายงานมายังกรมทุกวัน จากการสอบถามนั้น เกษตรกรต้องการกลับมาประกอบอาชีพประมงรอบใหม่โดยเร็ว แต่ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านเงินลงทุน จึงต้องการความช่วยเหลือเกี่ยวกับแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะได้นำเสนอผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพิจารณาต่อไป