เกษตรปราจีนฯ จัดงานรณรงค์ฯ ป้องกันการแพร่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง

วันที่ 10 กันยายน 2562 นายยศพนธ์ ทัพพระจันทร์ เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอทุกอำเภอ ร่วมจัดงานรณรงค์เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง ณ บริเวณสำนักงานเทศบาลตำบลสระบัว ตำบลลาดตะเคียน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี โดยได้รับเกียรติจาก นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี พร้อม นายรณรงค์ นครจินดา รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงานรณรงค์ฯ ดังกล่าว

เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า จังหวัดปราจีนบุรี ได้มีการสำรวจพบต้นมันสำปะหลังที่มีอาการใบด่าง ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสใบด่างมันสำปะหลัง เมื่อช่วงปลายปี 2561 ในพื้นที่อำเภอศรีมหาโพธิ ซึ่งโรคดังกล่าวเป็นโรคที่มีความร้ายแรง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตมันสำปะหลังของเกษตรกร และส่งผลให้เกิดความขาดแคลนมันสำปะหลังในประเทศไทย ทั้งนี้ จังหวัดปราจีนบุรีได้ดำเนินการทำลายต้นมันสำปะหลังในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว แต่จากการสำรวจพื้นที่ปลูกมันสำปะหลัง ยังพบการระบาดของโรคดังกล่าวกระจายตัวเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอกบินทร์บุรี อำเภอศรีมโหสถ อำเภอประจันตคาม และอำเภอนาดี เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์แนวทางการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังในจังหวัดปราจีนบุรี จึงได้จัดให้มีงานรณรงค์เพื่อควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง 11 จุด ในพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังในจังหวัดปราจีนบุรี โดยมีรูปแบบเป็นฐานเรียนรู้ ได้แก่ ฐานเรียนรู้เรื่องทำความรู้จักโรคใบด่างมันสำปะหลัง การสำรวจและเฝ้าระวัง การคัดเลือกท่อนพันธุ์ แมลงพาหะ แมลงหวี่ขาว และวิธีการทำลาย พร้อมสาธิต

นายพิบูลย์ หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า โรคใบด่างมันสำปะหลังเป็นโรคที่มีความร้ายแรง อาจก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรผู้ผลิตมันสำปะหลังซึ่งถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดปราจีนบุรี ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐ และผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมมันสำปะหลังในประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการกำหนดแนวทางต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากโรคใบด่างมันสำปะหลัง ในบุคคลที่มีความสำคัญในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ฉะนั้นจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความรับรู้ให้แก่เกษตรกรในการเฝ้าระวังการป้องกันกำจัดตามหลักวิชาการ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำเอาแนวทางที่ได้รับ ไปใช้ปฏิบัติได้จริงและสามารถควบคุม ป้องกันการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังได้ต่อไป ซึ่งการจัดงานรณรงค์ฯ ในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคี ทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมให้ความรู้ทางวิชาการ โดยมีเกษตรกร ผู้นำท้องถิ่น และหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดปราจีนบุรี ร่วมงานกว่า 200 ราย