วิสาหกิจชุมชนไก่งวง นำ “ขน” เหลือทิ้ง มาสร้างมูลค่าเพิ่ม ขายได้ ก.ก. ละ 2,000 บาท

วิสาหกิจชุมชนไก่งวง อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ต่อยอดการเลี้ยงไก่งวงเกือบ 600 ตัว มีการแปรรูปสินค้าทั้งเนื้อไก่งวงจำหน่ายหลากหลายเมนู อีกทั้งนำขนไก่งวงที่ร่วงหล่นอยู่ตามพื้นดิน มาสร้างมูลค่าเพิ่มสามารถขายได้กิโลกรัมละถึง 2,000 บาท นำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์สไตล์ต่างๆ รูปแบบแฮนเมด ทั้งหมวก สายคาดหมวก ขณะที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จากประเทศภูฏานเดินทางมาศึกษาดูงานเทคนิคการเลี้ยงด้วยความสนใจ 

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรี ตั้งอยู่เลขที่ 30 หมู่ 2 ต.ดอนทราย อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี มี นางสาวศรีสุนันท์ เดชบุตร อายุ 40 ปี เป็นประธานกลุ่ม ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 20 ราย ได้เริ่มเลี้ยงไก่งวงสายพันธุ์อเมริกันบอล ลักษณะตัวสีดำใหญ่ สายพันธุ์สมอลไวท์ ลักษณะตัวสีขาว และอีกหลายสายพันธุ์ย่างเข้าสู่ปีที่ 6 แล้วสำหรับการเลี้ยงไก่ของที่นี่เกือบ 600 ตัว มีการนำเนื้อไก่งวงมาแปรรูปทำอาหารหลากหลายที่น่าสนใจ ได้แก่ น้ำพริกไก่งวง ไก่งวงจ้อทอด ลาบไก่งวง ผัดเผ็ดไก่งวง และยังมีไก่งวงอบ มีทั้งขายเป็นตัวเป็นผลิตภัณฑ์ส่งจำหน่ายทั้งในจังหวัดและต่างจังหวัดได้รับความสนใจจากธุรกิจโรงแรม ร้านค้าต่างๆ ทั้งตลาดนัดเกษตรกรของรัฐ รวมทั้งผู้ที่ชื่นชอบเนื้อไก่งวงสั่งซื้ออย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ทำให้ธุรกิจเติบโตมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ทางกลุ่มฯ ยังได้มีแนวคิดนำขนไก่งวงที่ร่วงหล่นตามพื้นดินช่วงเวลาที่ไก่งวงผลัดขนในแต่ละปี มาเพิ่มมูลค่าด้วยการนำมาประดิษฐ์เป็นหมวก ไม้คทาลักษณะเป็นกรงเล็บไก่งวง ซึ่งมีความเชื่อว่าจะมีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อให้ฝนฟ้าตกตามฤดูกาล และผลิตภัณฑ์อื่นๆ สไตล์ที่แปลก เป็นงานแฮนด์เมดที่ตั้งใจทำด้วยใจรักในงานฝีมือ 

นางสาวศรีสุนันท์ เดชบุตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจไก่งวงราชบุรี กล่าวว่า ตอนนี้เลี้ยงไก่งวงอยู่ประมาณ 500-600 ตัว ส่วนขนที่จะนำไปใช้ในการทำหมวก จะใช้ความยาว 10-12 นิ้ว เป็นขนบริเวณปีก แต่ถ้าจะเอาไปทำจำพวกอย่างอื่น เช่น เครื่องประดับ จะใช้ขนาดเล็กลง ไป จะแยกลักษณะขนาดขนสั้น ขนยาว ขนนุ่ม ขนปลายปีก จะขายส่งอยู่กิโลละ 2,000 บาท หรือประมาณเส้นละ 2 บาท

หลังจากแยกขนาดแล้วก็นำไปซักโดยใช้ยาสระผมนำไปปั่นในเครื่องซักผ้าปั่นแห้งก็เสร็จใช้การได้แล้ว เป็นการขายนอกเหนือที่เราขายเนื้อไก่งวงไปแล้ว ยังสามารถนำขนไก่งวงมาสร้างงานสร้างอาชีพต่อได้อีก สามารถให้คนในชุมชนที่เป็นผู้สูงอายุ หรือคนว่างงานมาทำเครื่องประดับ หมวก สายคาดหน้า ได้หลากหลายชิ้นงาน โดยเราจะส่งให้สมาชิกในกลุ่มได้ช่วยกันทำขึ้น จากนั้นก็จะมีเพื่อนรับไปขายต่อให้ลักษณะเป็นเครือข่ายต่อยอดกันไปเรื่อยๆ

ตอนนี้ผลิตภัณฑ์ที่ขายดีมากจะเป็น จ๊อไก่งวง ขายกิโลกรัมละ 300 บาท น้ำพริกเผาไก่งวง ไส้อั่วไก่งวง ถ้าเป็นเนื้อชำแหละหน้าฟาร์ม ขายกิโลกรัมละ 180 บาท ทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้ามาส่งเสริมด้านการแปรรูป ให้คำแนะนำมาตรฐานการเลี้ยง ส่วนสำนักงานเกษตร อ.ปากท่อ ช่วยเรื่องช่องทางการตลาด หาช่องทางการขาย แนะนำการขาย นำไปออกบู๊ธต่างๆ

นายพลชัย เข็มเจริญ หรือ ต๋อง อินเดี้ยน กล่าวว่า เกิดจากวิสาหกิจชุมชนที่นี่ ซึ่งทำตามไก่งวง ทำเนื้อไก่งวงไปแปรรูป หลังจากนั้นเหลือวัตถุดิบถือเป็นสิ่งที่มีค่า ซึ่งมีน้อยกลุ่มมากที่จะนำมาพัฒนาต่อยอดทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้ส่งต่อเป็นธุรกิจขึ้นมาได้ ช่วยเหลือพี่น้องในกลุ่มวิสาหกิจสามารถสร้างงาน ซึ่งไม่เฉพาะในประเทศไทยที่นิยม ต่างประเทศยังคงให้ความสนใจนิยมทำกันมาก ไม่ว่าจะขนจากชิ้นส่วนต่างๆ หลายขนาดที่มีคุณค่า มีความหมาย รูปแบบที่ทำขึ้นมานี้เป็นแบบของอเมริกันพื้นเมืองเป็นรูปแบบของชาวอินเดียนแดงทางโซนของอเมริกา มีวัตถุดิบทั้งขนอ่อน ขนใหญ่ ขนเล็ก เช่น แบบหัววอเวนเนต เป็นหัวนักรบชนเผ่า ซึ่งมีการพัฒนาไปเรื่อยๆ หรืออีกหลายแบบที่สร้างขึ้นเพื่อใส่ในการเฉลิมฉลอง

นอกจากนี้ ยังมี เข็มขัดคาดหมวก เข็มขัดคาดหน้า แนวยิปซี และเครื่องประดับได้อีกหลายอย่าง และที่นี่ยังต่อยอดเชิงด้านการท่องเที่ยวได้ สามารถไปในแนวรูปแบบคาวบอย ยิปซี รูปแบบอินเดี้ยน น่าจะเป็นไปได้ในอนาคต

สำหรับการจำหน่ายมาจากพรีออเดอร์ และงานครอสซูม ไม่ว่าจะเป็นงานแต่ง ถ่ายรูปพรีเวดดิ้งจะนิยมใช้กัน บ่งบอกความรักที่บริสุทธิ์และอมตะ ถูกกำหนดตายตัวโดยธรรมชาติเป็นสินค้าแฮนด์เมด งานทำมือจึงทำให้ดูมีคุณค่าและมีราคา ซึ่งสามารถเก็บขนไก่งวงได้ช่วงปลายฝนต้นหนาวยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนราคามีขายตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่นบาท อย่างหัวที่ใส่ มีราคาตั้งแต่ 5,500 – 25,000 บาท

นายโชคดี ตั้งจิตร เกษตรอำเภอปากท่อ เปิดเผยว่า คณะกรมปศุสัตว์ของราชอาณาจักรภูฏานได้มาขอดูงานด้านการพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ปีกของประเทศไทย ที่วิสาหกิจชุมชนไก่งวงราชบุรี กว่า 10 ราย เป็นกลุ่มฯที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรได้มาตรฐานฟาร์มของปศุสัตว์ มีการจำหน่ายทั่วราชอาณาจักรในขณะนี้ มีการผลิตพันธุ์ไก่งวงโดยการฟักและขยายพันธุ์และจำหน่ายพันธุ์ไก่งวงด้วย

ฟาร์มนี้ยังเป็นฟาร์มที่บุกเบิกเรื่องการเลี้ยงไก่งวงให้กับฟาร์มต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งเรื่องการตลาด การแปรรูป การสร้างงาน สร้างรายได้ด้านการเกษตรและปศุสัตว์ ภายใต้ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตร หรือ ส.ป.ก. อำเภอปากท่อ ทำให้ราชอาณาจักรภูฏานเลือก จ.ราชบุรี เพื่อเดินทางมาศึกษาดูงานเนื่องจากมีจุดเด่นด้านพืช ประมง ปศุสัตว์ มีความเด่นระดับต้นของประเทศ