อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ ติดตามความช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วม

อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่เพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์และ       กลุ่มเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ กำชับสหกรณ์จังหวัดส่งเจ้าหน้าที่บรรเทาความเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง พร้อมดำเนินการตามมาตรการฟื้นฟูอาชีพหลังน้ำลด บรรเทาปัญหาหนี้สินชดเชยดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี พร้อมจัดอบรมซ่อมบำรุงเครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนให้เกษตรกร

ดร.วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ลงพื้นที่จังหวัดกระบี่ เรียกประชุมสหกรณ์จังหวัดภาคใต้  5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ชุมพร ระนอง ประจวบคีรีขันธ์และสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้และผลกระทบความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมาชิกสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ซึ่งในจังหวัดกระบี่พื้นที่ประสบภัยรุนแรงในอำเภอเมืองกระบี่ เขาพนม เหนือคลอง และปลายพระยา มีสมาชิกสหกรณ์ 8 แห่ง ได้รับผลกระทบจำนวน 167 ราย ความเสียหายต่อทรัพย์สินของสมาชิกสหกรณ์ 137 ราย ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่การเกษตรของสมาชิกสหกรณ์ได้รับความเสียหาย เป็นสวนปาล์มน้ำมัน 380.5 ไร่และยางพารา 132 ไร่  รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรและของใช้ในครัวเรือน มูลค่าความเสียหายประมาณ 6,879,320 บาท

นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ระดมความช่วยเหลือจากทุกภาคส่วนเข้าไปบรรเทาความเดือดร้อนให้กับสมาชิกสหกรณ์กลุ่มเกษตรกรและประชาชนที่ประสบภัยใน 14 จังหวัด ทั้งการเปิดรับบริจาคเครื่องอุปโภคบริโภค สิ่งของและเงิน จากหน่วยงานและขบวนการสหกรณ์ในภาคต่าง ๆ เพื่อนำไปจัดซื้อถุงยังชีพแจกจ่ายให้กับชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังได้เตรียมมาตรการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรหลังน้ำลด โดยมุ่งเน้นเรื่องการลดค่าใช้จ่าย           ในครัวเรือน  มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์มาฝึกอบรมซ่อมเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับชาวบ้าน ประสานกับวิทยาลัยเทคนิคประจำจังหวัด ส่งผู้ที่มีความรู้ด้านเครื่องจักรกลและไฟฟ้ามาแนะนำและสอนฝึกปฏิบัติจากของจริง เพื่อนำความรู้กลับไปซ่อมเองได้ โดยจะมีการแนะนำและฝึกสอนซ่อมเครื่องไถเดินตาม เครื่องปั้มน้ำ เครื่องตัดหญ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ส่วนมาตรการระยะยาว จะช่วยเหลือบรรเทาปัญหาหนี้สินให้กับสมาชิกสหกรณ์และจัดหาแหล่งเงินทุน   เพื่อนำมาใช้ในการฟื้นฟูอาชีพการเกษตร  โดยเสนอให้สหกรณ์การเกษตร/กลุ่มเกษตรกร ขยายเวลาชำระหนี้ของสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมออกไปอีก 6 เดือน และรัฐบาลอนุมัติเงินเพื่อชดเชยดอกเบี้ยให้ร้อยละ 3 ต่อปี และจัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ วงเงิน 100 ล้านบาท เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปีให้สหกรณ์กู้ยืมไปฟื้นฟูอาชีพของสมาชิกที่ประสบอุทกภัย สำหรับสหกรณ์ที่กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ไปเป็นทุนในการดำเนินงานตั้งแต่ก่อนเกิดอุทกภัย และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลทำให้ธุรกิจของสหกรณ์หยุดชะงัก  ไม่สามารถชำระหนี้คืนกองทุนฯได้ตามสัญญา สามารถขอขยายเวลาเพื่อผ่อนผันการชำระนี้ออกไประยะหนึ่ง

สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัดกระบี่ ทางสำนักงานสหกรณ์จังหวัดกระบี่ร่วมกับศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสหกรณ์ที่ 20 จัดอบรมสอนอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มพูนรายได้ระยะสั้นให้สมาชิกสหกรณ์ 4 รุ่น จำนวน 120 คน และการฝึกอบรมบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตร 5 รุ่น 125 คน ซึ่งในวันนี้ได้มีการเปิดอบรมบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรให้กับสมาชิกสหกรณ์ทับปริกการเกษตรสหกิจ จำกัด อบรม 30 คน โดยจะใช้เวลาอบรม 2 วัน มีวิทยากรจากคณะครูและนักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ ทั้งสายวิชาอิเล็กทรอนิกส์ ไฟฟ้าและช่างยนต์ จำนวน 15 คนมาให้ความรู้ในหลักสูตรการสอนซ่อมและบำรุงรักษาเครื่องจักรกลการเกษตรขนาดเล็กแก่สมาชิกสหกรณ์ ซึ่งจะเน้นการสอนซ่อมและบำรุงเครื่องตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้แก่ พัดลม หม้อหุงข้าวและรถมอเตอร์ไซด์  ซึ่งเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม เกษตรกรจะนำมาซ่อมและเรียนรู้วิธีการบำรุงรักษาเพื่อให้สามารถใช้งานได้หลังน้ำลด จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและสามารถนำความรู้ไปช่วยซ่อมและแนะนำให้กับสมาชิกสหกรณ์รายอื่นๆ และเพื่อนบ้านในชุมชนของตนเองได้

นอกจากนี้ยังได้จัดสรรเงินกู้กองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อให้สมาชิกกู้ยืมปลอดดอกเบี้ย ระยะเวลา 1 ปี จำนวน  3 สหกรณ์ ได้แก่ สหกรณ์ทับปริกการเกษตรสหกิจ จำกัด สหกรณ์นิคมปากน้ำ จำกัด และสหกรณ์กองทุนสวนยางตำบลหน้าเขา จำกัด วงเงิน 1,000,000 บาท  ส่วนมาตรการชดเชยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี ระยะเวลา 6 เดือน จำนวน 2 สหกรณ์ มีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 189 ราย ซึ่งมีมูลหนี้เงินต้นจำนวน 5,142,759 บาท ดอกเบี้ยที่ต้องชดเชยเป็นเงิน 76,570 บาท ซึ่งทั้งสองมาตรการนี้อยู่ระหว่างการเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ที่ประสบอุทกภัยให้สามารถกลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติโดยเร็ว